คน ค้น คน: จริยธรรมในการทำงานทางมานุษยวิทยา
ร่วมกับ สมาคมนักสังคมวิทยาและนักมานุษยวิทยาสยาม (สสมส.)
ขอเชิญร่วมเสวนาวิชาการ
คน ค้น คน: จริยธรรมในการทำงานทางมานุษยวิทยา
วันพุธที่ 19 มิถุนายน 2556 เวลา 12.30-16.30 น.
ณ ห้องประชุมคึกฤทธิ์ ปราโมช สถาบันไทยคดีศึกษา
ชั้น 9 อาคารเอนกประสงค์ 1 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
มานุษยวิทยาเป็นศาสตร์ที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับชีวิตผู้คนในหลายลักษณะ นับตั้งแต่ในส่วนของหัวข้อในการศึกษาที่คนคือใจกลางของศาสตร์แขนงนี้ ขณะที่วิธีการศึกษาทางมานุษยวิทยา เช่น การสัมภาษณ์พูดคุย การสังเกตการณ์ และการมีส่วนร่วม ส่งผลกระทบหรือก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในชีวิตของคนที่ถูกศึกษาอย่างสำคัญ ไม่นับรวมผลของการศึกษาหรือว่าความรู้ทางมานุษยวิทยาที่สามารถให้คุณให้โทษกับคนที่ถูกศึกษาโดยตรง จริยธรรมจึงเป็นสิ่งสำคัญในการทำงานทางมานุษยวิทยาไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าแนวคิดทฤษฎีและวิธีการศึกษาที่เข้มงวดรัดกุม
ถึงแม้มานุษยวิทยาให้ความสำคัญกับจริยธรรมอย่างมาก แต่ไม่ได้หมายความว่ามานุษยวิทยามีคู่มือจริยธรรมที่สามารถเป็นคำตอบให้กับทุกปัญหาหรือว่าไม่มีปัญหาจริยธรรมในแวดวงมานุษยวิทยา ปัญหานักมานุษยวิทยาละเมิดหรือหมิ่นเหม่จริยธรรมยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและดูเหมือนจะไม่สามารถหาข้อตกลงร่วมกันได้โดยง่าย ไม่ว่าจะเป็นการที่นักมานุษยวิทยาเข้าไปมีส่วนร่วมในปฏิบัติการทางทหารนับตั้งแต่สมัยสงครามเย็นมาจนกระทั่งถึงสงครามในอัฟกานิสถาน การที่นักมานุษยวิทยาสร้างภาพที่เป็นโทษแก่คนที่ถูกศึกษาดังกรณีชาวยาโนมามี หรือว่าการที่นักมานุษยวิทยาละเมิดสิทธิผู้ถูกศึกษา เช่น การนำตัวอย่างเลือดของผู้ถูกศึกษาไปใช้ในอีกโครงการวิจัยโดยไม่ได้ขออนุญาต ซึ่งก่อให้เกิดการถกเถียงและวิพากษ์วิจารณ์ว่ามีความเหมาะสมหรือไม่เพียงใด เป็นต้น
ศาสตราจารย์ Leslie E. Sponsel จากมหาวิทยาลัยฮาวาย สหรัฐอเมริกา เป็นนักมานุษยวิทยาที่รณรงค์เคลื่อนไหวในประเด็นจริยธรรมในการทำงานทางมานุษยวิทยามาอย่างต่อเนื่อง นอกจากการเปิดสอนวิชาว่าด้วยจริยธรรมในมานุษยวิทยา เขาเป็นผู้จัดวงเสวนาจริยธรรมในมานุษยวิทยาในการประชุมสมาคมมานุษยวิทยาอเมริกาอยู่หลายครั้ง และล่าสุดเขาได้เข้าชื่อคัดค้านการที่ The National Academy of Science ประเทศสหรัฐอเมริกา แต่งตั้งนักมานุษยวิทยาคนหนึ่งเป็นสมาชิกเพราะเขาเห็นว่านักมานุษยวิทยาคนดังกล่าวมีข้อบกพร่องทางจริยธรรมในการทำงานทางมานุษยวิทยาหลายประการ ถึงแม้การรณรงค์เคลื่อนไหวดังกล่าวไม่สามารถเปลี่ยนแปลงมติได้ แต่ก็ส่งผลให้แวดวงวิชาการและสังคมอเมริกันเกิดความตื่นตัวในปัญหาจริยธรรมในการศึกษามนุษย์เพิ่มขึ้น
ศูนย์ศึกษาสังคมและวัฒนธรรมร่วมสมัย คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสมาคมนักสังคมวิทยาและนักมานุษยวิทยาสยาม เห็นความสำคัญในประเด็นจริยธรรมในการศึกษาวิจัยมนุษย์ จึงเห็นควรให้ศาสตราจารย์ Leslie ได้เสนอประสบการณ์ แง่คิด และมุมมองในประเด็นดังกล่าวให้บุคคลและสถาบันที่เกี่ยวข้องและสนใจได้รับทราบ ขณะเดียวกันก็ให้นักสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาไทยได้ร่วมแลกเปลี่ยนทั้งในแง่ของภาพรวมโดยทั่วไปและในแง่ของความจำเพาะเจาะจงของสังคมไทย ไม่ว่าจะเป็นกรณีที่นักสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาไทยเข้าไปเกี่ยวข้องกับปัญหาทางสังคมและการเมืองหรือกรณีที่สถาบันวิชาการไทยเริ่มบังคับใช้มาตรการเกี่ยวกับจริยธรรมในการทำงานวิจัยในมนุษย์เพิ่มขึ้น ทั้งนี้เพื่อให้บุคคลและสถาบันดังกล่าวได้ตระหนักถึงปัญหาจริยธรรมในการศึกษามนุษย์ พร้อมกับร่วมกันคิดค้นหลักการ แนวทาง และมาตรการในการเผชิญกับปัญหาดังกล่าวร่วมกัน
กำหนดการ
12.30-13.00 น. ลงทะเบียน
13.00-13.15 น. กล่าวเปิดงานโดย อาจารย์ ดร.อนุสรณ์ อุณโณ
ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาสังคมและวัฒนธรรมร่วมสมัย
คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
13.15-16.00 น.
เสวนาวิชาการ
“คน ค้น คน: จริยธรรมในการทำงานทางมานุษยวิทยา”
วิทยากร
Professor Leslie E. Sponsel
Department of Anthropology, University of Hawai’i
ร่วมเสวนาแลกเปลี่ยนโดย
รองศาสตราจารย์ ดร.ไชยันต์ รัชชกูล
คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี
คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
กรรมการสมาคมนักสังคมวิทยาและนักมานุษยวิทยาสยาม
ดำเนินรายการโดย
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ยุกติ มุกดาวิจิตร
คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
เลขานุการสมาคมนักสังคมวิทยาและนักมานุษยวิทยาสยาม
16.00-16.30 น. อภิปราย/ซักถาม
**บรรยายเป็นภาษาอังกฤษ สรุปความภาษาไทย**