นิชเช่: การอ่านคืองานศิลปะ




ฟรีดริค นิทเช่ (Friedrich Nietzsche,1844-1900)

ไม่ใช่เรื่องแปลกที่งานของนิชเช่ยังไม่เป็นที่รู้จักแพร่หลาย…งานของนิชเช่ได้รับการอ่านอย่างผิวเผิน…

นิชเช่กล่าวถึงชะตากรรมของเขาไว้ว่า “The time for me has not yet come : some are born posthumously”

นิชเช่ตระหนักดีว่า คนร่วมสมัยกับเขาไม่พร้อมที่จะฟัง “หูไม่ว่าง” (จากค่านิยมและความเชื่อเดิมๆ) พอที่จะได้ยินและเข้าใจ

สิ่งที่เขาพูด เปรียบดังแสงของดวงดาวที่ต้องใช้เวลาเดินทางมาสู่โลกมนุษย์…

นิชเช่รู้ตัวดีว่าเขามิได้เขียนหนังสือสำหรับคนทุกคน แต่เฉพาะบางคนเท่านั้น คนที่ได้ประสบได้สัมผัสความเจ็บปวดและความยินดีที่เขาได้สัมผัส…เราอาจกล่าวได้ว่า ปรัชญาของนิชเช่ก็คือ “ความพยายามที่จะรู้จักตนเอง (a journey to self-knowledge) สำหรับนิชเช่ ปรัชญาก็คือ การหันมาพิจารณาประเมินค่าสิ่งต่างๆอีกครั้งหนึ่ง (revaluation of all values)

นิชเช่ได้ทดลองวิธีเขียนหลายรูปแบบ ในการพยายามจะสื่อกับผู้อ่านถึงความรู้สึกนึกคิดของเขา เช่น รูปแบบ aphorism… รูปแบบนี้เป็นประโยคสั้นๆ โดดๆ กระชับแต่กินความลึกเหมือนคำพังเพย มีลักษณะเป็นคำสั่ง ไม่ใช่คำอธิบาย นิชเช่เปรียบว่าเป็นเสมือนยอดเขาที่สูงตระหง่าน ส่วนประโยคธรรมดาที่ต้องมีประโยคขยายให้เหตุผลเป็นเสมือนที่ราบ (โอ้…อ่านมาถึงบรรทัดนี้แล้ว งานเขียนของผม นิชเช่คงว่าเป็น “ที่ราบลุ่มน้ำขัง” เป็นแน่) ฉะนั้นการอ่านงานเขียนลักษณะนี้จึงเป็นประหนึ่งการก้าวจากยอดเขาหนึ่งไปสู่อีกยอดเขาหนึ่ง แม้ดูเป็นทางลัด แต่ก็เป็นอันตรายเต็มไปด้วยความเสี่ยง (จะว่าไปงานเขียนของผม คนอ่านก็เต็มไปด้วยความเสี่ยงเหมือนกันนะ “ที่จะจมน้ำตาย” ฮา ฮา)

สำหรับนิชเช่ การอ่านคือกิจกรรมเปิด การอ่านมีหลายแบบและบางแบบก็ดีกว่าบางแบบ แต่แบบที่จริงที่สุดไม่มี

นิชเช่กล่าวว่าการอ่านที่ดีก็คือการอ่านแบบนักนิรุกติศาสตร์ คือ อ่านจากหลายแง่มุม อ่านอย่างช้า ลึกและละเอียด และอ่านอย่างไม่ด่วนตัดสินตามอคติ การอ่านจึงไม่ต่างจากประณีตศิลป์ของช่างทำทอง…มิใช่เพียงอ่านออก แต่ต้องทำตัวเหมือนโค (หรือควายก็ได้เหมือนกันนะ…ผมว่า) คือรู้จักเคี้ยวเอื้อง เคี้ยวจนกว่าสิ่งที่อ่านได้ถูกย่อยแล้วอย่างดี ไม่เร่งรีบกลืนโดยไม่เคี้ยวให้ละเอียด…

(คัดสรรมาจากบทความ นิชเช่: การอ่านคืองานศิลปะ ของ อู่ทอง โฆวินทะ ใน จุลสารไทยคดีศึกษา ปีที่ 6 ฉ.2 กรกฎาคม 2533 ใครสนใจบทความที่วิเศษเช่นนี้ในฉบับเต็ม ไปห้องสมุดที่ใกล้บ้านคุณที่สุด โดยพลัน)