จากรักโรแมนติกสู่การต่อสู้ทางชนชั้น: อ่าน “ส่งชู้สอนสาว” วรรณกรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ไตดำในเวียดนาม



จากรักโรแมนติกสู่การต่อสู้ทางชนชั้น:
อ่าน “ส่งชู้สอนสาว”
วรรณกรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ไตดำในเวียดนาม

ยุกติ มุกดาวิจิตร

โครงการเอกสารทางวิชาการ
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน)
ชุดชาติพันธุ์วิทยาและชาติพันธุ์วรรณา

ดูรายละเอียดการสั่งซื้อได้ ที่นี่

บางส่วนจากคำนำเสนอ

สั่งเสียสั่งลาในวรรณกรรมไทย
ต้นทางจากขับลำทำขวัญของตระกูลไต-ไท
ยุคดึกดำบรรพ์หลายพันปีมาแล้ว

สุจิตต์ วงษ์เทศ


ส่งชู้สอนสาว หมายถึง สั่งเสียคนรัก หรือสั่งลาคนรัก แต่งเป็นคำคล้องจอง ใช้ขับลำให้คนฟังในงานมีการละเล่นรื่นเริง เป็นวรรณกรรมของชาวไตดำในเวียดนาม ตามคำอธิบายของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

สั่งเสียสั่งลามีเก่าสุดเท่าที่พบขณะนี้อยู่ในพิธีทำขวัญเพื่อเรียกขวัญคนตาย แล้วส่งขวัญคนตาย (ผีขวัญ) ไปสู่โลกหลังความตาย (ซึ่งเชื่อว่าอยู่เมืองฟ้า) ไม่น้อยกว่า 2,500 ปีมาแล้ว

ประเพณีสั่งเสียสั่งลาเมื่อต้องพลัดพรากจากกัน ตกทอดเป็นแบบแผนบทเดินดงในหมอลำและช่างขับของกลุ่มคนลุ่มน้ำโขง ส่วนกลุ่มคนลุ่มน้ำเจ้าพระยาเรียกบทชมดง พบในวรรณกรรมตั้งแต่ยุคต้นอยุธยาสืบมา

ในที่สุดมีพัฒนาการเป็นขนบของวรรณกรรมไทย เรียกต่อมาภายหลังว่านิราศ มีถ้อยคำพรรณนาคร่ำครวญถึงคนรักที่พลัดพรากจากกัน โดยพาดพิงสถานที่ตามเส้นทางผ่านไป ซึ่งกวีจะเดินทางจริงหรือไม่จริงก็ได้ ต้นฉบับเก่าสุดเท่าที่พบขณะนี้ ได้แก่ นิราศหริภุญไชย, กำสรวลสมุทร, ทวาทศมาส

….

คำบอกเล่า

วรรณกรรมเก่าสุดของกลุ่มชนพูดตระกูลภาษาไต-ไท ได้แก่ คำบอกเล่า

ภาษาไต-ไท นอกจากใช้พูดในชีวิตประจำวันแล้ว คนกลุ่มนี้ยังใช้บอกเล่าปากต่อปาก เป็นเรื่องราวความเป็นมาต่างๆ

เรียกในภายหลังต่อมาว่า คำบอกเล่า (ปัจจุบันตรงกับ นิทาน)

คำบอกเล่ายุคแรกๆ ไม่ยืดยาว มักเป็นเรื่องสั้นๆ เกี่ยวกับกำเนิดคนและความเป็นมาของเผ่าพันธุ์กับโคตรตระกูลหมอผีผู้นำ ซึ่งคนทั้งชุมชนเชื่อร่วมกันว่าล้วนเป็นเรื่องจริง และเฮี้ยนหรือศักดิ์สิทธิ์ที่ใครจะละเมิดมิได้ จึงแสดงออกร่วมกันด้วยพิธีกรรม เช่น ทำขวัญ, ขอฝน ฯลฯ

….

2. ทำขวัญ งันเฮือนดี

บทสั่งเสียสั่งลา น่าจะมีต้นทางสายหนึ่งอยู่ที่คำทำขวัญงานศพ แต่ยังไม่พบตัวบทตรงๆ จึงได้แต่คาดเดาจากพิธีกรรมเรียกขวัญส่งขวัญและจากคำบอกเล่าต่างๆ

เมื่อมีคนตาย ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นเพราะขวัญหาย บรรดาญาติพี่น้องเพื่อนบ้านในชุมชนท้องถิ่นต้องร่วมกันมีพิธีทำขวัญ โดยผู้หญิงเป็นหมอขวัญและหมอแคน เรียกสมัยหลังสืบต่อมา ว่า “งันเฮือนดี” มีผู้หญิงเป็นแม่งานทั้งหมด 2 ตอน ดังนี้

ตอนแรก พิธีเรียกขวัญ เพื่อเรียกขวัญคืนร่างให้ฟื้นเป็นปกติ

ตอนหลัง พิธีส่งขวัญ เพื่อส่งขวัญที่เป็นผีขวัญไปสิงสู่อยู่รวมกับผีบรรพชน (ในโลกหลังความตาย)

ทั้งตอนแรกและตอนหลัง ไม่กำหนดจำนวนวันทำขวัญ จึงมักมีหลายวันหลายคืนต่อเนื่องกันตามตกลงในชุมชนหมู่บ้าน

งานศพตามประเพณีลาวในอีสานเรียก “งันเฮือนดี” มีการละเล่นสนุกสนานอย่างยิ่ง เช่น เล่านิทานโดยอ่านจากหนังสือผูกใบลานเป็นทำนอง (เรียก อ่านหนังสือ), เล่นดีดสีตีเป่าร้องรำทำเพลง ขับลำคำกาพย์กลอน กับเล่นว่าเพลงโต้ตอบ ฯลฯ

“งันเฮือนดี” หมายถึง งานฉลองมีสนุกสนานอย่างยิ่งด้วยการละเล่นเป็นมโหสพคบงันอึกทึกครึกโครม (มโหสพคบงัน กลายคำจาก มหรสพ หมายถึง การละเล่นหลายอย่างในงานฉลอง)

งัน หมายถึง งานฉลองสนุกสนานอย่างยิ่ง ไม่ใช่งานอาชีพในชีวิตประจำวัน เช่น หุงข้าว, ทำนาทำไร่ ฯลฯ

เฮือนดี น่าจะกลายจาก เรือนผี หมายถึงเรือนที่มีคนตายเพราะขวัญหาย

[มีรายละเอียดอีกมาก อยู่ในหนังสือ งานศพ ยุคแรกอุษาคเนย์ ของ สุจิตต์ วงษ์เทศ สำนักพิมพ์นาตาแฮก พิมพ์ครั้งแรก กันยายน 2560]

ส่งขวัญขึ้นเมืองฟ้า

หมอขวัญเรียกขวัญ แล้วขวัญไม่คืนร่าง เมื่อนานไปจนแน่ใจว่าขวัญหายถาวรแล้ว ต้องทำพิธีส่งขวัญไปสู่โลกหลังความตาย เพื่อรวมพลังกับผีขวัญบรรพชน ซึ่งไม่มีใครรู้ว่าอยู่ที่ไหน? จึงต้องมีหมานำทาง และต้องไปทางน้ำ

โลกหลังความตาย เชื่อกันในคนหลายกลุ่มว่าอยู่บนฟ้า ดูจากรูปหมาหลายแห่งเขียนไว้ในทิศทางขึ้นลงจากข้างบน

พิธีสู่ขวัญเป็นข้อความบอกทางผีขวัญ ว่าคนตายต้องล่องเรือแพทางน้ำไปเมืองฟ้า มีร่องรอยเหลืออยู่ใน ไต-ไท บางกลุ่มของเวียดนามภาคเหนือ

เริ่มด้วยบอกเล่าประวัติคนตาย ตั้งแต่ปฏิสนธิ กระทั่งเติบโตเป็นผู้ใหญ่ แล้วแต่งงานมีลูกมีหลานจนแก่เฒ่าเจ็บไข้ล้มตาย

จากนั้นเชิญผีขวัญกินข้าวปลาอาหาร เสร็จแล้วออกเดินทางไปเมืองฟ้า ผ่านหมู่บ้านต่างๆ หลายแห่ง แล้วล่องเรือหรือแพไปทางน้ำ อันเป็นเส้นทางเชื่อมต่อระหว่างโลกมนุษย์กับเมืองฟ้า

เส้นทางไปเมืองฟ้า

พิธีส่งผีขวัญขึ้นฟ้าทำโดยหมอมดหมอผีขับลำ คำขับ เป็นคำคล้องจองเข้ากับแคนคลอเป็นทำนอง ต่อมาแต่งเติมเนื้อหายืดยาวตามต้องการที่สังคมเปลี่ยนแปลงเติบโตขึ้น

คำส่งผีขวัญมีเป็นร้อยแก้วสลับด้วยคำคล้องจองตามจังหวะที่ต้องการ ดังที่มีเอกสารอยู่ในพงศาวดารล้านช้างในลาว กับเล่าความเมืองของไทดำในเวียดนาม

เส้นทางส่งขวัญคนตายขึ้นฟ้า ซ้อนทับกับเส้นทางโยกย้ายของบรรพชนตระกูลไต-ไท จากทิศตะวันออกไปทิศตะวันตก หรือจากลุ่มน้ำดำ-แดง ในเวียดนาม ไปลุ่มน้ำโขงในลาว แต่กลับทิศทาง

[สรุปจากหนังสือ ประวัติศาสตร์ไทดำ: รากเหง้าวัฒนธรรม-สังคมไทย และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ของ ยุกติ มุกดาวิจิตร (สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม พิมพ์ครั้งแรก มกราคม 2557 หน้า 23-49)]

คำส่งขวัญ ต้นแบบบทสั่งเสียสั่งลา

คำส่งขวัญคนตายไปเมืองฟ้า เป็นคำคล้องจอง ที่หมอขวัญใช้ขับลำด้วยทำนองเสียงโหยหวน มีลูกคอกลั้วเป็นครั้งคราวตั้งแต่ต้นจนจบ แต่ไม่พบตัวบทจริงๆ

จึงคาดเดาว่าเนื้อความรำพึงรำพันสั่งเสียสั่งลาผู้คนเครือญาติ, สัตว์, สิ่งของ, ภูมิสถานบ้านเรือน, ป่าดงพงไพร ที่ขวัญเดินทางผ่านไป

3. สั่งเสียสั่งลา
บทสั่งเสียสั่งลาเก่าสุดพบในคำทำขวัญ (ทั้งเรียกขวัญ และส่งขวัญ) งานศพยุคดั้งเดิมหลายพันปีมาแล้ว

จากนั้นปรับเปลี่ยนดัดแปลงเป็นงานเสพลำคำขับและอื่นๆ ดังพบในวรรณกรรมสมัยหลังๆ ….

4. ส่งชู้สอนสาว

นับเป็นคุณูปการสูงยิ่งที่ ยุกติ มุกดาวิจิตร มีต่อวงวิชาวรรณกรรมไทย อันเนื่องจากงานศึกษามหาศาล เรื่อง ส่งชู้สอนสาว วรรณกรรมไตดำในเวียดนาม

ผมอ่านแล้วตาสว่างหลายเรื่อง จึงยกไปใช้นิยามผูกคำอธิบายเรื่องสำคัญ ได้แก่ ขวัญ (ในหนังสือ งานศพ ยุคแรกอุษาคเนย์)

โดยเฉพาะบทสั่งเสียคนรัก เป็นหลักฐานร่องรอยสำคัญมากให้รู้ความเป็นมาของบทสั่งเสียสั่งลา ตามขนบนิราศดั้งเดิมในวรรณกรรมไทย

5 กุมภาพันธ์ 2561