ความขัดแย้งและวัฒนธรรมการลอยนวลพ้นผิด (impunity) ในสังคมไทย
การใช้ความรุนแรงของผู้มีอำนาจและเจ้าหน้าที่รัฐต่อประชาชนโดยไม่ต้องรับผิด (accountability) เป็นปัญหาที่ฝังรากลึกอยู่กับสังคมและการเมืองไทยมายาวนาน ทั้งในกรณีที่เกิดขึ้นรายวันและในเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองครั้งใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516, 6 ตุลาคม 2519, พฤษภาคม 2535, การสลายการชุมนุมช่วงเดือนเมษายนและพฤษภาคม 2553 ตลอดจนการละเมิดสิทธิของประชาชนอย่างกว้างขวางนับแต่การรัฐประหาร 2557 จนกระทั่งปัจจุบัน เหตุการณ์เหล่านี้ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากวัฒนธรรมการลอยนวลพ้นผิด (culture of impunity) ในสังคมไทยที่ส่งผลให้ประชาชนต้องประสบกับความรุนแรงและการละเมิดสิทธิในชีวิตโดยผู้มีอำนาจและเจ้าหน้าที่รัฐมาอย่างต่อเนื่อง
วัฒนธรรมการลอยนวลพ้นผิดก่อตัวขึ้นจากปัจจัยหลายประการ นับตั้งแต่ในส่วนของเครือข่ายกลุ่มอำนาจภายใต้ระบบอุปถัมภ์ทั้งในระดับปัจเจกและสถาบัน ระบบกฎหมาย อุดมการณ์และความเชื่อทางการเมือง ความแตกต่างทางชนชั้น ตลอดจนทัศนคติต่อหลักการสิทธิมนุษยชน ความยุติธรรม และประชาธิปไตย หลอมรวมกันเป็นสาเหตุ เงื่อนไข ปัจจัย ข้ออ้าง และความชอบธรรมให้กับการใช้ความรุนแรงและการละเมิดสิทธิในชีวิตของประชาชนโดยไม่ต้องรับผิด เป็นปัญหาทางการเมืองและวัฒนธรรมที่จำเป็นต้องทำความเข้าใจและแก้ไขอย่างเร่งด่วน
คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาเห็นว่าการที่เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ซึ่งเป็นเหตุการณ์การใช้ความรุนแรงต่อนักศึกษาและประชาชนโดยไม่ต้องรับผิดครั้งสำคัญในสังคมไทยจะครบรอบ 40 ปีในปีนี้ เป็นโอกาสอันดีที่สังคมไทยจะได้วิเคราะห์ปัญหาความขัดแย้ง การใช้ความรุนแรง และวัฒนธรรมการลอยนวลพ้นผิดในสังคมไทยที่เกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง จึงได้ร่วมกับศูนย์ศึกษาการพัฒนาสังคม คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคณะกรรมการจัดงาน 40 ปี 6 ตุลาคม 2519 จัดเสวนาวิชาการหัวข้อ ความขัดแย้งและวัฒนธรรมการลอยนวลพ้นผิดในสังคมไทย เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจในประเด็นปัญหาดังกล่าวให้กับสังคมรวมทั้งแสวงหาแนวทางในการป้องกันและแก้ไขต่อไป
ศูนย์ศึกษาการพัฒนาสังคม คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ
คณะกรรมการจัดงาน 40 ปี 6 ตุลาคม 2519
ขอเชิญร่วมเสวนาวิชาการเนื่องในโอกาสครบรอบ 40 ปี 6 ตุลาคม 2519
ความขัดแย้งและวัฒนธรรมการลอยนวลพ้นผิด (impunity) ในสังคมไทย
วันเสาร์ที่ 8 ตุลาคม 2559 เวลา 9.30 – 15.30 น.
ณ ห้องเอนกประสงค์ริมน้ำ คณะศิลปศาสตร์
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
กำหนดการ
9.30 – 9.40 น.
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อนุสรณ์ อุณโณ คณบดีคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา กล่าวเปิดงาน
9.40 – 9.45 น.
ตัวแทนคณะกรรมการจัดงาน 40 ปี 6 ตุลาคม 2519 กล่าวความเป็นมาในการจัดงาน
9.45 – 12.00 น. การเสวนาช่วงเช้า
- ความขัดแย้งทางชนชั้นกับการเมืองมวลชนรอยัลลิสต์:
ความย้อนแย้งของกระบวนการสร้างประชาธิปไตยกับพระราชอำนาจนำในสังคมไทย
ศาสตราจารย์ ดร.เกษียร เตชะพีระ
คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ - การลดทอนความเป็นมนุษย์ พื้นที่ทางศีลธรรม และความรุนแรง:
จาก “ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป” ถึง “กำจัดเสี้ยนหนามแผ่นดิน”
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ
คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ - การละเมิดแบบเดิมแต่การปิดกั้นแบบใหม่:
รัฐและสิทธิมนุษยชนหลังการสังหารหมู่ 6 ตุลาคม
ดร.ไทเรล ฮาร์เบอร์คอร์น
Department of Political and Social Changes,
the National University of Australia
ดำเนินรายการโดย
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ยุกติ มุกดาวิจิตร
คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
13.00-15.30 น. การเสวนาช่วงบ่าย
- เมื่อความจริงคือจุดเริ่มต้นของความเป็นธรรม:
กรณีศึกษาคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงในบริบทความขัดแย้งชายแดนใต้
รุ่งรวี เฉลิมศรีภิญโญรัช
นักศึกษาปริญญาเอก The National University of Australia - ใบอนุญาตให้ลอยนวลพ้นผิด:
องค์กรอิสระกับการสลายการชุมนุมปี 2553
รองศาสตราจารย์ ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์
คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย - บททดลองเสนอว่าด้วยนิติรัฐแบบไทยๆ กับอภิสิทธิ์ปลอดความผิด (impunity)
และความเข้าใจสิทธิมนุษยชนอย่างผิดเพี้ยนในสังคมไทย
โดย ศาสตราจารย์ ดร.ธงชัย วินิจจะกูล
ภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-เมดิสัน
ดำเนินรายการโดย
ผู้ช่วยศาสตราจารย์เวียงรัฐ เนติโพธิ์
คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย