เกาหลี: จากมุมมองของผู้ผ่านไปเยือน

วิชัย แสงดาวฉาย*
นักวิชาการศึกษา ชำนาญการพิเศษ
คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ผู้คนแออัดย่าน shopping centre


สภาพเศรษฐกิจ

เกาหลีใต้ยังคงเป็นชาติที่มีเศรษฐกิจที่ใหญ่โต แม้อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจจะชะลอตัว และยังคงเป็นประเทศอุตสาหกรรมชั้นแนวหน้า โดยเฉพาะนวัตกรรมด้านผลิตภัณฑ์อีเลคโทรนิคส์และการสื่อสาร เช่น ผลิตภัณฑ์ของบริษัท sumsung ที่ตีตลาดการค้าไปทั่วโลกอย่างรวดเร็วภายในเวลาเพียง 1 – 2 ทศวรรษ อุตสาหกรรมหนัก เช่น การผลิตรถยนต์ก็ขยายตัวมากและรวดเร็ว แม้จะยังคงเทียบกับประเทศญี่ปุ่น (ได้แก่ toyota honda เป็นต้น) ไม่ได้ก็ตาม เช่น รถยนต์ยี่ห้อ hundai KIA เป็นต้น ซึ่งส่งออกมากขึ้นและได้รับการตอบรับดีขึ้นตามลำดับ (แต่ในประเทศเกาหลี ประชาชนเกือบทั้งหมดใช้รถที่ผลิตภายในประเทศ โดยเฉพาะสองยี่ห้อดังกล่าว เป็นที่นิยมมาก มีการใช้รถจากญี่ปุ่นและยุโรป หรืออเมริกาน้อยมาก และราคารถนำเข้าก็แพงมากด้วย)

กล่าวได้ว่า เกาหลีใต้เป็นประเทศที่มีระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมที่เข้มแข็งและใหญ่โต มีระบบโครงสร้างพื้นฐานที่ดี ได้แก่ ถนนหนทาง ระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน รวมถึงการลงทุนด้านการศึกษาสูง รายได้ของประชากรในเขตเมืองแม้ต่างสาขาอาชีพอยู่ที่ประมาณ 50,000 บาทต่อคน ต่อเดือน ในขณะที่ค่าครองชีพก็สูงมาก ติดอันดับต้นๆของโลกด้วยเช่นกัน


การขยายเมืองอย่างต่อเนื่อง


สังคม และวัฒนธรรม

สังคมของเกาหลีใต้ มีความเติบโตและขยายตัวอย่างรวดเร็วของคนระดับชนชั้นกลาง ซึ่งมารองรับกับเศรษฐกิจอุตสาหกรรมและการค้าที่ขยายตัว คนหนุ่มสาวรุ่นใหม่มุ่งหน้าเข้าสู่งานภาคอุตสาหกรรมการค้าและบริการอย่างขนานใหญ่ (ต้องกล่าวไว้ในที่นี่ด้วยว่า คนหนุ่มสาวรุ่นใหม่มีรูปร่างทางกายภาพที่สูงใหญ่กว่าคนรุ่นก่อนอย่างเห็นได้ชัด เฉลี่ยความสูงผู้ชายอยู่ที่ 180 ซม.และผู้หญิงอยู่ที่ 170 ซม. ผิวขาว หน้าตาดี และส่วนใหญ่ ประมาณ 80 % ทำศัลยกรรมใบหน้า ทั้งชายและหญิง) ส่วนคนชราเกษียณอายุหรือวัยกลางคนขึ้นไปก็ได้รับการจ้างงานอย่างดีในภาคงานบริการ เช่น ทำความสะอาดสถานที่ พนักงานรักษาความปลอดภัย ทำอาหาร ค้าขาย พนักงานขับรถ เป็นต้น ทั้งนี้ยังมีผู้สูงอายุบางส่วนที่เกษียณอายุหรือลาออกจากงานก่อนเกษียณ ผันตัวเองมาทำงานอาสาสมัครให้กับสังคมอย่างจริงจัง ได้แก่ ช่วยกำกับดูแลการจราจร ช่วยดูแลเด็กเล็กในการไปโรงเรียน เป็นต้น

รถเก็บวัสดุใช้แล้ว และคนกวาดขยะของรัฐ


อย่างไรก็ตาม สังคมเกาหลียังคงมีความเครียดสูงจากการทำงานและวัฒนธรรมการใช้ชีวิต ผู้คนในวัยทำงานจะทำงานหนักและจริงจังมากในทุกอาชีพและทุกระดับงาน และจะดื่มแอลกอฮอล์และสูบบุหรี่จัดโดยเฉพาะผู้ชาย (ผู้หญิงจำนวนไม่น้อยเป็นแม่บ้าน)

ผู้คนออกท่องราตรีกันมากมาย



ใบปลิวเชิญชวนให้เที่ยวดื่ม กิน…เกลื่อนถนน



คนเมาสุราแล้วนอนข้างทางเท้า



จากการเดินสำรวจใน 2 คืนแรกที่ไปพักในโรงแรมย่านแหล่งสถานเริงรมย์ ชานกรุงโซล ปรากฏว่า มีผู้คนจำนวนมากนับพัน (ส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย) ออกมาดื่มกินกันอย่างเอกเกริกและเมามาย ถึงขนาดนอนหลับข้างทางเท้าในเช้าวันรุ่งขึ้น รวมทั้งมีการแอบขายบริการทางเพศอยู่ด้วย (มีคนเดินมาถามข้าพเจ้าว่าต้องการซื้อบริการทางเพศหรือไม่ แต่พอทราบว่าเป็นคนไทย ไม่ใช่จีนหรือญี่ปุ่น ชายดังกล่าวก็เดินจากไป) ส่วนวัยรุ่นทั้งชายและหญิงเข้าคิวกันยาวเพื่อรอตรวจสอบบัตรประชาชนก่อนเข้าไปดื่ม – กิน – เต้นรำ ในบาร์ ไนต์คลับ และผับขนาดต่างๆกัน ในขณะเดียวกันก็สามารถพบเห็นคนชรา หรือชายกลางคนท่าทางมอมแมม มาพร้อมรถเข็นหรือรถจักรยานมาคอบเก็บกล่องกระดาษ ขวดพลาสติก ตามกองขยะหน้าสถานเริงรมย์หรือซอกตึก หลายรายมากันในยามดึกสงัดหลังเที่ยงคืน ซึ่งดูเหมือนเป็นอาชีพของคนจนในหลายๆประเทศทั่วโลกไปเสียแล้ว (รวมถึงอาชีพขอทานของชายชราที่อยู่หน้าวัดกลางกรุงโซลด้วย)

ขอทานชราหน้าวัดกลางกรุงโซล



สำหรับวัฒนธรรมการแต่งกาย วัยรุ่นชายหญิง ชาวเกาหลีแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าทันสมัยมาก คล้ายวัยรุ่นญี่ปุ่น ซึ่งมีอิทธิพลต่อการแต่งกายของวัยรุ่นทั่วเอเชีย ในขณะที่วัยทำงานแต่งกายสุภาพ เรียบร้อยและดูภูมิฐาน เช่น ผู้ชายใส่สูท ผู้หญิงใส่กระโปรงสีสันสบายตา ส่วนชุดประจำชาติมีใส่เฉพาะในเทศกาลหรือโอกาสและสถานที่เฉพาะเท่านั้น

ด้านวัฒนธรรมการกิน ยังคงสืบเนื่องกันมาจากอดีตไกลโพ้น โดยมีการประยุกต์เรื่องการทำอาหารไม่มาก กล่าวคือ ผู้คนส่วนใหญ่ยังคงกินอาหารประจำชาติ เช่น กิมจิ (ผักดองต่างๆ) หรืออาหารประเภท ปิ้ง ต้ม ย่าง เป็นหลัก เช่น เนื้อย่างบนกระทะร้อน สุกี้สไตล์เกาหลี ไก่ตุ๋นโสม ข้าวยำสไตล์เกาหลี เป็นต้น ซึ่งรสชาติออกไปทางจืดเป็นหลักเมื่อเปรียบเทียบกับอาหารไทย

และสุดท้ายวัฒนธรรมการใช้ชีวิตบนถนนของคนทั่วไป จัดว่ามีระเบียบวินัย และเคารพกฎจราจรดีมากชาติหนึ่งในโลก แม้ว่าบางทีผู้คนจะเร่งรีบเดินขึ้นรถ หรือซื้อของจนแลดูวุ่นวายและมารยาทไม่ดีนักเมื่อเดินชนกัน แต่ก็จะไม่ทะเลาะเบาะแว้งกันรุนแรงจนถึงขั้นลงมือลงไม้กันง่ายๆ แต่ความจริงจังในการดำเนินชีวิตประจำวัน กลายเป็นวัฒนธรรมหรืออัตลักษณ์ที่ติดตัวชาวเกาหลีไปแล้ว ซึ่งดูเหมือนเป็นอย่างนี้มาหลายทศวรรษ และยังคงดำเนินต่อไปควบคู่กับสังคมโลกาภิวัฒน์อย่างกลมกลืนกันไปเช่นนี้


* บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของรายงานความรู้ที่ได้รับจากการศึกษาดูงาน ณ สาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้) วันที่ 23 – 27 พฤษภาคม 2555