ในแผง – นอกแผง: ไกลดวงตา ใกล้ใจ
ไกลดวงตา ใกล้ใจ || A View from Afar
สุดแดน วิสุทธิลักษณ์ และ วิวัฒน์ พันธวุฒิยานนท์
ฟรีฟอร์มสำนักพิมพ์
พิมพ์ครั้งที่ 2 (พฤษภาคม 2553)
“นักเดินทาง” กับ “นักมานุษยวิทยา” เหมือนหรือต่างกัน? อย่างไร?
หากคำถามนี้เป็นข้อสอบระดับปริญญาเอกทางมานุษยวิทยา ผู้เขียน “ไกลดวงตา ใกล้ใจ” คงมีคำนำหน้าว่า “ดอกเตอร์” ในทันทีที่ “ไกลดวงตา ใกล้ใจ” ตีพิมพ์
ครั้งนั้น สุดแดน วิสุทธิ์ลักษณ์ มหาบัณฑิตมานุษยวิทยาจากสำนักท่าพระจันทร์ สวมหมวกนักเขียนบทสารคดีโทรทัศน์ พาเราเดินทางด้วยความรู้ ความคิด ความรู้สึก ผ่านชีวิตที่พบเจอขณะ “สำรวจโลก” ในสถานที่ที่หลายคนอิจฉา อาทิ จอร์แดน ตุรกี มัลดีฟส์ เวียดนาม พม่า อินโดนีเซีย อินเดีย มองโกเลีย ฯลฯ และอีกหลายแห่งในดินแดนไทย
เขาไม่เพียงแต่พาเราออกเดินทาง หากเขายังชี้ทางเดินภายในจิตใจ แนะให้เราเข้าใจโลก เพื่อนมนุษย์ และตนเองเพิ่มขึ้น เขาบรรจงถ่ายทอดถึงชีวิตผู้คนที่เข้ามากระทบ เกี่ยวข้อง ผูกพัน แม้เพียงไม่กี่นาที แต่กลับสร้างปรากฏการณ์การเข้าใจชีวิตและผลิตสร้างความทรงจำถาวรให้ได้ระลึกถึง
ในเวลาใกล้เคียงกัน วิวัฒน์ พันธวุฒิยานนท์ นักเขียนสารคดีมืออาชีพในขณะเป็นนักเรียนมานุษยวิทยาสำนักวังท่าพระ ก็ได้ออกเดินทางท่องไปตามฝัน ทั้งในเนปาล ตุรกี พม่า ศรีลังกา ลาว กัมพูชา ฯลฯ และบ้านเกิด สัมผัสผ่านผู้คนในหลากมิติ นำข้อมูลที่ได้ศึกษาและประสบพบเห็นมาเชิญชวนผู้อ่านให้ล้อมวงนั่งชมด้วยภาพมุมกว้างแล้วค่อยๆ ตะล่อมเข้าคลุกวงใน ก่อนจะจู่โจมให้เรื่องราวของสถานที่ ผู้คน และการเวลาที่ “เป็นอื่น” กลายเป็น “ส่วนหนึ่ง” ของทั้งชีวิตผู้เขียนและผู้อ่าน
หนังสือเล่มนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๖ หากแต่สิ่งที่นักเดินทางทั้งสองบอกเล่าและแสดงทรรศนะไว้ยังทำหน้าที่ได้อย่างดีเยี่ยมในยุคสมัยปัจจุบัน และหากนึกถึงว่างานเขียนราวยี่สิบเรื่องในหนังสือเล่มนี้เคยตีพิมพ์ในนิตยสารมาก่อนการรวมเล่มครั้งแรกหลายปี ก็แสนจะน่าทึ่งที่มุมมองต่อโลก สังคม และตัวตน อันละเอียดลออ รอบด้าน ลึกซึ้ง ปรากฏในวัยที่พวกเขามีอายุไม่ถึงสามสิบปี
หนังสือเล่มนี้ไม่ใช่หนังสือนำเที่ยว หากแต่เป็นหนังสือนำเดินทาง ด้วยในชีวิตหนึ่งเราคงมีการเดินทางอันงดงามเกิดขึ้นได้ไม่มากนัก แต่คราใดที่ได้เดินทางผ่าน “ไกลดวงตา ใกล้ใจ” ก็จะพบความอิ่มเอิบใจอยู่เป็นนิรันดร์