เวียดนามในแผนที่ ค.ศ. 1656
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เผยแพร่ครั้งแรกบน Facebook วันที่ 30 สิงหาคม 2555
เผยแพร่ครั้งแรกใน facebook ของคุณธวัชชัย ตั้งศิริวานิช (Thavatchai Tangsirivanich)
อ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้จาก FB photo ของคุณธวัชชัย
เมื่อมาสังเกตดูดีๆ อีกที เห็นอะไรๆ น่าสนใจหลายอย่างในส่วนของดินแดนที่เราเรียกกันว่า “เวียดนาม” ปัจจุบันจากแผนที่ของคุณธวัชชัย ตั้งศิริวานิช 5 ประเด็นด้วยกัน
(1) แผนที่แบ่งเวียดนามออกเป็นสองส่วน Cochinchine หรือโคชินไชนา กับ Tunquim หรือตงแกง (Tongkin หรือ Đông Kinh ในภาษาเวียดนาม หรือตังเกี๋ย ในภาษาไทย)
ที่แบ่งอย่างน้ีแสดงให้เห็นถึงอำนาจของเวียดนามสองฝ่ายในขณะนั้น ซึ่งแบ่งเป็นอำนาจของเจ้าตระกูล Trịnh ที่ครองอยู่ทางเหนือของเวียดนามบริเวณลุ่มนำ้แดง กับอำนาจของเจ้าตระกูล Nguyễn ซึ่งครองอยู่ทางใต้ลงมา การแบ่งแยกนี้เกิดขึ้นตั้งแต่ศตวรรษที่ 16 ต่อเนื่องมาจนถึงศตวรรษที่ 18 แต่โดยทางการแล้ว ยังนับว่าอยู่ในสมัยราชวงค์เล (Lê) แผนที่นี้จึงแสดงการแบ่งแยกอำนาจนี้ในระยะเดียวกับที่เกิดการแยกอำนาจอย่างชัดเจน
(2) ที่น่าสนใจอีกจุดคือ ชื่อทะเล Ocean Oriental ที่รัฐบาลเวียดนามปัจจุบันต้องชอบใจ เนื่องจากความขัดแย้งเรื่องเกาะในทะเลที่เราเรียกกันในปัจจุบันว่า South China Sea หรือทะเลจีนใต้ ขณะที่รัฐบาลเวียดนามยืนยันอย่างหนักแน่นว่าจะต้องเรียกทะเลนี้ว่าทะเลตะวันออก (Biển Đông) เพื่อไม่ให้จีนเหมาเอาได้ว่า เกาะแก่งใดๆ ที่อยู่ในทะเลนี้เป็นของจีน
(3) ส่วนปลายสุดของดินแดนเวียดนามน่าสนใจอีกสองส่วน คือดินแดนที่ถูกระบุในแผนที่ว่า
Chiampaa หรือจามปา แม้ว่าจะอยู่เป็นส่วนหนึ่งของโคชินไชนาหรือเวียดนามใต้แล้ว แต่การที่ชื่อเมืองหนึ่งถูกเรียกตามชื่ออาณาจักรโบราณ แสดงถิ่นนี้ยังคงเป็นถิ่นของชาวจามปาอยู่ บริเวณนี้ใกล้เคียงกับเมืองญาจาง (Nha Trang) ในปัจจุบัน
(4) ใต้ลงไปอีก คือตอนปลายของแม่น้ำโขง จะเห็นว่าแผนที่ระบุว่าเป็นเขตอำนาจของ Cambodia แสดงว่าขณะนั้น อำนาจของเวียดนามใต้ยังครอบคลุมมาไม่ถึงบริเวณลุ่มน้ำโขงตอนปลาย อย่างน้อยก็ไม่จนกว่าจะล่วงมาถึงปลายศตวรรษที่ 17 ที่ขุนนางตระกูลเหงวียนจะให้ชาวจีนอพยพเข้าไปอยู่ในดินแดนแถบนี้ โดยเฉพาอย่างยิ่งที่ไซ่ง่อน ทุกวันนี้เราจึงยังพบชาว “กรอม” หรือชาวขแมร์ที่นับถือพุทธศาสนานิกายเถรวาท อาศัยอยู่เป็นจำนวนมากในเวียดนามใต้รอบๆ ไซ่ง่อน
(5) อีก 4 คำ ที่ปรากฏในแผนที่เวียดนามที่น่าสนใจคือ Kecio, Kemois, Faifo และ Pulocacem
แผนที่เก่านี้ให้ความรู้เกี่ยวกับภูมิศาสตร์การเมืองโบราณได้ดีจริงๆ ครับ