อุทิศครู: Professor Charles Keyes
ภาพ: “การเดินทางไปแม่น้ำสาละวินเพื่อไปหา เอกสารใบลานโบราณ: ชารลส์และเจ้าคณะอำเภออยู่บนฝั่งแม่น้ำสาละวิน, อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน ประเทศไทย มิถุนายน พ.ศ. 2511” โดย เจ้าคณะอำเภอ แม่สะเรียง | Charles and Jane Keyes Collection, University of Washington Research Works Archive
เช้าวันอังคารที่ 4 มกราคม 2565 ผมได้ทราบข่าวการเสียชีวิตของอาจารย์ Charles Keyes รู้สึกตกใจและเสียใจมาก แม้ว่าจะไม่ได้สนิทสนมกับ “จารย์คายส์” (จะขอเรียกอาจารย์แบบนี้) แต่ผมก็เคยสนทนาด้วยหลายครั้ง และอาจารย์ก็น่ารักกับผมมาก พูดคุยด้วยดี พร้อมรอยยิ้มของคนใจดีและอ่อนโยน และแม้ว่าผมจะไม่เคยเรียนหนังสือกับจารย์คายส์ แต่ก็ได้รับความรู้มากมายจากการอ่านงานเขียนของอาจารย์ ทำให้รู้สึกเหมือนเป็นครูคนหนึ่งของผม
จารย์คายส์มีลูกศิษย์คนไทยที่เป็นนักวิชาการมีชื่อเสียงหลายคน ส่วนใหญ่ผมรู้จักมักคุ้นพอควร เช่น ไพทูรย์ มีกุศล, อมรา พงศาพิชญ์, สุริยา สมุทคุปติ์, ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี, สุชาดา ทวีสิทธิ์, รัตนา โตสกุล, พัฒนา กิติอาษา, อนุสรณ์ อุณโณ และอาจมีอีกหลายคนที่ผมไม่รู้จัก หรือยังนึกชื่อไม่ออกในขณะนี้
ผมพบจารย์คายส์ครั้งแรกที่ Australian National University (ANU) เมื่อ พ.ศ. 2534 เพราะได้ทุนเรียน ปริญญาเอกจากรัฐบาลออสเตรเลีย และผมเลือกไปเรียนที่เอเอ็นยู ตอนนั้นจารย์คายส์ได้รับเชิญให้เป็น fellow ที่นั่น โดยมี Gehan Wijeyewardene อาจารย์และที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ของผม เป็นคนดูแล (อาจารย์ทั้งสองสนิทกันมากทีเดียว – จารย์คายส์เคยเชิญจารย์เกฮานไปเป็น fellow ที่ University of Washington หลายปีก่อนหน้านั้น) จารย์คายส์ชวนผมไปพบตอนเจ็ดโมงเช้าเพื่อกินมื้อเช้าและคุยกัน (บอกผมว่าแกเป็นคนตื่นเช้า กินอาหารเสร็จก็ทำงานเลย) มื้อนั้นจารย์คายส์เป็นเจ้ามือ กินไปสนทนาไป ได้ความรู้หลายเรื่องจากอาจารย์ ทั้งเรื่องหัวข้อวิทยานิพนธ์ การทำงานภาคสนามทางมานุษยวิทยา หนังสือที่ควรอ่าน ฯลฯ เจอกันครั้งแรกผมก็รู้สึกประทับใจและชอบอาจารย์อย่างมาก
จารย์คายส์เคยให้สัมภาษณ์ว่าตนเองมาสนใจและเรียนวิชามานุษยวิทยาโดยบังเอิญ ตอนที่เข้าเรียนในระดับปริญญาตรีอาจารย์อยากเป็นนักฟิสิกส์หรือนักคณิตศาสตร์ แต่ตอนที่เรียนปีสามต้องลงเรียนวิชามานุษยวิทยา แล้วค้นพบว่าเป็นเรื่องที่ตนสนใจ จึงเลือกวิชานี้เป็นวิชาเอกคู่กับคณิตศาสตร์ที่เป็นวิชาเอกมาแต่เดิม แต่พอไปเรียน ปริญญาโท-เอกที่ Cornell University ก็หันไปเรียนมานุษยวิทยาอย่างเต็มตัว และติดอกติดใจกับการศึกษา/งานวิจัยของ Lauriston Sharp ศาสตราจารย์ผู้โด่งดังจากโครงการวิจัยคอร์แนล-บางชัน – หลังจากที่ อ. ชาร์ปได้เสียชีวิตลง จารย์คายส์เขียนคำไว้อาลัยมรณกรรม (obituary) ให้ อ. ชาร์ปได้อย่างยอดเยี่ยม กินใจ และแน่นด้วยสาระทางวิชาการ
ตอนที่เริ่มเรียนที่เอเอ็นยู ผมวางแผนว่าจะไปทำวิจัยที่ยูนนาน ประเทศจีน แต่เกิดปัญหาที่ไม่ได้คาดคิดไว้ก่อน ทำให้ต้องเปลี่ยนแผน หันมาทำวิจัยในบริเวณชายแดนไทย-พม่า ระหว่างช่วงปลายปี 2534 และต้นปี 2535 ผมเดินทางขึ้นลงบริเวณชายแดนแถบนี้นาน 1-2 เดือนเพื่อหา “สนาม” ที่จะลงทำวิจัยและเขียนวิทยานิพนธ์ แวะเข้าเมืองชายแดนต่างๆ หลายแห่ง หนึ่งในนี้คือเมืองแม่สะเรียง ที่ๆ ผมชอบบรรยากาศของเมืองมาก ตอนนั้นเป็นเมืองที่ไม่ใหญ่โตกว้างขวางเช่นทุกวันนี้ และมาทราบภายหลังว่าจารย์คายส์เคยไปทำวิจัยที่แม่สะเรียง แต่ผมไม่มีโอกาสได้สนทนา/ซักถามอาจารย์เกี่ยวกับเมืองนี้เลย ยิ่งพอได้อ่านหนังสือเรื่อง “Impermanence: An Anthropologist of Thailand and Asia” ซึ่งมีบทหนึ่งที่เล่าถึงชีวิตของอาจารย์กับภรรยาสมัยที่อาศัยและทำวิจัยอยู่ที่แม่สะเรียง มีรายละเอียดต่างๆ ที่น่าสนใจมาก ผมก็ยิ่งรู้สึกเสียดายที่ไม่ได้พูดคุยกับอาจารย์ในเรื่องนี้
ผมชอบอ่านงานเขียนของจารย์คายส์ ส่วนหนึ่งเพราะชอบสไตล์การเขียนของอาจารย์ที่อ่านง่าย ไม่วุ่นวายด้วยศัพท์แสงที่ต้อง ‘ปีนบันได’ อ่าน หรืออ่านแล้วก็ไม่แน่ใจว่าเข้าใจ แต่ก็มีประเด็นและข้อถกเถียงทางวิชาการที่ชัดเจน เข้าใจได้ว่าอาจารย์กำลังโต้แย้งในเรื่องใด อีกส่วนหนึ่งเพราะผมสนใจในหลายประเด็นที่จารย์คายส์ทำวิจัยและเขียน ผมจึงอ่านหนังสือของอาจารย์ทุกเล่ม และบทความอีกมากมาย
เช่น หนังสือเรื่อง “Thailand: Buddhist Kingdom as Modern Nation-State” ที่ Craig Reynolds ศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์ไทยแห่งเอเอ็นยู เคยกล่าวกับผมว่าเป็นหนังสือเกี่ยวกับสังคมไทยสมัยใหม่ที่ดีที่สุดเล่มหนึ่ง ซึ่งผมเห็นด้วย – แค่ “บทนำ” ที่เริ่มต้นด้วยการพาดพิงถึงการเสด็จพระราชดำเนินจังหวัดแม่ฮ่องสอนเป็นครั้งแรกของในหลวง รัชกาลที่ 9 ในช่วงสงครามเย็น คนอ่านก็คงเข้าใจว่าเกี่ยวข้องกับชื่อหนังสืออย่างไร และกับพัฒนาการของสังคม-วัฒนธรรมและการเมืองไทยอย่างไร
ส่วนเรื่อง “Isan: Regionalism in Northeastern Thailand” อาจจัดว่าเป็นหนังสือระดับคลาสสิกที่นักเรียนมานุษยวิทยาต้องอ่านหากต้องการทำความเข้าใจเกี่ยวกับสังคมและคนอีสาน และอาจเป็นหนังสือภาษาอังกฤษประเภทบุกเบิกเล่มแรกๆ ในการศึกษาและการเรียนรู้ทางมานุษยวิทยาเกี่ยวกับอีสาน (?)
สำหรับเรื่อง “The Golden Peninsula: Culture and Adaptation in Mainland Southeast Asia” อาจเรียกได้ว่าเป็นหนังสือแบบเรียน (textbook) เกี่ยวกับสังคมและวัฒนธรรมในเอเชียตะวันตกเฉียงใต้ที่ดีมากเล่มหนึ่ง เป็นเล่มที่ผมใช้บ่อยมากสมัยที่ยังสอนหนังสืออยู่
และแน่นอน เรื่อง “Finding Their Voice: Northeastern Villagers and the Thai State” เป็นหนังสือที่ทำให้เราเข้าใจคนอีสาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องพัฒนาการทางการเมืองและความคิดทางการเมืองของคนอีสาน และคนเสื้อแดง เป็นหนังสือที่ต้องอ่านอีกเล่มหนึ่ง ไม่เพียงแต่นักเรียนมานุษยวิทยาเท่านั้น หากยังรวมถึงนักวิชาการและผู้ที่ต้องการทำความเข้าใจเกี่ยวกับการเมืองอีสานในช่วง 3-4 ทศวรรษที่ผ่านมา
บทความเรื่อง “‘Cosmopolitan’ villagers and populist democracy in Thailand” ซึ่งถ้าผมเข้าใจไม่ผิด ถูกตีพิมพ์ในที่อื่นก่อนที่จะถูกนำมารวมอยู่ในหนังสือเล่มนี้ เป็นงานเขียนที่แสดงให้เห็นถึงพลวัตและการเคลื่อนย้ายทางสังคม-เศรษฐกิจของคนอีสาน อันเป็นผลพวงของการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทย ที่ในอีกด้านหนึ่งได้ชักนำให้คนอีสานที่มีโอกาส ‘เคลื่อนย้ายทางสังคม’ มีทัศนคติและความคิดที่จารย์คายส์เรียกว่า ‘cosmopolitan’ นำไปสู่การตื่นตัวทางการเมืองเช่นที่เราเห็นในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา – บทความนี้ช่วยให้ภาพของคนอีสานในหนังสือ “Finding Their Voice” มีความชัดเจน/กระจ่างยิ่งขึ้น
แม้ว่าจารย์คายส์จะเน้นความสำคัญของข้อมูลและการทำภาคสนาม แต่ในงานเขียนก็มักเสนอสมมติฐาน กรอบแนวคิดหรือข้อถกเถียงเชิงแนวคิดอยู่เสมอ ซึ่งจะเห็นได้อย่างชัดเจนโดยเฉพาะในงานเขียนเรื่องชาติพันธุ์ เช่น ในหนังสือเรื่อง “Ethnic Adaptation and Identity: The Karen on the Thai Frontier with Burma” ที่อาจารย์เป็นบรรณาธิการ ได้เขียน ‘บทนำ’ แนะนำหนังสือไว้อย่างสนใจ และได้โต้แย้งทางความคิดกับนักมานุษยวิทยาคนอื่นๆ โดยใช้คนกะเหรี่ยงเป็นกรณีศึกษา จารย์คายส์เสนอว่าคนกลุ่มนี้มี ‘การสำแดงออกทางวัฒนธรรม’ (cultural expressions) ในหลายลักษณะเพื่อแสดงอัตลักษณ์ของตนเอง เช่น สำแดงออกผ่านตำนานปรัมปรา (ที่เล่าขานต่อกันมายาวนานในหมู่คนกะเหรี่ยง) ความเชื่อทางศาสนา พิธีกรรม คติชาวบ้าน ศิลปะ และอื่นๆ เหล่านี้ล้วนมีนัยทางสัญลักษณ์ของอัตลักษณ์ชาติพันธุ์กะเหรี่ยง สร้างความหมายเชื่อมโยงปัจเจกบุคคลกับกลุ่มชาติพันธุ์ นอกจากนี้ การสำแดงออกทางวัฒนธรรมนี้ก็มีความซับซ้อน ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ต่างๆ ที่ปัจเจกบุคคลหรือกลุ่มกำลังสร้างปฏิสัมพันธ์ด้วย หรืออาจกล่าวได้ว่าการสำแดงออกทางวัฒนธรรมนั้นมีความหลากหลาย แปรเปลี่ยนไปตามเงื่อนไขทางสังคม-เศรษฐกิจและการเมืองที่กลุ่มชาติพันธุ์สร้างความสัมพันธ์ด้วย
จารย์คายส์เขียนบทความเกี่ยวกับพุทธศาสนาไว้เป็นจำนวนมาก ทั้งที่อยู่ในวารสารและหนังสือต่างๆ และได้สร้างข้อโต้แย้งที่น่าสนใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบทความที่ถกเถียงกับ Thomas Kirsch อดีตศาสตราจารย์ทางมานุษยวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยคอร์แนล ในประเด็นเรื่องสถานภาพและบทบาทของผู้หญิงในศาสนาพุทธ จารย์คายส์พยายามชี้ให้เห็นว่าในศาสนาพุทธ ผู้หญิงมิได้มีสถานะที่ต่ำต้อย ไร้บทบาท ตรงกันข้าม ผู้หญิงมีความสำคัญมากในการสนับสนุนให้ศาสนาดำรงอยู่ได้ ไม่ว่าจะด้วยการทำหน้าที่เป็นอุปัฏฐาก ผู้ดูแลเลี้ยงพระสงฆ์และให้การสนับสนุนในด้านอื่นๆ เป็นแม่ที่อนุญาตให้ลูกชายบวชเรียนและสนับสนุนค้ำชูเมื่อลูกกลายเป็นพระสงฆ์แล้ว และในด้านอื่นๆ
ในความเห็นของผม จารย์คายส์ได้สร้างข้อโต้แย้ง/ถกเถียงที่ดูหนักแน่นทีเดียว และช่วยเตือนนักเรียนมานุษยวิทยาให้ไตร่ตรองถึงบทบาทอันสำคัญยิ่งของผู้หญิง ไม่เพียงแต่ที่ปรากฏในศาสนาพุทธเท่านั้น หากยังรวมถึงบทบาททางสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองอีกด้วย
บทความที่ผมสนใจมากอีกชิ้นหนึ่งคือ “Tug of War for Merit: Cremation of a Senior Monk” ที่เล่าเกี่ยวกับงานศพของพระสงฆ์อาวุโสรูปหนึ่งในแม่สะเรียง อ่านแล้วทำให้ผมนึกถึงบรรยากาศงานศพของพระสงฆ์อาวุโสอีกรูปหนึ่งที่ขุนยวม ผู้ที่คนท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นคนไต (ไทยใหญ่) คนเมือง กะเหรี่ยง และม้งจำนวนไม่น้อย เชื่อว่ามีความศักดิ์สิทธิ์มาก จึงจัดงานศพขึ้นอย่างมโหฬาร ติดต่อกันสามวันสามคืน มีผู้คนจำนวนมหาศาลมาร่วมงานศพ แม้แต่ผู้คนที่อาศัยอยู่ในเขตประเทศพม่า ทั้งคนไตและกลุ่มอื่นๆ ก็เดินทางข้ามชายแดนมาร่วมงาน – ได้เห็นและสัมผัสบรรยากาศของงานศพนี้ด้วยตัวเอง ทำให้ผมคิดว่าเฉพาะงานศพนี้งานเดียวก็มีคุณค่าและข้อมูลมากมายพอที่จะทำวิจัยและเขียนวิทยานิพนธ์ได้อย่างน้อยเล่มหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม บางครั้งจารย์คายส์ก็ดูเป็นคนมองโลกในแง่ดีเกินไป ในบทความเรื่อง “Why the Thai Are Not Christians: Buddhist and Christian Conversion in Thailand” อาจารย์พยายามให้คำอธิบายว่าเหตุใดคนไทยจึงเป็นชาวพุทธ เลื่อมใสในศาสนานี้ หรือถ้าจะกล่าวว่าพุทธศาสนามีสถานะที่มั่นคงกับคนไทย ในสังคมไทยก็คงจะได้ โดยให้เหตุผลว่าศาสนาพุทธเข้ากับคนไทยได้ดี เช่น คำสอนเรื่องบุญ กรรม วาสนา ล้วนให้คำอธิบายต่อการดำรงชีวิตของคนไทยได้เป็นอย่างดี ให้เหตุผลต่อสถานการณ์ในปัจจุบัน สิ่งที่เกิดขึ้นในอดีต (กรรม) เป็นต้น (อาจารย์ให้คำอธิบายที่คล้ายกันอย่างละเอียดมากในหนังสือเรื่อง “The Golden Peninsula: Culture and Adaptation in Mainland Southeast Asia”) แต่ผมคิดว่าคำอธิบายเหล่านี้ดูดีเกินไป เข้ารูปเข้ารอย/ลงล็อคเกินไป มิใช่คำอธิบายเชิงวิพากษ์ที่ชวนให้โต้แย้ง เกิดข้อถกเถียงในมุมมองอื่นๆ
มีบทความที่น่าสนใจมากที่เขียนและตีพิมพ์ไว้นานแล้ว เรื่อง “Local Leadership in Rural Thailand” (ขณะที่กำลังเขียนอยู่นี้ผมหาบทความนี้ไม่เจอ จึงเป็นการเขียนจากความจำ ซึ่งอาจผิดพลาดได้) จารย์คายส์พาดพิงถึงการเป็นผู้นำในหมู่บ้านที่เคยทำวิจัยในจังหวัดมหาสารคาม โดยกล่าวถึงลักษณะผู้นำในชุมชนที่อาจารย์แบ่งแยกไว้ 2-3 ประเภท ได้แก่ ก. ผู้นำที่รัฐเป็นผู้แต่งตั้ง สร้างขึ้น เช่น ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน ข. ผู้นำที่มีลักษณะเข้มแข็ง เก่งกล้า แกร่ง (จะเรียกว่าแบบ ‘นักเลง’ ก็อาจจะได้) เช่น นายฮ้อยผู้ต้อนฝูงวัวควาย ค. ผู้นำที่นำ ‘นวัตกรรม’ เข้าสู่ชุมชน เช่น พ่อค้าผู้นำสินค้า/สิ่งของใหม่ๆ หรือเครื่องไม้เครื่องมือใหม่ๆ มาสู่คนในชุมชน
โดยส่วนตัว ผมสนใจในเรื่องมานุษยวิทยาเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการค้า พออ่านเจอเรื่องพ่อค้าในชุมชนกับการเป็นผู้นำและนวัตกรรม ก็ทำให้ผมทึ่งมาก เพราะจารย์คายส์สังเกตเห็นการเปลี่ยนแปลง การปรากฏขึ้นของพัฒนาการบางอย่างในท้องถิ่นอีสานมาตั้งแต่ทศวรรษ 1960 แล้ว จึงไม่น่าประหลาดใจเลยที่อาจารย์เข้าใจพัฒนาการและการเปลี่ยนแปลงของคนอีสานได้เป็นอย่างดี และเป็นไปได้อย่างยิ่งว่าอาจารย์เห็นเรื่องเหล่านี้มาก่อนนักมานุษยวิทยาคนอื่นๆ เสียด้วย
เสียดายที่ผมไม่เคยเรียนหนังสือกับอาจารย์ และพบปะ/พูดคุย/ซักถามอาจารย์น้อยครั้งเกินไป
ด้วยความเคารพและคิดถึง
นิติ ภวัครพันธุ์
5 มกราคม 2565
ศาสตราจารย์ ดร.นิติ ภวัครพันธ์ุ
กรรมการประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
อดีตอาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย