วันดี สันติวุฒิเมธี: นักมานุษยวิทยาบนชายขอบตะวันตก


วันดี สันติวุฒิเมธี ถ่ายภาพร่วมกับ
นางอองซาน ซู จี

วันดี สันติวุฒิเมธี

บรรณาธิการนิตยสารสาละวินโพสต์

สังคมวิทยาและมานุษยวิทยามหาบัณฑิต
(มานุษยวิทยา) ปีการศึกษา 2544

วันดี สันติวุฒิเมธี เรียนจบปริญญาตรีจากคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยสาขาวิชาหนังสือพิมพ์เมื่อปี 2538 หลังจากนั้นจึงเข้าเรียนต่อหลักสูตรบัณฑิตอาสาสมัคร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อาศัยอยู่ในหมู่บ้านชาวปกาเกอญอ (กะเหรี่ยง) บริเวณชายแดนไทยพม่าประมาณ 7 เดือน หลังจากเรียนจบจึงเข้าทำงานที่นิตยสารสารคดีในตำแหน่งนักเขียนประจำกองบรรณาธิการ และเริ่มสนใจศึกษาต่อทางด้านมานุษยวิทยาเพราะเห็นว่าแนวคิดนี้น่าจะช่วยส่งเสริมการเขียนสารคดีให้มีมุมมองที่น่าสนใจมากยิ่งขึ้น ตลอดเวลาสี่ปีของการเรียนปริญญาโทสาขามานุษยวิทยาระหว่างปี 2541 ถึงปี 2545 เธอยังคงทำงานเขียนสารคดีควบคู่ไปด้วย

เธอกล่าวว่าสิ่งสำคัญที่ได้เรียนรู้จากการเรียนมานุษยวิทยา คือ แนวคิดและมุมมองต่อสังคมและผู้คนที่พบเจอ ซึ่งมากกว่าการมองเห็นด้วยตาและได้ยินด้วยหู หากมองลึกซึ้งไปถึงสิ่งที่ซ่อนอยู่ในแววตาและน้ำเสียง เห็นภาพเชื่อมโยงตั้งแต่อดีต ปัจจุบัน และอนาคต ยกตัวอย่างเช่น หากต้องการเก็บข้อมูลหมู่บ้านชนเผ่าสักแห่งหนึ่ง งานมานุษยวิทยาสอนให้เรามองหมู่บ้านแห่งนี้มากกว่าจำนวนประชากรหรือบ้านเรือน เพราะนี่เป็นเพียงข้อเท็จจริง แต่เราสามารถมองเห็นถึงวิธีคิดในการตั้งหมู่บ้าน คติความเชื่อชนเผ่า รวมไปถึงวิธีการรับมือกับภัยธรรมชาติ เป็นต้น โดยวันดีได้เลือกทำวิทยานิพนธ์เรื่อง “กระบวนการสร้างอัตลักษณ์ของชาวไทใหญ่ชายแดนไทย – พม่า: กรณีศึกษาหมู่บ้านเปียงหลวง ตำบลเปียงหลวง อำเภอเวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่” โดยใช้เวลาเก็บข้อมูลประมาณสองปี

หลังจากที่ตัดสินใจลาออกจากนิตยสารสารคดีในช่วงท้ายของการเรียนปริญญาโทเพื่อเขียนวิทยานิพนธ์ให้เสร็จเธอจึงเริ่มต้นงานใหม่ในฐานะบรรณาธิการนิตยสารสาละวินโพสต์สื่อทางเลือกเพื่อนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับประเทศพม่า

ตลอดเวลาเก้าปีของการเป็นบรรณาธิการเธอต้องเดินทางเข้าออกประเทศพม่าทั้งชายแดนและเมืองชั้นในนับครั้งไม่ถ้วนความรู้ทางมานุษยวิทยาและวิชาชีพสื่อมวลชนเป็นส่วนหนึ่งของการทำงานอย่างแยกไม่ออก เพราะต้องอาศัยการเก็บข้อมูลแบบฝังตัวในพื้นที่ เรียนรู้ชีวิตและวัฒนธรรมของผู้คนที่พบเจอ และนำกลับมาเขียนวิเคราะห์ให้คนอ่าน เธอเดินทางเข้าพม่าครั้งล่าสุดเมื่อปลายปี 2553 เพื่อทำงานชิ้นสำคัญที่สุดชิ้นหนึ่งในสายงานข่าวพม่า คือ การสัมภาษณ์นางอองซาน ซูจี วีรสตรีของชาวพม่าและชาวโลก การสัมภาษณ์ครั้งนี้เกิดขึ้นได้จากมิตรภาพระหว่างทีมงานสาละวินโพสต์และเพื่อนชาวพม่าตลอดเส้นทางการทำงานสาละวินโพสต์เก้าปี เธอไม่ได้มองว่าพวกเขาเป็นเพียงแหล่งข้อมูลชั่วครั้งชั่วคราว หากมองว่าเป็นเพื่อนบ้านที่อยู่บนแผ่นดินติดกันกับเรา ยามที่เพื่อนต้องการความช่วยเหลือ เธอและทีมงานมักจะหยิบยื่นให้เสมอ และในยามที่เธอต้องการความช่วยเหลือ พวกเขาจึงยินดีมอบคืนกลับเช่นกัน นักมานุษยวิทยาบางท่านอาจเห็นไม่ตรงกับเธอในเรื่องนี้ เพราะข้อมูลที่ได้อาจ “ไม่เป็นกลาง” เพราะความผูกพันใกล้ชิด แต่สำหรับวันดีแล้วเธอมองว่า “ความเป็นกลางเป็นสิ่งสมมติ แต่มิตรภาพเป็นสิ่งสัมผัสได้” เธอจึงขอเลือกมิตรภาพบนรายทางมากกว่าความเป็นกลางที่มองไม่เห็น…