บอลไทย-บอลโลก: กีฬา สินค้า วัฒนธรรมประชานิยม
ศูนย์ศึกษาสังคมและวัฒนธรรมร่วมสมัย
คณะสังคมวิทยาเเละมานุษยวิทยา
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ขอเชิญร่วมการเสวนาทางวิชาการ
บอลไทย-บอลโลก:
กีฬา สินค้า วัฒนธรรมประชานิยม
วันศุกร์ที่ 18 กรกฎาาคม 2557 เวลา 13.30-16.30 น.
ณ ห้องบรรยายโครงการปริญญาเอก สาขามานุษยวิทยา
ชั้น 4 อาคารคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
วิทยากร
ชาญ พนารัตน์
นักศึกษาปริญญาเอกสาขาสังคมวิทยา มหาวิทยาลัยซิดนีย์
อาจารย์ณัฐกรณ์ วิทิตานนท์
สำนักวิชานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง
สายชล ปัญญชิต
สถาบันวิจัยพุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
อาจินต์ ทองอยู่คง
นักวิชาการการอิสระ
(อ่านบทความ “เป็นแฟนบอลมันมีอะไรมากกว่าดูบอล”:
ปฏิบัติการสร้างวัฒนธรรมของการมีส่วนร่วมของแฟนสโมสรฟุตบอลไทย
โดย อาจินต์ ทองอยู่คง ได้ ที่นี่)
ร่วมเสวนาและดำเนินรายการโดย
พงศกร สงวนศักดิ์
ศูนย์วิจัยและบริการวิชาการ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
วสันต์ ปัญญาแก้ว
ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
นับจากต้นกำเนิดในฐานะกีฬาพื้นบ้านเมื่อกว่าห้าร้อยปีก่อน ฟุตบอลที่เริ่มพัฒนามาสู่ความเป็นกีฬาสมัยใหม่ในศตวรรษที่ 19 ในฐานะส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์และความเปลี่ยนแปลงทางสังคม-เศรษฐกิจ ถือเป็นปรากฏการณ์วัฒนธรรมที่สะท้อนให้เห็นพัฒนาการของสังคมตะวันตกอันเป็นแหล่งต้นกำเนิด ตั้งแต่การปฏิวัติอุตสาหกรรม อันเป็นจุดเริ่มต้นของระบบการผลิตที่การแบ่งแยกการทำงานออกจากการใช้เวลาว่าง และระบบคิดแบบเป็นเหตุเป็นผล ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นฐานร่วมกับแนวคิด “ความเป็นประชาธิปไตย” ของรัฐสมัยใหม่ การเปลี่ยนผ่านสู่ความเป็นสมัยใหม่ ที่ชนชั้นนำใช้กีฬาเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการทำให้เป็นศิวิไลซ์ (civilizing process) และเป็นจุดเริ่มต้นของการฝึกและแข่งขันฟุตบอลในสถาบันการศึกษาของรัฐ การขยายอำนาจของประเทศเจ้าอาณานิคม ที่ได้นำเอากีฬาฟุตบอลไปยังดินแดนต่างๆ ทั่วโลก พัฒนาการของเศรษฐกิจทุนนิยมเสรี ที่มีส่วนผลักดันให้มีการแบ่งแยกชัดเจนระหว่างนักฟุตบอลอาชีพกับผู้ชมในฐานะมวลชนผู้ชมในฐานะผู้บริโภคสินค้า
จวบจนปัจจุบัน ความนิยมที่มีต่อกีฬาฟุตบอล ได้สะท้อนให้เห็นความเป็นอุตสาหกรรมวัฒนธรรมระดับโลก อันเป็นผลผลิตของการขยายตัวของเศรษฐกิจเสรีนิยม การผลิตและบริโภคในตลาดโลก สื่อสารมวลชน สื่อเครือข่ายทางสังคมออนไลน์ ฯลฯ ขณะเดียวกัน ปรากฏการณ์ความนิยมต่อฟุตบอลก็เชื่อมโยงอย่างมีนัยสำคัญกับสำนึกท้องถิ่นและชาตินิยม ตลอดจนเป็นสนามที่แสดงออกถึงความไม่ลงรอยกันของอุดมการณ์ทางการเมืองและระบบคุณค่าทางสังคมต่างๆ ดังเช่นความย้อนแย้งที่ปรากฏให้เห็นในการแข่งขันฟุตบอลโลกประจำปี ค.ศ.2014 ที่กำลังดำเนินอยู่ที่ประเทศบราซิล ณ ขณะนี้ ซึ่งมีทั้งความพยายามของกลุ่มเคลื่อนไหวที่ต้องการชี้ให้เห็นปัญหาทางสังคมในบราซิลอันสืบเนื่องมาจากการเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก ความพยายามของรัฐบาลบราซิลที่จะป้องกันไม่ให้เกิด “ความวุ่นวาย” และความพยายามขององค์กรที่มีส่วนได้เสียทางธุรกิจมหาศาลจากการแข่งขันฟุตบอลโลกอย่างสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (FIFA) ที่จำกัดให้มหกรรมกีฬาเป็นเพียงพื้นที่ของการแข่งขัน แยกตัวออกจากความขัดแย้งทางสังคม จนนำไปสู่คำถามถึงบทบาทของมหกรรมกีฬาระดับโลกในการสร้างสภาวะ “ปกติ” ที่บดบังและเบี่ยงเบนความสนใจของผู้ชมไปจากปัญหาความขัดแย้งที่ฝังรากลึกในสังคม
สำหรับประเทศไทย นอกจากความนิยมต่อการแข่งขันฟุตบอลระดับนานาชาติแล้ว มูลค่าทางธุรกิจและความนิยมต่อฟุตบอลสโมสรไทยก็เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง นัยสำคัญของฟุตบอลต่อการทำความเข้าใจสังคมวัฒนธรรมไทย ได้กลายเป็นประเด็นที่ท้าทายการศึกษาวิจัยทางสังคมศาสตร์ และเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ได้มีการรวบรวมบทความวิจัยทางด้าน “ฟุตบอลศึกษา” เกี่ยวกับฟุตบอลไทยโดยเฉพาะ จัดพิมพ์เป็นหนังสือ ฟุตบอลไทย ประวัติศาสตร์ อำนาจ การเมือง และความเป็นชาย โดย ศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ในห้วงเวลาที่ผู้ชมชาวไทย ได้รับมอบความสุขจากการรับชมการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2014 ผ่านสถานีโทรทัศน์สาธารณะ จึงเป็นโอกาสอันดีที่ศูนย์ศึกษาสังคมและวัฒนธรรมร่วมสมัย ในฐานะหน่วยงานบริการวิชาการของคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ที่มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาความรู้-ความเข้าใจเกี่ยวกับปรากฏการณ์ทางสังคมวัฒนธรรมที่กำลังได้รับความสนใจในปัจจุบัน จะได้จัดให้มีการเสวนาวิชาการในหัวข้อ “บอลไทย-บอลโลก: กีฬา สินค้า วัฒนธรรมประชานิยม” ทั้งนี้ โดยได้รับความร่วมมือจากคณะบรรณาธิการหนังสือ ฟุตบอลไทย ประวัติศาสตร์ อำนาจ การเมือง และความเป็นชาย ในการรวบรวมผู้เขียนบทความเกือบทั้งหมดของหนังสือดังกล่าว มาร่วมแลกเปลี่ยนความรู้-ความเข้าใจเกี่ยวกับฟุตบอลไทยโดยเชื่อมโยงเปรียบเทียบให้เห็นความคล้ายคลึง แตกต่าง และประสบการณ์ร่วมของผู้คนในระดับท้องถิ่น ต่อกีฬาที่เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมประชานิยมระดับโลกชนิดนี้