20 ปี หอจดหมายเหตุธรรมศาสตร์
เผยแพร่ซ้ำจาก บทบรรณาธิการ “20 ปี หอจดหมายเหตุธรรมศาสตร์”, จุลสารหอจดหมายเหตุธรรมศาสตร์, 15 (มิถุนายน 2554-พฤษภาคม 2555).
ภายหลังเกิดแผ่นดินไหวที่เมืองไครสต์เชิร์ช (Christchurch) ประเทศนิวซีแลนด์ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ในท่ามกลางซากปรักหักพังของโบสถ์แห่งหนึ่ง มีผู้ค้นพบ “time capsules” 2 ชิ้น
ชิ้นหนึ่งเป็นกระบอกทองแดงผนึกไว้แน่นหนา อีกชิ้นหนึ่งเป็นหลอดแก้วที่แตกหัก ภายในบรรจุม้วนแผ่นหนังเขียนไว้ด้วยลายมือประณีต สันนิษฐานว่าเอกสารชิ้นดังกล่าว อาจได้รับการบรรจุไว้ใน “time capsule” และฝังไว้ที่โบสถ์มาตั้งแต่ปีค.ศ.1867 (พ.ศ.2410)
ผู้ว่าการของเมืองไครสต์เชิร์ชกล่าวว่า การศึกษาข้อความที่บันทึกไว้บนแผ่นหนัง หลังจากผ่านการอนุรักษ์ตามหลักการอย่างสมบูรณ์แล้ว เชื่อว่าจะทำให้ได้เรียนรู้ เผยให้เห็นอดีต และความใฝ่ฝัน ความหวังของผู้คนในยุคของการก่อตั้งเมืองเมื่อศตวรรษที่ผ่านมา
แม้ว่าในการสถาปนามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง ที่ท่าพระจันทร์ และการก่อตั้งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิตจะไม่ได้มีการบรรจุ “time Capsule” ไว้ในสถานที่แห่งหนึ่งแห่งใดที่จะรอวันค้นพบและเผยแสดงให้เห็นถึง ความมุ่งมาดปรารถนาและความใฝ่ฝันอันยิ่งใหญ่ของประชาคมผู้สร้าง แต่ก็กล่าวได้ว่า “หอจดหมายเหตุธรรมศาสตร์” ได้ทำหน้าที่เช่นเดียวกับ “time capsule” ที่พยายามอย่างยิ่งยวดที่จะเก็บรักษาอดีตของสถาบันไว้อย่างเต็มกำลัง
ช่วงระยะเวลา 77 ปีของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และ 2 ทศวรรษของหอจดหมายเหตุธรรมศาสตร์ อาจยังคงสั้นเกินไปที่จะทำให้คนรุ่นปัจจุบันตระหนักถึงความสำคัญของอดีตตนเองมากไปกว่าการใคร่ครวญถึงอนาคต ที่เรืองรองอยู่เบื้องหน้า
อย่างไรก็ตาม เมื่อมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ครบรอบ 200 ปี เชื่อว่าคนรุ่นนั้นคงพึงพอใจอยู่บ้าง กับหน้าที่ของหอจดหมายเหตุฯ ที่ได้พยายามเก็บรักษาอดีตและความทรงจำอันน่าภาคภูมิใจ อดีตอันเจ็บปวด อดีตที่อยากจะป่าวประกาศและอดีตที่อยากซุกซ่อนไว้ของสถาบัน
เพราะการศึกษาใคร่ครวญถึงอดีตอย่างซื่อสัตย์เท่านั้น ที่จะทำให้สถาบันเดินหน้าไปอย่างเข้มแข็งและภาคภูมิได้
เชื่อว่า…เมื่อถึงเวลาของการเฉลิมฉลอง 2 ศตวรรษของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ “ความมุ่งมาดปรารถนา และความใฝ่ฝัน” ที่ปรากฏอยู่ในรายงานการประชุม “คณะกรรมการดำเนินงานหอจดหมายเหตุธรรมศาสตร์” ครั้งที่ 1/2534 เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ.2534 ณ เวลา 11.30-14.00 น. จะสัมฤทธิ์ผลไกลเกินไปกว่าที่คาดการณ์ไว้ และในโอกาสเช่นนั้น จะเป็นการพิสูจน์ว่างานของหอจดหมายเหตุฯ มิใช่เป็นความหมกมุ่นกับการเก็บงำอดีต แต่เป็นงานที่ทำเตรียมการไว้เพื่ออนาคต.