จินตนาการทางมานุษยวิทยา: วิธีคิด การคิด และการเชื่อมโยง
ภาพ: สมัคร์ กอเซ็ม
วิทยากร ดร.สายพิณ ศุพุทธมงคล
การเสวนานี้เป็นส่วนหนึ่งของงานประชุมวิชาการ “สะท้อน ย้อนคิด สังคมวิทยาและมานุษยวิทยา เชียงใหม่”
จัดโดย ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ร่วมกับ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) และ สำนักพิมพ์คบไฟ
วันที่ 21 กันยายน พ.ศ.2555 ณ ห้องประชุมคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
….
ดร.สายพิณ ศุพุทธมงคล กล่าวว่าเมื่ออ่านงานอาจารย์อานันท์และงานของ C.Wright Mills รู้สึกสองอย่าง คือเรื่องแรก รู้สึกถึงเสียงวิพากษ์ โดยเฉพาะการวิพากษ์ว่าการทำงานสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาที่ผ่านมาและกำลังเป็นอยู่ ว่ามีปัญหาและข้อจำกัดอย่างไร ในกรณีของ Mills ได้วิพากษ์การวิจัยและเก็บข้อมูลเชิงปริมาณ ซึ่งในช่วงที่ Mills เขียนกำลังสถาปนาอำนาจ และในที่สุดเปลี่ยนทิศทางการวิจัยของสังคมวิทยาในอเมริกาให้เป็นในเชิงปริมาณ
Mills ยังวิจารณ์ทฤษฎี โดยเฉพาะทฤษฎีใหญ่ Grand Theory ทั้งหลาย อันที่หนึ่งคือพวกนี้เขียนทฤษฎีจนไม่มีใครเข้าใจเลยว่าเขียนอะไร เขียนแล้วต้องแปล สองคือมันใหญ่เกินไป General ทั่วไปเกินไป จนมองไม่เห็น ทำให้ไม่รู้ว่าจะทำอะไร พอมาถึงยุคนี้ Grand Theory มันพินาศไปหมดแล้ว ตอนนี้ที่มีคือตลาดของมโนทัศน์ คล้ายๆ ตำราทางวิชาการ มีมโนทัศน์หลากหลายให้หยิบฉวยมาเลือกใช้ มันจะละเอียดเล็กๆ เช่น เรื่อง Identity ของผู้หญิง ของผู้ชาย ของเด็ก ของคนแก่ ของคนชายชอบ ฯลฯ
ยุคสมัยของเรามันจึงไม่ได้อับจนเรื่องทฤษฎี แต่ถูกทฤษฎีมโนทัศน์ท่วมทับ จนไม่รู้จักอะไรอีกต่อไปแล้ว มันอาจจะมาพร้อมบริบท ที่สังคมตอนนี้ถูกมองว่ามัน fragmented-fluid มันซ้อนไปหมด มโนทัศน์ที่เกิดก็เอาไปจับปรากฏการณ์เล็กๆ เหล่านี้ ปัญหาก็คือมันก็จินตนาการอะไรไม่ออก เพราะมันเล็กเกินไปหรือไม่
Mills ยังพูดว่าตั้งแต่ยุคนั้นแล้ว ที่เป็นเวลาเป็นยุคของความอึดอัด ความเฉยเมย ไม่แยแสว่าคนอื่นจะเป็นอย่างไร เฉื่อยเนือย แต่ขณะเดียวกันคนจำนวนมากก็จะมีอาการรู้สึกกลัดกลุ้ม กระวนกระวาย แต่ไม่เข้าใจว่าไม่พอใจอะไร ปัญหาอันนี้ Mills เห็นว่าทำให้จินตนาการทางสังคมวิทยามีความสำคัญ ถามว่าปรากฏการณ์แบบนี้เกิดขึ้นหรือไม่ในบ้านเรา
สายพิณเห็นว่าจากแวดวงเล็กๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งนักศึกษานักวิจัยก็จะมีปัญหาแบบนี้ มีลักษณะที่เป็นผลมาจากความเข้าใจโลกว่ามันแตกกระจาย แยกเป็นชิ้นเล็กๆ personal is political เรื่องของคนๆ หนึ่งก็เป็นเรื่องทางการเมือง แต่ไม่ได้ชี้ว่าเรื่องการเมืองก็เป็นประเด็นสาธารณะได้ อะไรที่ขาดไป Mills ก็บอกว่าต้องดูประวัติศาสตร์ ว่าแต่ละยุคสมัยมันมีเงื่อนไขที่ทำให้ชีวิตของเขาเป็นแบบนั้น เช่น จะทำความเข้าใจคนที่ไปทำศัลยกรรมเสริมความงาม ก็อาจไม่ใช่แค่ไปฟังเสียงของผู้หญิงหรือผู้ชายที่ไปทำ อาจจะต้องมองบริบททางประวัติศาสตร์ ในโลกยุคนี้แล้วความหมายของศัลยกรรมมันเคลื่อนไปแล้ว หรือการทำศัลยกรรมมันไปเกี่ยวข้องกับสถาบันทางสังคม โครงสร้างทางสังคมอย่างไรบ้าง ถามว่าจินตนาการคืออะไร มันจึงอาจคือวิธีคิด การคิด การเชื่อมโยง โดย “คิด” อาจฟังดูเป็นวิชาการดูซีเรียส แต่ “จินตนาการ” ฟังดูเหลวๆ ฟุ้งๆ ไม่มีรูป
เรื่องที่สอง โจทย์คล้ายๆ ว่าเราจะไปทางไหนกัน ตอนนี้เราต้องทนกับอะไรบ้าง หลายคนพูดถึงระบบราชการ ที่เป็นปัญหามา หรือระบบประกันคุณภาพการศึกษา TQF ที่พูดถึงกัน เป็นภาวการณ์ที่เราต้องทน คำถามคือเราต้องทำอะไร ก็ต้องสอนหนังสือ และทำวิจัยด้วย เมื่ออ่านหนังสือของอาจารย์อานันท์ ก็พบว่าข้อมูลจำนวนมากที่พูดถึง เป็นผลจากการทำงานร่วมกันระหว่างอาจารย์กับนักศึกษา ในยุคนี้ที่มีข้อเรียกร้องในทางวิชาการ ทางสังคมเยอะแยะ คิดว่าเราคงต้องทำงานด้วยกัน อาจารย์ทั้งสองท่านที่พูดก่อนหน้าก็ทำให้รู้สึกว่างานทางมานุษยวิทยามันไม่ใช่เรื่องที่เรียนรู้ในห้องเรียน ส่วน Mills เสนอว่าการวิจัยทางสังคมศาสตร์มันเป็นงานฝีมือ ตั้งแต่การได้ข้อมูลมา การค้นหาความรู้ การนำเสนอความรู้ นี่คือสิ่งที่ตัวเองเรียนรู้ งานมานุษยวิทยาก็น่าจะเป็นแบบนั้น
….
อ่านเนื้อหาฉบับเต็มของรายงานการเสวนาหัวข้อนี้ได้จากเว็บไซต์ ประชาไท