มานุษยวิทยา-สังคมวิทยา-ไทยศึกษาเพื่อใคร


ภาพ: สมัคร์ กอเซ็ม

ยุกติ มุกดาวิจิตร

บันทึกจากการเสวนาหัวข้อ “สังคมวิทยาและมานุษยวิทยา กับ ไทยศึกษา”
ในงานประชุมวิชาการ “สะท้อน ย้อนคิด สังคมวิทยาและมานุษยวิทยา เชียงใหม่”
จัดโดย ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ร่วมกับ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) และ สำนักพิมพ์คบไฟ
วันที่ 21 กันยายน พ.ศ.2555 ณ ห้องประชุมคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่


เมื่อเร็วๆ นี้ เพื่อนนอกแวดวงวิชาการคนหนึ่งถามผมว่า “วิชามานุษยวิทยาทำอะไร” ผมตอบว่า “มานุษยวิทยาต้องการเข้าใจชาวบ้าน ชาวเมือง ไม่ว่าชาวอะไรก็อยากเข้าใจทั้งนั้นแหละ” เขาถามต่อว่า “จริงๆ แล้วนักมานุษยวิทยาทำอะไร มีจุดยืนต่อสังคมอย่างไร”

ผมตอบ “นักมานุษยวิทยาแต่ละคนมีจุดยืนแตกต่างกันไป แต่สำหรับผม มานุษยวิทยาต้องนำมุมมองจากคนสามัญ มาวิจารณ์มุมมองของผู้มีอำนาจ”

เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา (21-22 กันยายน 2555) ผมมีโอกาสได้ทบทวนบทสนทนาข้างต้นอีกครั้ง ในงานสัมมนาทางวิชาการทางสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ งานนี้รวบรวมนักวิชาการด้านนี้และสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องมาอย่างคับคั่ง ทั้งผู้นำเสนอและผู้ฟังล้วนเป็นมิตรสหาย ศิษย์ ครู ของกันและกันอย่างต่อเนื่องยาวนาน บรรยากาศของมิตรภาพและการถกเถียงทางวิชาการนี้มีขึ้นได้ยาก หากไม่ใช่ด้วยความเคารพรักที่วงการนี้มีต่ออาจารย์อานันท์ กาญจนพันธ์ุ

นักวิชาการหลายท่านเสนอความคิดที่เป็นบทสนทนาสืบเนื่องหรือกระทั่งเกินเลยไปจากผลงานของอาจารย์อานันท์ (ซึ่งปล่อยงานออกมาอีกถึง 4 เล่มใหญ่) ประเด็นที่ขยายความรู้ผมมีมากมาย ที่สะดุดใจและบันทึกไว้ทันได้แก่

  • สังคมวิทยาและมานุษยวิทยาสำนักเชียงใหม่เสนอเป็น “ทฤษฎีที่เอาใจใส่ต่อสังคม”
  • สำนักเชียงใหม่เป็นญาติกับสำนักท่าพระจันทร์ งานที่ท่าพระจันทร์อ้างเชียงใหม่ มักเป็นงานด้านการต่อสู้ทางสังคม ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม
  • ภาษามานุษยวิทยาถูกใช้กันทั่วไปตามบ้านร้านตลาด
  • ศาสตร์ทางสังคมและมนุษยศาสตร์ล้วนส่องทางแก่กัน เชื่อมโยงกัน บางทีเราน่าจะเลิกล้มพรมแดนของสาขาวิชากันเสียที
  • ความรู้ทางสังคมศาสตร์ควรเรียนรู้จากมนุษยศาสตร์ ด้วยจินตนาการ จินตนาการไม่หมดจด ไม่สมบูรณ์ จึงเปิดให้กับการสร้างเสริมเติมต่อขยายความไปได้ไม่รู้จบ ไม่ตายตัว

  • ความเข้าใจของคนในสังคม (เช่น การทักทายของชาวเมารี) เป็นการให้ความหมายต่อข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์ (การแลบลิ้น) นักมานุษยวิทยาทำความเข้าใจสิ่งเหล่านี้ (การทักทายสร้างและสืบทอดความสัมพันธ์ของคนในสังคม) แต่ความจริงที่นักมานุษยวิทยาไม่ได้ค้นหา คือความจริงทางศาสนธรรม
  • ผู้หญิง (ทั้งผีและคน) เป็นพื้นฐานวัฒนธรรมอุษาคเนย์
  • อำนาจผีเป็นอำนาจที่นักมานุษยวิทยากลัว ไม่กล้าเข้าร่วม มันเบ็ดเสร็จ ต่อรองแทบไม่ได้ ได้รับการยกเว้นจากการตรวจสอบทัดทาน
  • นักมานุษยวิทยาอาจสำรวจจิตทั้งในระดับอัตวิสัย (รู้ได้อยู่คนเดียว) และภววิสัย (เข้าใจกันได้ทั่วไป ไม่เฉพาะตนคนเดียว)

  • นักสังคมวิทยาและนักมานุษยวิทยาไทยจำนวนมากถูกนักวิชาการอเมริกันใช้เป็นผู้ช่วยศึกษาสังคมไทยเพื่อต่อต้านขบวนการคอมมิวนิสต์ในยุคสงครามเวียดนาม
  • ส่วนหนึ่งของแนวคิด “ป่าชุมชน” มาจากความรู้เรื่องมานุษยวิทยาสิ่งแวดล้อม ที่นำเข้ามาจากมหาวิทยาลัยฮาวายอิ
  • ความรู้ของนักคิดไทยจำนวนหนึ่ง สร้างความเข้าใจสังคมไทยแก่นักวิชาการตะวันตก

  • ภาพถ่ายของนักมานุษยวิทยา สามารถสร้างตัวตนของนักมานุษยวิทยาขึ้นมาได้ เครื่องมือ วัตถุ เทคโนโลยี สร้างการรับรู้ถึงการมีอยู่ของนักมานุษยวิทยาในพื้นที่
  • ภาพถ่ายเป็นความสัมพันธ์ทางสังคม นอกเหนือจากปัญหาเรื่องการนำเสนอและไม่นำเสนอความจริงของภาพถ่ายแล้ว ภาพถ่ายเกิดมาจากและสามารถก่อให้เกิดสังคม


  • ส่วนผมเอง ทิ้งคำถามให้กับวงวิชาการนี้ไว้ว่า

  • งานที่ศึกษาสังคมไทยโดยฝรั่งมีเพียงน้อยนิดที่มีพลังสร้างความรู้ใหม่ให้กับสังคมศาสตร์โลก แต่ถึงกระนั้น งานของนักวิชาการไทยที่มุ่งศึกษาเฉพาะสังคมไทย มีส่วนในการผลิตความรู้ให้สังคมศาสตร์โลกแค่ไหน มีใครบ้างที่ผลิตความรู้ในระดับที่นักวิชาการนำไปใช้ศึกษาพื้นที่อื่นๆ นอกสังคมไทย
  • ในความสัมพันธ์ทางการผลิตเชิงวิชาการระดับโลก ผมสงสัยว่านักวิชาการไทยเป็นเพียงชนพื้นเมืองผู้ป้อนข้อมูลให้นักวิชาการในประเทศศูนย์กลางความรู้ (อเมริกา อังกฤษ ออสเตรเลีย) หรือจะมีส่วนในการร่วมสร้างความรู้ เป็นผู้ผลิตความรู้เองแค่ไหน
  • นักวิชาการไทยมักถามและถูกถามว่า จะนำความรู้ ทฤษฎีต่างๆ มาเข้าใจสังคมไทยได้อย่างไร แต่เคยถามไหมว่า ความเข้าใจสังคมไทยแบบไหนที่เคยถูกนำไปใช้เข้าใจสังคมอื่นๆ ในโลกนี้ได้ และจะทำอย่างไรให้ความเข้าใจสังคมไทย สามารถนำไปใช้ได้กับสังคมอื่นๆ ทั่วโลก เพื่อความเข้าใจมนุษยชาติมากขึ้นจากความเข้าใจสังคมไทย
  • ตัวตนทางวิชาการของสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาไทยก้าวไปทางไหน และกำลังจะเคลื่อนไปทางไหน เมื่อเทียบกับตัวตนทางวิชาการด้านนี้ในประเทศเพื่อนบ้าน
  • ไม่เป็นการเยินยอกันเกินไปนักเลยหากจะกล่าวว่า สังคมวิทยาและมานุษยวิทยาสำนักเชียงใหม่สร้างคุณูปการให้เกิดการเข้าใจสังคมไทยอย่างใหญ่หลวง แต่ที่ยิ่งไปกว่านั้นคือ ความรู้ของสำนักเชียงใหม่เป็นความรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงไปสู่สังคมที่ดีขึ้น

    ที่ผ่านมา สำนักเชียงใหม่มีส่วนในการสร้างบทสนทนากับแวดวงวิชาการโลก ในก้าวถัดไป ไม่เฉพาะสังคมไทย แต่ภูมิภาคอาเซียนและสังคมโลกกำลังรอดูว่า สำนักเชียงใหม่จะนำเสนอความรู้และทิศทางในการพัฒนาสังคมอย่างไรต่อไป

    (ขอบคุณเพื่อนๆ นักศึกษา และครูบาอาจารย์แห่งภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่จัดงานสัมมนาให้เพื่อนนักวิชการได้แลกเปลี่ยนความรู้)