อาลัยศาสตราจารย์ Charles F. Keyes
ภาพ: “งานเลี้ยงอำลา, มอบของขวัญให้ชารส์ เจน และ นิค, บ. หนองตื่น อำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม ประเทศไทย พฤศจิกายน พ.ศ. 2511” | Charles and Jane Keyes Collection, University of Washington Research Works Archive
ศาสตราจารย์ Charles Fenton Keyes หรือที่คนไทยเรียกด้วยความเคารพและสนิทสนมว่าอาจารย์คายส์หรืออาจารย์ Biff เป็นศาสตราจารย์ด้านมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยวอชิงตัน สำเร็จการศึกษาดุษฎีบัณฑิตด้านมานุษยวิทยาจากมหาวิทยาลัยคอร์แนล ด้วยวิทยานิพนธ์เรื่อง Peasant and Nation: A Thai-Lao Village in the Thai State ซึ่งเป็นการศึกษาในหมู่บ้านแห่งหนึ่งใน จังหวัดมหาสารคาม โดยตลอดระยะเวลากว่ากึ่งศตวรรษ ศาสตราจารย์คายส์ได้สร้างผลงานวิชาการที่มีคุณูปการทั้งต่อแวดวงมานุษยวิทยารวมถึงด้านไทยศึกษาและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษาจำนวนหลายชิ้น อีกทั้งยังได้สร้างลูกศิษย์ที่เป็นนักมานุษยวิทยามาอย่างต่อเนื่องจำนวนหลายคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศไทยที่ต่างมีบทบาทสำคัญทั้งในแวดวงวิชาการและสังคม
ศาสตราจารย์คายส์เป็นนักมานุษยวิทยาในแบบฉบับ คือ ให้ความสำคัญกับการศึกษาภาคสนามอย่างเข้มข้นตั้งแต่ต้น อีกทั้งยังดำเนินการอย่างต่อเนื่องเป็นระยะ เพื่อพิจารณาความเปลี่ยนแปลงผ่านช่วงเวลา โดยครั้งสุดท้ายที่เขา “ลงสนาม” หมู่บ้านที่ จังหวัดมหาสารคาม เป็นเวลาที่ห่างจากครั้งแรกกว่าสี่สิบปีและเขาเองก็อยู่ในวัยที่มากแล้ว ซึ่งมีนักมานุษยวิทยาจำนวนไม่มากนักที่ปฏิบัติเช่นนี้ ขณะเดียวกันเขาให้ความสำคัญกับการผูกมิตรไมตรีกับคนที่ศึกษา เขาและครอบครัวได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของหมู่บ้าน ตัวเขาถูกเรียกขานด้วยคำศัพท์ในเชิงเครือญาติ เขาเล่าว่าในการไปเยี่ยมหมู่บ้านครั้งสุดท้ายเขาได้รับการแนะนำโดยคนอาวุโสในหมู่บ้านให้คนรุ่นหลังได้รู้จักในฐานะ “พ่อใหญ่” ที่มาศึกษาและใช้ชีวิตในหมู่บ้านก่อนที่หลายคนยังไม่เกิด
นอกจากนี้ ศาสตราจารย์คายส์ให้ความสำคัญกับบทบาทของวิชามานุษยวิทยาในประเด็นสาธารณะโดยเฉพาะอย่างยิ่งคือการเมือง เขาเล่าว่าสาเหตุที่เขาเลือกไปศึกษาปริญญาเอกด้านมานุษยวิทยาที่มหาวิทยาลัยคอร์แนลเป็นเพราะว่าเป็นเพียงแห่งเดียวที่ให้ความสำคัญกับประเด็นทางการเมือง ขณะที่มหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ในสหรัฐอเมริกาตอนนั้นยังคงอยู่ภายใต้กระแสการค้นคว้ารวบรวมและเก็บรักษาข้าวของเครื่องใช้ ตำนาน และวิถีชีวิตของคนพื้นเมืองที่กำลังสูญหาย หรือเป็น “มานุษยวิทยากอบกู้” ที่ได้รับการสถาปนาโดย Franz Boas ผู้ได้ชื่อว่าบิดามานุษยวิทยาอเมริกัน นอกจากนี้ แม้ต่อมาเขาจะถูกพาดพิงว่ามีความเกี่ยวข้องกับหน่วยงานลับของรัฐบาลอเมริกันในช่วงสงครามเย็น แต่เขาเล่าว่าเขาไม่ได้มีความสัมพันธ์กับหน่วยงานดังกล่าวดังที่ถูกกล่าวหา และเวลาก็ได้เป็นเครื่องพิสูจน์ว่าการศึกษาวิจัยของเขาในประเทศไทย ไม่ได้ตอบสนองเป้าหมายของรัฐบาลไม่ว่าประเทศใดเท่ากับประเด็นทางวิชาการและชีวิตของคนที่เขาศึกษา
ประการสำคัญ ในช่วงความขัดแย้งทางการเมืองระหว่าง “เสื้อสี” ในประเทศไทย เขาได้แสดงจุดยืนอย่างหนักแน่นชัดเจนว่าอยู่ในแนวทางใด ถึงแม้เขาเคยเปรยว่าไม่ได้เป็นหรือสนับสนุน “เสื้อสี” ไหน หากแต่เขาสนับสนุน “ชาวบ้าน” ทว่าด้วยความที่ “ชาวบ้าน” โดยเฉพาะในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่เขาศึกษาเป็นองค์ประกอบหลักของ “เสื้อสี” หนึ่ง ซึ่งเรียกร้องความเสมอภาคและเป็นธรรม เขาจึงดูเหมือนจะมีความเห็นอกเห็นใจ “เสื้อสี” นี้ไปโดยปริยาย บทความของเขาที่ชื่อ “Cosmopolitan” Villagers and Populist Democracy in Thailand เป็นตัวอย่างสำคัญที่ชี้ให้เห็นจุดยืนของเขาในความขัดแย้งทางการเมืองนี้ เพราะเขาเสนอว่าสาเหตุที่ความขัดแย้งปะทุและขยายตัวอย่างกว้างขวาง เป็นเพราะคนชั้นกลางในเมือง ซึ่งเป็นองค์ประกอบหลักของ “เสื้อสี” หนึ่ง ยังคงมีความรับรู้และความเข้าใจต่อ “ชาวบ้าน” และ “ชนบท” ซึ่งเป็นองค์ประกอบหลักของอีก “เสื้อสี” ไม่แตกต่างไปจากที่คนชั้นนำรู้จักเมื่อหลายทศวรรษมาแล้ว ทั้งที่ “ชาวบ้าน” เป็น “ผู้มีโลกกว้างไกล” มาแต่อดีต
ขณะเดียวกันศาสตราจารย์คายส์ให้ความสำคัญกับครอบครัวเป็นอย่างมาก เขาเคยเล่าว่ามหาวิทยาลัยชิคาโกเคยเสนอให้เขาไปรับตำแหน่งที่นั่นด้วยค่าตอบแทนและประโยชน์อื่นที่สูงกว่า แต่เขาปฏิเสธเพราะต้องการให้ลูกเติบโตในสภาพแวดล้อมที่ดีกว่า เขาจึงทำงานที่มหาวิทยาลัยวอชิงตันและใช้ชีวิตที่เมืองซีแอตเติลจนกระทั่งหลังเกษียณอายุ ก่อนจะย้ายไปอยู่ที่เมืองพอร์ทแลนด์ใกล้กับบ้านลูกชายเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา
ศาสตราจารย์คายส์จากไปอย่างสงบในวันที่ 3 มกราคม 2565 ท่ามกลางสมาชิกในครอบครัว นับเป็นความสูญเสียครั้งใหญ่ไม่เฉพาะในครอบครัวของเขา หากแต่รวมถึงแวดวงวิชาการ มิตรสหาย และลูกศิษย์ ซึ่งจะจดจำเขาในฐานะบุคคลที่ทรงคุณค่าและปฏิบัติตนในครรลองของสาขาวิชาอย่างไม่มีที่ติ
คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ขอร่วมแสดงความเสียใจและไว้อาลัยต่อการจากไปของศาสตราจารย์คายส์มา ณ ที่นี้
รศ.ดร.อนุสรณ์ อุณโณ
คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์