จักรยานกับนกฟีนิกซ์

ขอมอบเป็นบรรณาการและเฉลิมฉลองกับจักรยานใหม่ครับ

นี่ถ้าผมไม่ได้เดินทางไปที่ปัตซากุ ผมก็คงไม่รู้สึกผูกพันกับจักรยานลึกซึ้งมากเท่านี้

ปัตซากุอยู่ที่ใหน? ปัตซากุเป็นหมู่บ้านเล็กๆอยู่ทางตอนเหนือของรัฐอัสสัมซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย อันที่จริงถ้ากางแผนที่ดู ปัตซากุก็อยู่ไม่ไกลจากบ้านเรานัก เพียงแค่ลัดเลาะจากอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงรายตัดผ่านทางตอนเหนือของประเทศพม่าข้ามเทือกเขาปาดไก่ที่กั้นพรมแดนระหว่างพม่ากับอินเดียแล้ววกลงไปทางใต้อีกเล็กน้อยก็จะถึงเมืองที่ชื่อศิวะซาการ์ (Sivasagar) ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากปัตซากุ

ผมมาทำอะไรที่หมู่บ้านเล็กๆแห่งนี้ ? ภาระกิจหลักก็คือมาเก็บข้อมูลเพื่อทำวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของคนอาหม

ผมบันทึกถึงวันแรกที่เดินทางเข้าหมู่บ้านไว้ดังนี้…

“…เส้นทางเข้าหมู่บ้านเกือบสามสิบกิโลเมตรเป็นถนนราดยางเล็กๆที่แสนจะขรุขระ ตัดผ่านหมู่บ้านระหว่างทางที่ร่มรื่นด้วยต้นไม้ใหญ่ หางนกยูงริมถนนแผ่กิ่งอวดดอกสีส้ม ถัดออกไปเป็นสวนหมากครึ้มอยู่หลังเรือนไม้ไผ่หลังเล็กที่สร้างติดกับพื้น ดิน หน้าบ้านมีเก้าอี้หวายสองตัวตั้งไว้ คงเอาไว้ให้เจ้าของบ้านนั่งมองชบาต้นสูงท่วมหัวที่กำลังออกดอกแดงระย้าอยู่ริมรั้ว ท้องนายามนี้เจิ่งน้ำ ผู้คนจึงยุ่งอยู่กับการไถและปักดำ

รถจอดลงตรงสามแยกของหมู่บ้านที่เมื่อเหลียวมองฝ่าแดดเปรี้ยงไปโดยรอบแล้วก็พบว่าท่ามกลางความร้อนและละอองฝุ่นนั้น หมู่บ้านที่ชื่อว่าปัตซากุช่างเงียบเชียบเหลือประมาณ ข้างถนนด้านที่จอดรถเป็นร้านชาที่มอมแมมด้วยผงธุลี (คนอัสสัมมิสเรียกฝุ่นว่า ธุลี) ส่วนอีกฝั่งถนนเป็นร้านเล็กๆขายของจิปาถะ ถัดไปเป็นร้านค้าปิดร้างและที่รอรถประจำทางที่คงไม่มีใครสนใจใช้ ตรงกันข้ามเป็นต้นไม้ใหญ่และเพิงขายหมาก ส่วนถนนอีกเส้นที่แยกไปทางด้านขวามือมีวัวสองสามตัวยืนเคี้ยวเอื้องอยู่กลางถนน

วันแรกที่มาถึงปัตซากุนั้นเป็นคืนเดือนมืด ฉะนั้นเวลาหกโมงเย็นทั่วทั้งหมู่บ้านก็ตกอยู่ในยามราตรี (คนที่นี่เรียกกลางคืน ว่า “ราตรี”) แม้ปัตซากุจะมีไฟฟ้าใช้ก็จริงอยู่แต่ก็ไปๆมาๆอย่างไม่เป็นเวลา คนที่นี่จึงไม่ได้สนใจพึ่งพามากนัก บ้านแต่ละหลังยังคงใช้ตะเกียงหรือไม่ก็จุดเทียนวอมแวมใช้ในบ้าน สำหรับคนที่นี่แสงสว่างมันไม่ไช่สิ่งจำเป็นอะไรนัก แม้ตะเกียงเขาก็ไขไว้อย่างริบหรี่ …แสงสว่างช่างเป็นสิ่งฟุ่มเฟือยเสียจริงขณะที่ท้องฟ้าอันไกลโพ้นของปัตซากุเต็มไปด้วยดวงดาวระยิบระยับ ท้องถนนของที่นี่ก็เต็มไปด้วยแสงวับแวมของหิ่งห้อย อยู่ในทุ่งนามืดข้างทาง หรือในพุ่มไม้ข้างถนน แสงเรืองปรากฏวูบขึ้นที่นั่น ที่นี่ รอบๆตัว

…เริ่มตั้งแต่เช้าวันรุ่งขึ้นและวันต่อๆ มา ภาระหน้าที่ของการ “เก็บข้อมูล”

นานวันเข้าก็จำเป็นต้องเดินทางไปเก็บข้อมูลไกลจากหมู่บ้านมากขึ้นทุกที

นับแต่นั้นจักรยานก็กลายเป็นอุปกรณ์สำคัญสำหรับการทำวิจัย หลังจากที่อาศัยหยิบยืมใช้อยู่พักใหญ่ ผมก็ลงทุนซื้อรถจักรยานใหม่หนึ่งคันเป็นของตัวเอง

จักรยานจึงนับเป็นพาหนะอเนกประสงค์สำหรับชุมชนที่จำเป็นต้องพึ่งพาตัวเองซึ่งนอกจากจะมีเพื่อการขี่ไปให้ถึงจุดหมายแล้ว สำหรับคนที่นี่จักรยานสามารถปรับเปลี่ยนเป็นพาหนะเพื่อการบรรทุกคน สัตว์และสิ่งของอีกด้วย คนที่นี่ไม่นิยมการซ้อนท้ายที่ตะแกรงหลัง แต่นิยมที่นิยมจะมานั่งในอ้อมแขนของคนขี่โดยอาศัยคานกลางรถเป็นที่นั่ง ผู้ที่ไม่คุ้นเคยจึงมักสะดุดตากับที่ได้เห็นผู้ชายสองคนขี่จักรยานโดยมีคนซ้อนนั่งอยู่ในอ้อมกอดของคนขี่อยู่เสมอ หากมีสัมภาระเป็นหมูตัวโตๆ คนที่นี่ก็จะใช้วิธีมัดขาทั้งสี่ของตัวโดยสารนั้นห้อยไว้กับคานกลางรถ

ผมเองพอรับมือกับการขี่จักรยานเป็นระยะทางไกลๆได้อยู่บ้าง (แถมบางวันยังต้องขี่จักรยานกลับบ้านตอนใกล้เที่ยงคืนขณะแอลกอฮอล์ไหลเวียนในเส้นเลือดเสียอีกด้วย)

แต่อย่างไรก็ตามการขี่รถจักรยานไปตามเส้นทางขรุขระด้วยก้อนหิน (โดยเฉพาะในยามเที่ยง) ก็ใช่เป็นเรื่องน่ารื่นรมย์นัก แม้จะถือร่มกันแดดไว้ที่มือข้างหนึ่งขณะขี่จักรยานลัดเลาะไปบนเส้นทางตัดผ่านเนินสูงต่ำของไร่ชาอัสสัมที่มีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลกและที่แย่ยิ่งไปกว่านั้นก็คือการขี่จักรยานกลับบ้านยามดึกในวันฝนพรำของคืนเดือนมืด แต่ไม่ว่าครั้งใหนๆ ก็คงไม่ชวนให้จดจำเท่ากับการขี่จักรยานเพื่อไปดูต้นไม้ที่มีชื่อเสียงต้นหนึ่งที่มีชื่อว่า “บาคอเบกอน่า” ซึ่งอยู่ห่างจากหมู่บ้านไปประมาณ ๑๕ กิโลเมตร

แรกทีเดียวผมไม่ได้สนใจนักและยิ่งได้รับรู้ระยะทางก็ออกจะถอดใจ แต่เมื่อได้ข้อมูลว่า ”บาคอเบกอน่า” เป็นต้นไม้เก่าแก่อายุหลายร้อยปีและพบแต่เพียงแห่งเดียวนี่นั่น นักพฤกษศาสตร์ต่างบ้านต่างเมืองพยายามดั้นด้นมาดูให้เห็นกับตา

แม้จะรู้สึกว่าระยะทางเป็นอุปสรรค แต่ก็ทำให้ผมตกลงใจเดินทางไป อัสสัมในเดือนพฤษภาคมนับเป็นฤดูกาลต้นมรสุม อากาศย่อมร้อนรุ่มอบอ้าวและแดดจัด ไม่น่าแปลกใจที่จะเห็นคนกางร่มขณะเลี้ยงควายอยู่กลางทุ่ง เส้นทางที่ขรุขระด้วยก้อนหินขนาดใหญ่ในบางช่วงทำให้การเดินทางล่าช้ากว่าที่ควรเป็น แม้จะอาศัยจูงจักรยานลัดผ่านทุ่งนาเป็นบางคราวก็ตามที

ตลอดระยะทางสิบห้ากิโลเมตรเพื่อมุ่งไปยังเป้าหมายที่ไม่เคยไปมาก่อน ทำให้รู้สึกประหนึ่งว่าเป็นการเดินทางสู่นิรันดร์กาล

ระหว่างการปั่นจักรยานอันอ่อนล้า ผมก็นึกถึงนิทานเปอร์เซียเรื่องหนึ่งขึ้นมา ที่ว่าด้วย ตำนานนกฟินิกซ์ กล่าวขานกันมาเนิ่นนานในบรรดาวิหกทั้งมวลว่า ณ ดินแดนไกลโพ้นกลางท้องทะเลลึก มีเกาะแห่งหนึ่งเป็นที่พำนักของนกฟินิกซ์ผู้เป็นอมตะ แต่กาลที่ผ่านมาเรื่องเล่านี้ก็ยังคงเป็นเรื่องเล่า ด้วยว่ายังไม่เคยมีนกตัวใดเดินทางไปถึงสถานที่แห่งนั้นเลย แต่แล้วนกกลุ่มหนึ่งก็พร้อมใจที่จะร่วมเดินทางไปพิสูจน์กันว่านกฟินิกซ์ตามตำนานนี้มีอยู่จริงหรือไม่ ความเหน็ดเหนื่อยอ่อนล้าก็ทำให้นกผู้กล้าแต่ละตัวค่อยๆ เลิกล้มความตั้งใจที่จะพิสูจน์ความจริง จนท้ายที่สุดเหลือเพียงนกหนุ่มเพียงตัวเดียวที่ยังคงมุ่งหน้าบินฝ่าท้องฟ้ากว้างเหนือท้องทะเลลึกไปอย่างอ่อนล้า แต่แล้วความพยายามของนกตัวนั้นก็ประสบผล มันบินเข้าไปที่เกาะอย่างอ่อนแรงมองหาอย่างเชื่อมั่นว่าจะได้พบนกฟินิกซ์ผู้เป็นอมตะอย่างในตำนาน…

แต่มันก็ไม่พบสิ่งมีชีวิตอื่นใด นกฟินิกซ์ไม่มีอยู่จริงดังในตำนานกระนั้นรึ มันครุ่นคิด

ในบทสรุปของนิทานจากเปอร์เซียกล่าวไว้ว่า แท้จริงแล้วนกฟินิกซ์ผู้ไม่มีวันตายและเป็นอมตะ ก็คือนกตัวที่มาถึงนั่นเอง

ขณะที่ความร้อนอบอ้าวกดทับลงไปบนความอ่อนล้าเหนืออานจักรยานนั้นเอง ผมก็อดไพล่คิดไปไม่ได้ว่า หรือแท้จริงแล้วต้นไม้เก่าแก่อันยิ่งใหญ่นั้นไม่ได้มีอยู่จริง และถ้าหากผมกัดฟันขี่ไปจนถึงที่นั่น ผมเองนั่นแหละจะกลายเป็นต้นไม้อันเก่าแก่และยิ่งใหญ่นั้นเสียเอง

แต่เพียงแค่คิดยังไม่ทันขาดความ ต้นไม้ขนาดใหญ่อันโดดเด่นกลางทุ่งกว้างก็ปรากฏแก่สายตาจากระยะไกล….บาคอเบกอนา มีอยู่จริงๆ และเมื่อเดินเข้าไปชื่นชมใกล้ๆ ก็ได้เห็นดอกไม้สีขาวเบ่งบานระดะอยู่เต็มต้น

ย่ำค่ำของวันนั้น ขณะขี่รถออกมาจากที่หมาย ฟ้าค่อยๆราแสงลง ลมเย็นพัดโชยมา ผมนึกพึมพำอยู่ในใจว่า แม้เรื่องเล่าของผมจะแตกต่างไปจากเรื่องของนกฟินิกซ์ตัวนั้น แต่มันจะเป็นอะไรไปถ้าบนเกาะนั้นจะมีนกฟินิกซ์เพิ่มขึ้นอีกซักตัว