อ่านวิพากษ์: มิเชล ฟูโกต์

จัดพิมพ์โดย
สำนักพิมพ์ศยาม ร่วมกับ
คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (2558)

อ่านวิพากษ์ มิเชล ฟูโกต์ เป็นหนังสือรวมบทความจำนวน 6 ชิ้นที่มุ่งเน้นทำความเข้าใจกระแสธารความคิดที่ส่งอิทธิพลต่อผลงานของฟูโกต์ รวมถึงข้อวิพากษ์ที่มีต่อแนวคิดของฟูโกต์ ทั้งในแง่มุมทางประวัติศาสตร์ สังคมวิทยา มานุษยวิทยา ปรัชญาการเมือง และรัฐศาสตร์

บทความแต่ละชิ้นล้วนแต่สะท้อนให้เห็นเฉดทางความคิดของฟูโกต์ หลายชิ้นจัดได้ว่าเป็นผลงาน ‘คลาสสิก’ ของ ‘ครู’ ผู้ทำให้สังคมไทยรู้จักฟูโกต์ อีกหลายชิ้นเป็นผลงานของนักวิชาการรุ่นใหม่ที่เปิดพรมแดนการถกเถียงเกี่ยวกับฟูโกต์ให้กว้างขวางออกไป

  • ฟูโกต์และอนุรักษ์นิยมใหม่
    ธเนศ วงศ์ยานนาวา
  • ฟูโกต์กับปริศนาแห่งองค์อธิปัตย์
    ว่าด้วยอำนาจอธิปไตยสมัยใหม่ในคำสอนของมิเชล ฟูโกต์

    อรรถสิทธิ์ สิทธิดำรง
  • การศึกษาประวัติศาสตร์แบบสาแหรก
    วิธีการศึกษาประวัติศาสตร์ของฟูโกต์

    ธงชัย วินิจจะกูล
  • ฟูโกต์ในการศึกษาหลังการพัฒนา
    สามชาย ศรีสันต์
  • การสลักเรือนร่าง (Crafting Bodies)
    ฟูโกต์กับสังคมวิทยาร่างกาย

    จุฬารัต ผดุงชีวิต
  • เรือนร่างที่ถูกแฝงฝังและเรือนร่างที่ถูกถอดแยก
    วิพากษ์มรดกตกทอดของฟูโกต์ในสังคมวิทยาร่างกาย

    สลิสา ยุกตะนันทน์

สั่งซื้อล่วงหน้าได้ที่ readery






















โครงการผลิตชุดตำรา “อ่านวิพากษ์” ได้รับทุนสนับสนุนกลุ่มวิจัย (research cluster) จากกองทุนสนับสนุนการวิจัยระดับคณะ
คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

บางส่วนจากบทบรรณาธิการ: อ่าน “ตระกูล” ฟูโกต์


การ “อ่าน” ฟูโกต์ไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะ “อ่าน” ฟูโกต์ ในเชิงวิพากษ์อย่างไรยิ่งเป็นสิ่งท้าทายใหญ่ ไม่ใช่เพียงเพราะความคิดของฟูโกต์มีขอบเขตกว้างขวางและมีลักษณะวิพากษ์วิจารณ์อยู่ในตัว หากทว่าปัจจุบันมีงาน “อ่าน” ฟูโกต์ในเชิงวิพากษ์อยู่เป็นจำนวนมาก งานเหล่านี้ครอบคลุมประเด็นที่แตกต่างหลากหลายและมีวิธี “อ่าน” ฟูโกต์ในเชิงวิพากษ์แตกต่างกันออกไป นับประสาอะไรกับบทความจำนวน 6 ชิ้นที่รวมกันอยู่ ณ ที่นี้ที่จะเสนอตัวเป็นการ “อ่าน” ฟูโกต์ในเชิงวิพากษ์อย่างครบถ้วนกระบวนความ ทว่าในทางกลับกัน การ “อ่าน” ฟูโกต์อย่างเชื่องเชื่อก็ไม่ใช่สิ่งพึงประสงค์ เพราะนอกจากจะขัดเจตนารมณ์ของฟูโกต์ที่มุ่งสั่นคลอนหรือรื้อถอนการสถาปนาและการผูกขาดความรู้ทุกประเภทซึ่งไม่น่าจะเว้นแม้กระทั่งความรู้ของเขาเอง ยังเป็นเพราะความงอกเงยทางสติปัญญาจะเกิดขึ้นได้ส่วนหนึ่งก็โดยอาศัยการตั้งคำถามและวิพากษ์วิจารณ์

หนังสือรวมบทความเล่มนี้จึงปวารณาตัวเป็นการ “อ่าน” ฟูโกต์ในเชิงวิพากษ์อีกฉบับ มีความเฉพาะตัวตรงที่ไม่ได้ครอบคลุมเฉพาะแนวคิดสำคัญของฟูโกต์ หากแต่รวมถึงที่มาของแนวคิดดังกล่าวตลอดจนการนำแนวคิดดังกล่าวไปปรับใช้ หรือหากจะกล่าวด้วยภาษามานุษยวิทยาคละกับบางแนวคิดของฟูโกต์ หนังสือรวมบทความเล่มนี้ไม่เพียงแต่ชี้ให้เห็นว่าวงศาคณาญาติหรือบรรพบุรุษของฟูโกต์ประกอบด้วยใครบ้าง หากแต่ ยังชี้ให้เห็นว่าฟูโกต์ได้บุกเบิกแผ้วถางหรือว่าสร้างครอบครัวของเขาขึ้นอย่างไร รวมทั้งทายาทได้สืบทอดมรดกที่ตกทอดมาจากเขาอย่างไร จึงเป็นการ “อ่านวิพากษ์” ฟูโกต์ด้วยสำนวนมานุษยวิทยาที่ว่าด้วย “ตระกูล” ของฟูโกต์มากกว่าจะเป็นฟูโกต์เพียงลำพัง

….

การร้อยเรียงบทความทั้งหกชิ้นเข้าด้วยกันด้วยสำนวนมานุษยวิทยาส่งผลให้หนังสือเล่มนี้เป็นเสมือน “วันรวมญาติ” ของ “ตระกูล” ฟูโกต์ ซึ่งเป็นธรรมดาที่บทสนทนาระหว่างเครือญาติเหล่านี้จะมีทั้งที่เห็นพ้องและเห็นต่างกันในบางประเด็น เช่น อิทธิพลทางความคิด อำนาจอธิปไตย และการแฝงฝังและการถอดแยกเรือนร่าง เป็นต้น เนื่องจากญาติแต่ละคนมีพื้นฐาน การฝึกฝนทางวิชาการ จุดเน้น และมุมมองแตกต่างกัน ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดความสับสนไม่แน่นอนในบางประเด็นในบทสนทนา อย่างไรก็ดี การรวมญาติฟูโกต์ครั้งนี้ไม่ได้มีวัตถุประสงค์หรือพันธกิจที่จะหาข้อยุติให้กับความเห็นต่างในหมู่เครือญาติดังกล่าว ส่วนหนึ่งเป็นเพราะ “เจ้าภาพ” เห็นว่าบทสนทนาที่หลากหลายไม่รู้จบในหมู่เครือญาติฟูโกต์เช่นนี้ เป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้ “ตระกูล” ฟูโกต์ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง มีสีสันและมีชีวิตชีวาอยู่เสมอ การพยายามหาข้อยุติให้กับความเห็นต่างนอกจากอาจจะเป็นไปไม่ได้ในที่นี้ยังจะเป็นการปิดกั้นขัดขวางคุณลักษณะการเติบโตของ “ตระกูล” ฟูโกต์อย่างสำคัญ ฉะนั้น สุดท้าย “เจ้าภาพ” จึงอยากเชิญชวน “แขกเหรื่อ” ทุกท่านร่วมกันเฉลิมฉลองและแสวงหาความสำราญกับความหลากหลายในความคิดของเครือญาติฟูโกต์ในโอกาสนี้ไปพร้อมกัน

อนุสรณ์ อุณโณ
คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


อ่านบทบรรณาธิการฉบับเต็มได้ที่นี่