คนคือผู้สร้าง ผู้สะสม และให้ความหมาย

ภาพประกอบ: ชุติมาศ เลิศศิรรังสรรค์


บทแนะนำวัตถุจัดแสดงในชุด

คน สัตว์ สิ่งของ ในพิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ

โดย พจนก กาญจนจันทร


เผยแพร่ครั้งแรกใน สุดแดน วิสุทธิลักษณ์ (บรรณาธิการ). 25 ปีพิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ พ.ศ.2530-2555. กรุงเทพฯ: คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2555. หน้า 69.

สิ่งของในครอบครองของพิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ที่คัดเลือกมานำเสนอในที่นี้เป็นเพียงบางส่วนจากจำนวนทั้งสิ้นกว่า 6,000 ชิ้น ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งจากคลังสะสมของ ดร. วินิจ และคุณหญิงพรรณี วินิจนัยภาค และได้มอบให้กับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อจัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์ของมหาวิทยาลัยนับแต่ปีพุทธศักราช 2530

ลักษณะเด่นประการหนึ่งของพิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์ฯ ก็คือความหลากหลายของวัตถุ นับตั้งแต่ซากฟอสซิลอายุนับล้านปี เครื่องมือเครื่องใช้ของสังคมยุคโบราณเมื่อหลายพันปีก่อน ลงมาจนถึงเครื่องประดับและอุปกรณ์ในการประกอบอาชีพของไทยและเทศเมื่อทศวรรษที่ผ่านมา อาทิ เครื่องดนตรี เครื่องพิมพ์ดีด กล้องถ่ายรูป เครื่องถ้วยจีน ชุดเชี่ยนหมาก เครื่องทองเหลือง เครื่องถม และโปสการ์ด ซึ่งหากประสงค์จะจัดจำแนกประเภทวัตถุในพิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์ฯ ก็อาจจัดได้เป็นหลายร้อยประเภทตามความสนใจของผู้จัด

วัตถุดังกล่าวนี้ ถือเป็นแหล่งเรียนรู้ที่ไม่มีวันจบสิ้น ด้วยความหลากหลายของวัตถุ ต่างกาลเวลา ต่างวัฒนธรรม ซึ่งได้สะท้อนให้เห็นถึงมิติต่างๆ ของมนุษย์ตั้งแต่อดีตที่พยายามต่อสู้เพื่อข้ามผ่านอุปสรรคนานัปการเพื่อความอยู่รอด เพื่อแสวงหาความมั่นคงทางจิตใจ และเพื่อสร้างสุนทรียะให้ชีวิตและชุมชน

นับแต่อดีต มนุษย์ต้องการที่จะทำความเข้าใจถึงที่มาและรากเหง้าของตนเอง ต้องการที่จะอธิบายการมีอยู่ของ ‘ของเก่า’ และ ‘ของแปลก’ ทั้งในรูปของวัตถุและซากปรักหักพังจนกลายเป็นวัฒนธรรมของการรวบรวมสะสมและสงวนรักษา มนุษย์พยายามที่จะศึกษาถึงที่มาที่ไปของวัตถุเหล่านั้น ขณะเดียวกันก็มีแนวคิดเรื่องการปกป้องคุ้มครองโบราณ-สถานและโบราณวัตถุที่ออกมาในรูปของตัวบทกฎหมาย ไปจนถึงแนวคิดเรื่องการ ‘จัดการ’ ซึ่งมีนัยยะของการสร้างอรรถประโยชน์ให้กับสังคมปัจจุบัน

สิ่งของจำนวนกว่า 6,000 ชิ้น ในความครอบครองของพิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ภายใต้การดูแลของคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา จะเป็นคลังความรู้และพื้นที่ของผู้ที่สนใจจะเรียนรู้และทำความเข้าใจตนเองและผู้อื่นผ่านศักยภาพของมนุษย์ที่ปรากฏอยู่ในสิ่งของที่มนุษย์เป็นผู้สร้างและให้ความหมาย