Slow Anthropology: Negotiating Difference in Southeast Asia

ccscs-cseas-jonsson-

ccscs-cseas-jonsson-Slow Anthropology 1

ศูนย์ศึกษาสังคมและวัฒนธรรมร่วมสมัย
คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ร่วมกับ
ศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา
สถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ขอเชิญร่วมกิจกรรม เข้านอกออกใน อุษาคเนย์ ครั้งที่ 1

Slow Anthropology:
Negotiating Difference in Southeast Asia

โดย
Hjorleifur Jonsson
Associate Professor, School of Human Evolution and Social Change,
College of Liberal Arts and Sciences, Arizona State University

ร่วมอภิปรายโดย
รศ.ดร.นิติ ภวัครพันธุ์
ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

วันศุกร์ที่ 22 สิงหาคม 2557
เวลา 13.30-16.30 น.

ห้องประชุมโครงการปริญญาเอก คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
ชั้น 4 อาคารคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

* บรรยายเป็นภาษาอังกฤษ อภิปรายเป็นภาษาอังกฤษและไทย *


ในห้วงเวลาของการนับถอยหลังสู่ประชาคมอาเซียน มีการคาดการณ์ถึงความเปลี่ยนแปลงในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จากมุมมองที่แตกต่างหลากหลาย จริงหรือที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะ “ไม่เหมือนเดิม”? จริงหรือที่ผู้คนและวัฒนธรรม “ดั้งเดิม” ต่างๆ จะไม่สามารถต้านทานกระแสการเปลี่ยนแปลงระดับภูมิภาคและระดับโลก? ฯลฯ

มานุษยวิทยาเป็นสาขาวิชาหนึ่งที่มีบทบาทในการสร้างภาพตัวแทนของ “คนอื่น” ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น “คนอื่น” ที่แปลกต่าง น่าตื่นตา “คนอื่น” ที่ชวนโหยหาอดีต “คนอื่น” ที่ถูกกระทำจากอำนาจรัฐ “คนอื่น” ที่ต่อต้านขัดขืน ฯลฯ โดยเฉพาะงานศึกษาล่าสุดของเจมส์ ซี. สก็อตต์ (James C. Scott): The Art of not being Governed: An Anarchist History of Upland Southeast Asia ที่เสนอว่ากลุ่มคนที่อาศัยอยู่ในเขตพื้นที่สูงทางตอนเหนือของภูมิภาค เลือกที่จะหลีกหนีอำนาจกดขี่ของรัฐในเขตที่ราบลุ่ม ไปตั้งถิ่นฐานอยู่ในเขตหุบเขาที่ห่างไกล เพื่อแสวงหาอิสรภาพและความปลอดภัยจากการครอบงำของรัฐเหล่านั้น

อย่างไรก็ดี แม้ข้อเสนอของสก็อตต์จะให้คุณค่ากับยุทธวิธีในการจัดการกับอำนาจของชนกลุ่มน้อย แต่ขณะเดียวกันก็อาจยังติดอยู่กับกรอบความคิดที่พยายามหาอัตลักษณ์เฉพาะให้กับกลุ่มคนที่แตกต่างจากกลุ่มที่ครองอำนาจนำในสังคม การบรรยายหัวข้อ “Slow Anthropology: Negotiating Difference in Southeast Asia” โดย เยอร์ไลเฟอร์ จอนส์สัน (Hjorleifur Jonsson) นักมานุษยวิทยาจาก Arizona State University สหรัฐอเมริกา จะเป็นการเปิดบทสนทนาที่ท้าทายข้อเสนอของสก็อตต์ โดยชี้ให้เห็นว่าการเลือกตั้งถิ่นฐานในพื้นที่ที่แยกขาดจากชุมชนอื่นๆ ไม่ใช่แบบแผนที่พบได้ทั่วไปจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ในเอเชีย แต่พบว่ารูปแบบของการต่อรองกับความแตกต่างระหว่างกลุ่มคนต่างๆ ที่อาศัยอยู่ร่วมกันในภูมิภาคมีบทบาทสำคัญมากกว่า ภาพที่ดูเหมือนว่าคนที่สูงตัดขาดจากโลกภายนอก เป็นผลจากการล่มสลายทางสังคมเมื่อไม่นานมานี้

จอนส์สันมีประสบการณ์วิจัยเชิงชาติพันธุ์วรรณาอย่างเข้มข้นกับกลุ่มชาติพันธุ์เมี่ยนที่อาศัยอยู่ในประเทศลาว ไทย และสหรัฐอเมริกา เขาชี้ให้เห็นในผลงานล่าสุด Slow Anthropology: Negotiating Difference with the lu Mien (Cornell University Press, 2014) ว่าชุมชนเมี่ยนใช้การต่อรองความแตกต่างจัดการความสัมพันธ์กับกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ ที่อาศัยอยู่ทางตอนใต้ของจีนและในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาตั้งแต่ยุคก่อนสมัยใหม่ ผ่านห้วงเวลาอันโหดร้ายของสงครามอินโดจีน มาสู่การแสดงออกถึงวัฒนธรรม “ดั้งเดิม” ผ่านงานเทศกาลประจำหมู่บ้านในสังคมไทยร่วมสมัย ตลอดจนพลวัตของอัตลักษณ์ชุมชนผู้อพยพชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งปัจจุบันตั้งถิ่นฐานอยู่ในสหรัฐอเมริกา

การให้ความสำคัญกับรายละเอียดของเรื่องราวที่เชื่อมโยงผ่านยุคสมัยต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ ความทรงจำ หรือประสบการณ์ร่วมสมัย เป็นพื้นฐานของการศึกษาที่จอนส์สันเรียกว่าเป็น “Slow Anthropology” ซึ่งเรียกร้องให้การศึกษาทางมานุษยวิทยามีมิติที่เชื่อมโยงประสบการณ์ผู้ให้ข้อมูลกับผู้ศึกษาตลอดจนบริบทของสถานการณ์เฉพาะมากขึ้น และนำเสนอภาพตัวแทน “คนอื่น” โดยตระหนักถึงปฏิสัมพันธ์ต่อรองระหว่างกลุ่มต่างๆ ที่มีความแตกต่างทางสังคม เพื่อนำไปสู่กระบวนการแสวงหาความรู้ที่ละเอียดอ่อนพอจะเข้าใจว่าผู้คนที่หลากหลายแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีศักยภาพที่จะปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลง เลือกรับแนวคิดและการปฏิบัติที่หลากหลายของชุมชนร่วมท้องถิ่น ผ่านกระบวนการสร้างอัตลักษณ์ที่ซับซ้อนและสัมพันธ์กับความเปลี่ยนแปลงทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองได้อย่างไร

นับเป็นโอกาสอันดีที่ศูนย์ศึกษาสังคมและวัฒนธรรมร่วมสมัย ในฐานะหน่วยงานบริการวิชาการของคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ได้รับความร่วมมือจากศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา สถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประสานงานติดต่อเชิญรองศาสตราจารย์ เยอร์ไลเฟอร์ จอนส์สัน (Hjorleifur Jonsson) มาร่วมเสวนาว่าด้วยประเด็นจากผลงานหนังสือเล่มใหม่ล่าสุด ซึ่งนอกจากจะเป็นการเปิดโอกาสให้นักศึกษาคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ได้ติดตามการอภิปรายถกเถียงทางด้านมานุษยวิทยาในระดับนานาชาติแล้ว ยังถือเป็นการให้บริการวิชาการแก่นักวิชาการต่างสาขาและบุคคลทั่วไปที่มีความสนใจในประเด็นพลวัตของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในกระบวนการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนอีกด้วย