ICONSIAM Heritage Museum: ทางเลือกใหม่ของพิพิธภัณฑ์และมรดกวัฒนธรรมแห่งชาติ?
ลงทะเบียนออนไลน์ https://goo.gl/hTbVhJ
ฝ่ายบริการวิชาการ คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
ขอเชิญร่วมเสวนาวิชาการ
ICONSIAM Heritage Museum
ทางเลือกใหม่ของพิพิธภัณฑ์และมรดกวัฒนธรรมแห่งชาติ?
วันศุกร์ที่ 5 สิงหาคม 2559
เวลา 09.30 – 16.30 น.
ณ ห้องประกอบ หุตะสิงห์ อาคารอเนกประสงค์ 1
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
09.30-10.00 น.
ลงทะเบียน
10.00-12.00 น.
บรรยายพิเศษ
กฎหมายและบทบาทรัฐว่าด้วยมรดกวัฒนธรรมแห่งชาติ
ผศ.ดร.เทียมสูรย์ สิริศรีศักดิ์
สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล
บรรยายพิเศษ
ส่องโลกพิพิธภัณฑ์
ชีวสิทธิ์ บุณยเกียรติ
นักวิชาการอิสระ ด้านพิพิธภัณฑ์ศึกษา
12.00-13.00 น. รับประทานอาหารกลางวัน
13.00-16.30 น.
เสวนาวิชาการ
“ICONSIAM Heritage Museum
ทางเลือกใหม่ของพิพิธภัณฑ์และมรดกวัฒนธรรมแห่งชาติ?”
- อาจารย์ปฐมฤกษ์ เกตุทัต
อดีตอาจารย์ประจำ คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ - คุณสมลักษณ์ เจริญพจน์
อดีตรองอธิบดีกรมศิลปากร - ผศ.ดร. บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ
คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย - อาจารย์ ดร. เกรียงไกร เกิดศิริ
คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
ดำเนินการเสวนาโดย
- ผศ. ดร. พจนก กาญจนจันทร
ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์ฯ
คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ปัจจุบันนี้แนวคิดและแนวปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับมรดกวัฒนธรรมได้เปลี่ยนแปลงไปมาก จากเมื่อหลายทศวรรษก่อนที่ให้ความสำคัญกับการสงวนรักษาและการยกย่องเชิดชู จากหลังสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมาที่กระแสการอนุรักษ์วัฒนธรรมได้เกิดขึ้นทั่วโลก ที่ทำให้แนวคิดเรื่อง “การอนุรักษ์” “มรดกวัฒนธรรม” ได้ขยายขอบเขตและความหมายออกไปมากขึ้นกว่าเดิม ที่ “มรดกวัฒนธรรม” มิได้จำกัดอยู่เพียงวัตถุหรือสถานที่เท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึงมรดกวัฒนธรรมเชิงนามธรรม (intangible cultural heritage) หรือวัฒนธรรมด้านภูมิปัญญาด้วย และ “การอนุรักษ์” ก็มิได้จำกัดอยู่เฉพาะการปกป้องคุ้มครองเพื่อให้คงสภาพเดิมเท่านั้น หากแต่เป็นอนุรักษ์เพื่อให้ธำรงอยู่อย่างมีคุณค่าและมีความหมาย ที่สังคมปัจจุบันจะต้องตระหนักและรับรู้ว่า ตนมีบทบาทและหน้าที่ในการสืบทอด และส่งต่อมรดกวัฒนธรรมเหล่านั้นไปยังสังคมในอนาคต
พิพิธภัณฑ์ก็เป็นรูปแบบหนึ่งของการอนุรักษ์มรดกวัฒนธรรมในปัจจุบัน ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการถ่ายทอดความรู้ด้านต่างๆ รวมทั้งด้านประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม เป็นแหล่งอ้างอิงข้อมูลที่สาธารณชนโดยทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ พิพิธภัณฑ์ด้านประวัติศาสตร์-โบราณคดีที่มีขนาดใหญ่นั้น ส่วนมากเป็นการจัดการโดยภาครัฐ เช่นเดียวกับในประเทศไทย ที่มรดกวัฒนธรรมด้านนี้ได้รับการอนุรักษ์และเผยแพร่ความรู้โดยกรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม มีอำนาจและบทบาทหน้าที่ตามกฎหมาย แต่ในขณะเดียวกันก็มีข้อถกเถียงมากมายเกี่ยวกับการอนุรักษ์ ที่ปัจจุบันมีการนำแนวคิดเรื่องการพัฒนาเข้ามาเกี่ยวข้อง อีกทั้งเรื่องสิทธิทางวัฒนธรรมของท้องถิ่น ดังเช่นที่เคยมีกระแสเรียกร้องให้นำโบราณวัตถุชิ้นสำคัญที่อยู่ในความดูแลโดยกรมศิลปากรในส่วนกลาง ให้นำไปจัดแสดงในท้องถิ่น โดยเป็นการเรียกร้องการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น และการเปิดโอกาสให้การมีส่วนร่วมของภาคประชาชนอย่างจริงจัง ซึ่งการเคลื่อนไหวทางสังคมในลักษณะนี้ มีความซับซ้อนมากกว่าที่จะพิจารณาเพียงประเด็นเรื่องการอนุรักษ์มรดกวัฒนธรรม ดังนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องมีการศึกษาวิเคราะห์ในประเด็นข้อถกเถียงนี้ให้เกิดความเข้าใจมากยิ่งขึ้น
การมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในเรื่องการเผยแพร่มรดกวัฒนธรรมไทยที่กำลังเป็นที่สนใจในขณะนี้ ก็คือ โครงการ ICONSIAM Heritage Museum จากข่าวที่นำเสนอโดยสื่อมวลชน ที่มีพิธีลงนามในบันทึกความเข้าใจร่วม (MOU) ระหว่างกระทรวงวัฒนธรรมกับกลุ่มธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์ผู้เป็นเจ้าของโครงการ ICONSIAM ไปเมื่อปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ที่ระบุถึงความร่วมมือจากภาครัฐที่จะให้โครงการเอกชนรายนี้ยืมโบราณวัตถุที่อยู่ในความดูแลของกรมศิลปากร นำไปจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ของโครงการดังกล่าว ที่มีการระบุว่าจะเป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีการดำเนินงานด้วยมาตรฐานระดับโลก ที่จะนำเอาโบราณวัตถุและงานศิลปะชั้นเยี่ยมของประเทศไทยและจากต่างประเทศมาจัดแสดง โดยโครงการดังกล่าวนี้มีจุดมุ่งหมายในการเผยแพร่ศิลปะและวัฒนธรรม ให้กับประชาชนชาวไทยและชาวต่างชาติได้ชื่นชม นอกจากนี้แล้ว ในข่าวประชาสัมพันธ์ยังระบุด้วยว่า ICONSIAM Heritage Museum จะเป็นศูนย์ฝึกอบรมภัณฑารักษ์ให้มีความรู้ที่เป็นมาตรฐานสากลให้กับหน่วยราชการคือกรมศิลปากร อีกทั้งยังจะมีการต่อยอดงานด้านพิพิธภัณฑ์ด้วยการจัดตั้งศูนย์ประมูลโบราณวัตถุภายในโครงการนี้อีกด้วย
ข่าวโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ICONSIAM ที่กำลังจะมีพิพิธภัณฑ์รูปแบบใหม่ดังที่กล่าวมาข้างต้นนี้ ได้ก่อให้เกิดทั้งเสียงที่สนับสนุนและเสียงวิพากษ์วิจารณ์ด้วยแนวคิดที่แตกต่างกันไป เนื่องจากการดำเนินกิจกรรมด้านมรดกวัฒนธรรมในลักษณะนี้ยังไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประเทศไทย ซึ่งอาจจะหมายถึงก้าวใหม่ที่สำคัญในการจัดการมรดกของชาติ ที่จะเป็นการนำทรัพยากรทางวัฒนธรรมมาใช้ให้เกิดประโยชน์ทั้งในทางเศรษฐกิจและสังคม ที่จะก่อให้เกิดการจ้างงานและเกิดความก้าวหน้าของพิพิธภัณฑ์ในประเทศไทย หรือในอีกแง่มุมหนึ่ง โครงการนี้อาจจะนำไปสู่แนวปฏิบัติ ที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบในทางลบที่ไม่อาจประเมินความเสียหายในเชิงเศรษฐกิจได้ เพราะมิใช่เพียงเรื่องความเสี่ยงต่อการเสื่อมสภาพของโบราณวัตถุจากการถูกเคลื่อนย้ายไปมาเท่านั้น แต่ยังมีประเด็นอื่นๆ มากมาย เช่น จริยธรรมทางวิชาการและวิชาชีพ ความเท่าเทียมในการเข้าถึงมรดกวัฒนธรรมของชาติ ฯลฯ ที่ยังต้องมีการขบคิดและใคร่ครวญที่ลึกซึ้งกว่าคำอธิบายเรื่องข้อกฎหมาย และความรอบคอบในเรื่องข้อตกลงในสัญญาในระดับปฏิบัติ ต่อกรณีศึกษา ICONSIAM Heritage Museum