ประชามติเรื่องเครื่องแบบนักศึกษา

ภาพ: สื่อประชาสัมพันธ์ของนักศึกษาในวิชา SO422 กระบวนการประชามติ ภาค 2/56

ยุกติ มุกดาวิจิตร

บทความที่เกี่ยวข้อง


อาจารย์ท่านหนึ่งในคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ธรรมศาสตร์ กำลังให้นักศึกษาในชั้นเรียนทำ “ประชามติ” เรื่องการแต่งกายของนักศึกษาในคณะ ผมเชื่อว่าท่านทำด้วยความบริสุทธิ์ใจ เชื่อว่าท่านเห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ เชื่อว่าท่านเห็นว่าการใช้เครื่องมือทางวิชาการมาตอบโจทย์ที่เป็นที่ถกเถียงกันในสังคม เป็นการทำให้วิชาการก้าวเข้ามาสู่สาธารณะ และเชื่อในเสรีภาพทางวิชาการของท่านในการจัดการเรียนการสอน

แต่เมื่อท่านก้าวออกมาสู่สังคม ท่านก็ย่อมต้องน้อมรับคำวิจารณ์จากสาธารณะ และหากท่านจะไม่ตอบโต้ประการใด ก็เป็นสิทธิ์ของท่าน ณ ที่นี้ ผมเพียงต้องการแสดงความเห็นในมุมที่ยังไม่เห็นมีผู้ใดกล่าวถึง

    1) ประชามติคืออะไร ในความเข้าใจของผม “ประชามติ” มีความหมายเป็นกิจกรรมทางการเมืองที่ “เป็นทางการ” หากจะทำในความหมายเคร่งครัด ต้องทำกันอย่างเป็นทางการ หากจะทำกันในฐานะเป็น “แบบฝึกหัดในวิชาเรียน” ผมคิดว่าไม่ควรเรียกว่าประชามติ ควรถือว่าเป็นเพียงการ “หยั่งเสียง” (poll) ไม่มีฐานะเป็นทางการ แค่แสดงความคิดความรู้สึกเฉพาะช่วงเวลา

    ถามว่า เรื่องการแต่งกายของนักศึกษามีความเป็นทางการหรือไม่ ในแง่หนึ่งมันก็มี หากแต่ว่าอันที่จริง เรื่องนี้ก็มีระเบียบมหาวิทยาลัยอยู่แล้ว และหากจะทำ “ประชามติ” จริงๆ ก็ควรจะทำโดยมหาวิทยาลัย หรือคณะ ไม่ใช่จากแบบฝึกหัดรายวิชา

    2) การทำประชามติเป็นกิจกรรมทาง “การเมือง” ในความหมายที่ว่า ประชาคมหนึ่งเลือกตัดสินใจร่วมกันว่าจะยินยอมพร้อมใจกันทำอะไรบางอย่างร่วมกันหลังประชามติ ฉะนั้น ประเด็นที่จะทำประชามติจึงต้องถูกกลั่นกรอง ถกเถียงกันโดยสังคมก่อนว่า สมควรทำประชามติหรือไม่ ไม่ใช่เพียงเพราะเห็นว่าเป็นเรื่องน่าสนใจ ก็หยิบมาทำประชามติ

    ถามว่า เรื่องการแต่งกายของนักศึกษา ซึ่งเป็นที่สนใจอยู่นี้ ได้รับการถกเถียงกันเพียงพอหรือยัง เป็นที่รับรู้กันเพียงพอหรือยัง แล้วประชาคมที่กำลังจะทำประชามตินี้ ยินยอมพร้อมใจกันหรือไม่ว่าควรที่จะมีการทำประชามติในเรื่องนี้

สรุปแล้ว หากทำ poll ในคราบของ referendum ก็จะกลายเป็นว่าผู้จัดทำทึกทัก เหมาคิด ตู่เอาเองหรือเปล่า ว่าคะแนนจากการหยั่งเสียงมีฐานะที่เป็นทางการเสียขนาดนั้น หากไม่มีความยินยอมพร้อมใจต่อการทำประชามติ จะกลายเป็นการที่ผู้มีอำนาจใช้ “การหยั่งเสียง” มาครอบงำตู่เอาว่าเป็นการทำ “ประชามติ” หรือไม่ จะกลายเป็นการใช้เครื่องมือที่ดูเป็นประชาธิปไตย มารับใช้ระบอบอำนาจนิยมหรือไม่

ท้ายสุดแล้ว ผู้จัดทำควรเรียกกิจกรรมนี้ว่า “ทำโพล” แม้จะทำในวิชา “ประชามติ” ดีกว่าไหม