จากแก้วหลากสี ถึง การเรียนรู้และทำความเข้าใจมนุษย์
แก้วหลากสี (polychrome glass) รูปศีรษะบุคคล สมัยประวัติศาสตร์ตอนต้น ซึ่งพบบริเวณปากแม่น้ำโขง ที่ได้นำออกจัดแสดงในงานครบรอบ 25 ปี พิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์ฯ และครบรอบ 47 ปี คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คือที่มาของสัญลักษณ์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ชาวฟินิเชียนโบราณ (Phoenician) แถบมหาสมุทรเมดิเตอร์เรเนียน นิยมผลิตลูกปัดแก้วที่เป็นรูปศีรษะคนและหัวสัตว์มานานกว่า 2,500 ปี ในดินแดนของประเทศจีนเอง ก็ได้ค้นพบรูปศีรษะมนุษย์ที่ทำด้วยแก้วในลักษณะเดียวกัน น่าสนใจว่า ศิลปหัตถกรรมที่ทำจากแก้วหลากสีเช่นนี้ ขุดพบด้วยเช่นกันในบริเวณปากแม่น้ำโขงของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เรายังไม่ทราบแน่ชัดว่าของชิ้นที่ขุดพบได้นี้ ผลิตขึ้นในที่แห่งใด? ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้? เหตุใดผู้สร้างจึงคิดประดิษฐ์ขึ้นเป็นรูปบุคคล จะเป็นรูปลักษณ์จำลองของคนพื้นถิ่นเอง หรือจะหมายถึงบุคคลต่างถิ่นห่างไกลที่เดินทางเข้ามาติดต่อค้าขายกับชุมชนในบริเวณนี้ จะเป็นเครื่องประดับ หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในพิธีกรรม?
แม้ปริศนาดังกล่าว จะรอการคลี่คลายโดยนักโบราณคดีหรือนักวิชาการสาขาอื่นใดในอนาคตข้างหน้า แต่ความสำคัญของของชิ้นนี้ที่ปรากฏให้เห็นเด่นชัดก็คือ “สำนึกในความเป็นมนุษย์” เป็นสิ่งสากล ข้ามพื้นที่และเวลา ไม่ว่าจะเป็น “ตัวเรา” “ตัวเขา” หรือ “ผู้อื่น” จะเป็นภาพตัวแทนของคนที่อาศัยอยู่ใน “ชนบท” “ชายแดน” หรือ “เมืองใหญ่” เราต่างล้วนเป็น “มนุษย์” ที่ไม่มีเรื่องให้ต้องแปลกประหลาดใจ
ภาระหน้าที่ของนักสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาก็คือ การเรียนรู้และทำความเข้าใจมนุษย์ ซึ่งอาจไม่ใช่จำเพาะเพื่อตัวมนุษย์เอง หากต้องขยายวงกว้างออกไปสู่สิ่งของและสิ่งมีชีวิตอื่นๆ รอบตัวเราด้วยเช่นกัน
-สุดแดน วิสุทธิลักษณ์-
^ สัญลักษณ์ประจำคณะฯ ออกแบบโดย ชุติมาศ เลิศศิรรังสรรค์
<< แก้วหลากสีรูปศีรษะบุคคล สมัยประวัติศาสตร์ตอนต้น จากคลังสะสมส่วนบุคคล
<< ภาพถ่ายโดย พจนก กาญจนจันทร