สังคมวิทยาและมานุษยวิทยาเชียงใหม่: มุมมองจากธรรมศาสตร์
ภาพ: สมัคร์ กอเซ็ม
วิทยากร ดร.นลินี ตันธุวนิตย์
การเสวนานี้เป็นส่วนหนึ่งของงานประชุมวิชาการ “สะท้อน ย้อนคิด สังคมวิทยาและมานุษยวิทยา เชียงใหม่”
จัดโดย ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ร่วมกับ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) และ สำนักพิมพ์คบไฟ
วันที่ 21 กันยายน พ.ศ.2555 ณ ห้องประชุมคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
….นลินี ตันธุวนิตย์ ได้อภิปรายแบ่งออกเป็นสามประเด็น โดยประเด็นแรก กล่าวถึงความสัมพันธ์ทางวิชาการระหว่างคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ประเด็นที่สอง นักวิชาการ นักพัฒนา นักเคลื่อนไหว และพัฒนาการของสังคมศาสตร์สาธารณะ และประเด็นที่สาม ตัดต่อขอยืมทางวิชาการของสำนักท่าพระจันทร์ และสำนักเชียงใหม่
โดยประการแรก นลินี ตั้งข้อสังเกตว่าสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาที่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เกิดขึ้นในปีเดียวกัน ภายใต้เงื่อนไขทางการเมือง เศรษฐกิจ บริบททางวิชาการที่คล้ายๆ กัน แต่มีทิศทางของพัฒนาการต่างกันเพราะต่างมีเงื่อนไขเฉพาะ
ประเด็นที่สอง พัฒนาการของสังคมศาสตร์สาธารณะ จุดพีคของสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ น่าจะอยู่ในช่วงประมาณ พ.ศ. 2530 – 2540 เริ่มมีเจ้าหน้าที่จากองค์กรพัฒนาเอกชนจากที่ต่างๆ ในประเทศมาเรียนปริญญาโทที่นี่ ด้วยเหตุผลทั้งการหาทางเลือกใหม่ในการทำงาน รวมไปถึงมาเรียนเพราะรู้จักอาจารย์มานุษยวิทยาที่เชียงใหม่อย่างเช่นรู้จักอานันท์ กาญจนพันธุ์
ประเด็นเหล่านี้น่าสนใจก็คือ งานวิชาการสังคมศาสตร์ที่นี่ไม่ได้เป็นอะไรที่ตัดขาดจากเรื่องราวที่เกิดรอบๆ มหาวิทยาลัย และเป็นส่วนสำคัญมากในการก่อรูป สังคมวิทยาและมานุษยวิทยาที่เชียงใหม่ และด้วยบริบทของท้องถิ่นทำให้ อาจารย์หลายคนที่นี่นอกจากสอนหนังสือยังมีส่วนเคลื่อนไหวอย่างสำคัญกับขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม ทั้งนี้การทำงานในพื้นที่ การลงชุมชน การร่วมเคลื่อนไหวกับการเคลื่อนไหวทางสังคม คิดว่าเป็นเสน่ห์หนึ่งของสำนักเชียงใหม่
ประการที่สาม เมื่อกลับมามองวิทยานิพนธ์ของคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พบว่าการขอหยิบขอยืมการอ้างอิงทางวิชาการมาจากสำนักเชียงใหม่ เอาเข้าจริงๆ ไม่ได้เยอะมากในช่วงปี 2529-2530 และแนวการศึกษาขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมของสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาธรรมศาสตร์ ยังใช้กรอบการศึกษาเชิงจิตวิทยาทางสังคม กระทั่งต่อมาในปี 2530 เริ่มมีงานศึกษา 3 เล่มที่อ้างอิงงานของสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาเชียงใหม่ จนกระทั่งปี 2534 มีการเชิญ อานันท์ กาญจนพันธุ์ จากภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มาเป็นที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ โดยถือเป็นวิทยานิพนธ์เล่มแรกๆ ที่มีอาจารย์นอกมหาวิทยาลัยมาเป็นที่ปรึกษา และมีการอ้างงานจากสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาเชียงใหม่เยอะมาก
และต่อมาในช่วง 2540 เริ่มมีการอ้างอิงงานจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่ศึกษาเรื่องการเคลื่อนไหวทางสังคม ชาวบ้าน ดินน้ำป่า จะพบว่างานทางวิชาการจากสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นงานอันดับต้นๆ ที่ถูกอ้างถึงเยอะมากถ้าดูในบรรณานุกรม
….
ดูคลิปการเสวนา และ อ่านเนื้อหาฉบับเต็มของรายงานการเสวนาหัวข้อนี้ได้จากเว็บไซต์ ประชาไท