จุดไฟในพายุ: สันติภาพชายแดนใต้ภายใต้สถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง
คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ขอเชิญร่วมเสวนาวิชาการ
“จุดไฟในพายุ”:
สันติภาพชายแดนใต้ภายใต้สถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง
วันอังคารที่ 17 ธันวาคม 2556 เวลา 13.00-16.30 น.
ห้องประชุมบุญชู โรจนเสถียร
ชั้น 3 อาคารอเนกประสงค์ 1
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
UPDATE: อ่านรายงานสรุปเนื้อหาจากการเสวนาได้ ที่นี่
ผู้ร่วมเสวนา
ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี
คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
อัศโตรา โต๊ะราแม
อดีตนักข่าว คอลัมนิสต์ และ บรรณาธิการการศาสนาหนังสือพิมพ์ UTUSAN MALAYSIA
รอมฎอน ปันจอร์
ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (Deep South Watch)
อาจารย์ชินทาโร ฮารา
คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
ผศ.ดร.อนุสรณ์ อุณโณ
คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ร่วมเสวนาและดำเนินรายการโดย
ผศ.แพร ศิริศักดิ์ดำเกิง
คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร
แม้เหตุการณ์ความไม่สงบระลอกใหม่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่สามารถยุติได้โดยง่ายหรือว่าอย่างฉับพลันทันใด ทว่าการที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงคือรัฐและผู้เคลื่อนไหวพยายามที่จะอาศัยการพูดคุยเป็นช่องทางในการคลี่คลายปัญหาก็ส่งผลให้เหตุการณ์ความสงบลดลงไม่น้อย เช่น การที่ทั้งสองฝ่ายเห็นร่วมกันที่จะหยุดยิงในช่วงเดือนรอมฎอนที่ผ่านมาส่งผลให้จำนวนเหตุการณ์ความไม่สงบลดลงและมียอดผู้เสียชีวิตน้อยสุดในช่วงเวลาเดียวกันนับตั้งแต่เหตุการณ์ปะทุขึ้นมา แม้ในช่วงหลังของเดือนจำนวนเหตุการณ์จะทวีขึ้นอีกครั้งเพราะความที่ทั้งสองฝ่ายต่างกล่าวหาและไม่เชื่อใจในกันและกัน ฉะนั้น ท่ามกลางเหตุการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นรายวัน การพูดคุยระหว่างผู้มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงสามารถช่วยคลี่คลายปัญหาได้อย่างสำคัญ
อย่างไรก็ดี การพูดคุยสันติภาพระหว่างตัวแทนฝ่ายรัฐไทยกับผู้เคลื่อนไหวถูกจับตาหรือว่าถูกตั้งคำถามตั้งแต่ต้น นับตั้งแต่ในส่วนของผู้เคลื่อนไหวว่าเป็นตัวจริงหรือไม่ สามารถเป็นตัวแทนให้กับผู้เคลื่อนไหวได้มากน้อยเพียงใด เสียงของพวกเขามีน้ำหนักพอให้ผู้เคลื่อนไหวกลุ่มอื่นปฏิบัติตามข้อตกลงการพูดคุยหรือไม่ และจะสามารถดึงผู้เคลื่อนไหวกลุ่มอื่นเข้ามาร่วมในการพูดคุยได้หรือไม่อย่างไร ขณะที่ในส่วนของฝ่ายรัฐไทยถูกตั้งข้อสงสัยในแง่ของความเป็นเอกภาพ เช่น ฝ่ายความมั่นคงเห็นด้วยกับแนวทางการพูดคุยหรือไม่ ทหารจะยึดผลการพูดคุยเป็นแนวทางในการปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่สักเพียงใด ประการสำคัญ การพูดคุยสันติภาพจะสัมฤทธิ์ผลได้ต้องอาศัยความตั้งใจและโดยเฉพาะอย่างยิ่งคือความมีเสถียรภาพของรัฐบาล ซึ่งแม้ที่ผ่านมารัฐบาลจะอาศัยความมีเสียงข้างมากในการริเริ่มผลักดันกระบวนการพูดคุยสันติภาพ แต่เพราะความที่รัฐบาลเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งทางการเมืองระดับชาติ ฉะนั้น เมื่อความขัดแย้งทางการเมืองระดับชาติทวีความแหลมคมขึ้นอีกครั้ง ความระส่ำระสายที่เกิดขึ้นกับรัฐบาลจึงส่งผลกระทบต่อกระบวนการพูดคุยสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่กำลังดำเนินอยู่โดยตรง กำหนดการพูดคุยครั้งต่อไปถูกเลื่อนออกไปและยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าจะเป็นเมื่อใด
ศูนย์ศึกษาสังคมและวัฒนธรรมร่วมสมัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีพันธกิจประการหนึ่งในการร่วมคลี่คลายปัญหาที่สังคมกำลังเผชิญ จึงเห็นสมควรให้มีการจัดเสวนา “จุดไฟในพายุ”: สันติภาพชายแดนใต้ในสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้เกี่ยวข้องกับกระบวนการสร้างสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งในส่วนของตัวแทนฝ่ายรัฐที่ร่วมในการพูดคุย ผู้ปฏิบัติงานสันติภาพในพื้นที่ สื่อท้องถิ่นและข้ามชาติ ประชาชนในพื้นที่ และนักวิชาการที่ศึกษาภาคสนาม ได้ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับกระบวนการสร้างสันติภาพภายใต้สถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองในปัจจุบันว่าประสบสภาวะชะงักงันอย่างไร จะสามารถผลักดันให้กระบวนการสร้างสันติภาพเคลื่อนที่ไปข้างหน้าอย่างมีประสิทธิภาพได้อย่างไร รวมทั้งจะทำให้กระบวนการดังกล่าวเกิดผลในทางปฏิบัติได้อย่างไรโดยเฉพาะในระดับชีวิตประจำวันของผู้คน