เวียดนามในแผนที่ ค.ศ. 1656

ยุกติ มุกดาวิจิตร
เผยแพร่ครั้งแรกบน Facebook วันที่ 30 สิงหาคม 2555

แผนที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ตีพิมพ์ในปี พ.ศ.2199 (ค.ศ.1656)
เผยแพร่ครั้งแรกใน facebook ของคุณธวัชชัย ตั้งศิริวานิช (Thavatchai Tangsirivanich)
อ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้จาก FB photo ของคุณธวัชชัย


เมื่อมาสังเกตดูดีๆ อีกที เห็นอะไรๆ น่าสนใจหลายอย่างในส่วนของดินแดนที่เราเรียกกันว่า “เวียดนาม” ปัจจุบันจากแผนที่ของคุณธวัชชัย ตั้งศิริวานิช 5 ประเด็นด้วยกัน

(1) แผนที่แบ่งเวียดนามออกเป็นสองส่วน Cochinchine หรือโคชินไชนา กับ Tunquim หรือตงแกง (Tongkin หรือ Đông Kinh ในภาษาเวียดนาม หรือตังเกี๋ย ในภาษาไทย)

ที่แบ่งอย่างน้ีแสดงให้เห็นถึงอำนาจของเวียดนามสองฝ่ายในขณะนั้น ซึ่งแบ่งเป็นอำนาจของเจ้าตระกูล Trịnh ที่ครองอยู่ทางเหนือของเวียดนามบริเวณลุ่มนำ้แดง กับอำนาจของเจ้าตระกูล Nguyễn ซึ่งครองอยู่ทางใต้ลงมา การแบ่งแยกนี้เกิดขึ้นตั้งแต่ศตวรรษที่ 16 ต่อเนื่องมาจนถึงศตวรรษที่ 18 แต่โดยทางการแล้ว ยังนับว่าอยู่ในสมัยราชวงค์เล (Lê) แผนที่นี้จึงแสดงการแบ่งแยกอำนาจนี้ในระยะเดียวกับที่เกิดการแยกอำนาจอย่างชัดเจน

(2) ที่น่าสนใจอีกจุดคือ ชื่อทะเล Ocean Oriental ที่รัฐบาลเวียดนามปัจจุบันต้องชอบใจ เนื่องจากความขัดแย้งเรื่องเกาะในทะเลที่เราเรียกกันในปัจจุบันว่า South China Sea หรือทะเลจีนใต้ ขณะที่รัฐบาลเวียดนามยืนยันอย่างหนักแน่นว่าจะต้องเรียกทะเลนี้ว่าทะเลตะวันออก (Biển Đông) เพื่อไม่ให้จีนเหมาเอาได้ว่า เกาะแก่งใดๆ ที่อยู่ในทะเลนี้เป็นของจีน

(3) ส่วนปลายสุดของดินแดนเวียดนามน่าสนใจอีกสองส่วน คือดินแดนที่ถูกระบุในแผนที่ว่า
Chiampaa หรือจามปา แม้ว่าจะอยู่เป็นส่วนหนึ่งของโคชินไชนาหรือเวียดนามใต้แล้ว แต่การที่ชื่อเมืองหนึ่งถูกเรียกตามชื่ออาณาจักรโบราณ แสดงถิ่นนี้ยังคงเป็นถิ่นของชาวจามปาอยู่ บริเวณนี้ใกล้เคียงกับเมืองญาจาง (Nha Trang) ในปัจจุบัน

(4) ใต้ลงไปอีก คือตอนปลายของแม่น้ำโขง จะเห็นว่าแผนที่ระบุว่าเป็นเขตอำนาจของ Cambodia แสดงว่าขณะนั้น อำนาจของเวียดนามใต้ยังครอบคลุมมาไม่ถึงบริเวณลุ่มน้ำโขงตอนปลาย อย่างน้อยก็ไม่จนกว่าจะล่วงมาถึงปลายศตวรรษที่ 17 ที่ขุนนางตระกูลเหงวียนจะให้ชาวจีนอพยพเข้าไปอยู่ในดินแดนแถบนี้ โดยเฉพาอย่างยิ่งที่ไซ่ง่อน ทุกวันนี้เราจึงยังพบชาว “กรอม” หรือชาวขแมร์ที่นับถือพุทธศาสนานิกายเถรวาท อาศัยอยู่เป็นจำนวนมากในเวียดนามใต้รอบๆ ไซ่ง่อน

(5) อีก 4 คำ ที่ปรากฏในแผนที่เวียดนามที่น่าสนใจคือ Kecio, Kemois, Faifo และ Pulocacem

  • Faifo นั้นรู้กันทั่วไปว่าหมายถึงเมืองฮอยอัน (Hội An)
  • Kecio ผมเดาว่ามาจากคำว่า Kẻ Chợ ในภาษาเวียดนาม ซึ่งเป็นชื่อเก่าของเมืองฮานอย ที่แปลว่า “ชาวตลาด” หรือ “พ่อค้าแม่ขาย”
  • Kemois ตรงพื้นที่สูง บริเวณชายแดนโคชินไชนากับ “Rau” ดินแดนนี้น่าจะหมายถึงดินแดนของ “พวกม้อย” หรือ “คนป่า”
  • ส่วนคำว่า Pulocacem เดาว่าน่าจะเป็นชื่อเมืองจามปาอีกเมืองหนึ่ง แต่ผมยังไม่แน่ใจ
  • แผนที่เก่านี้ให้ความรู้เกี่ยวกับภูมิศาสตร์การเมืองโบราณได้ดีจริงๆ ครับ