หนึ่งทศวรรษมานุษยวิทยาและสังคมวิทยากับการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้
คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ขอเชิญร่วมงานสัมมนาวิชาการประจำปี 2557
หนึ่งทศวรรษมานุษยวิทยาและสังคมวิทยา
กับการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้
วันศุกร์ที่ 19 กันยายน 2557 เวลา 09:00-17:00 น.
ห้องประชุมบุญชู โรจนเสถียร ชั้น 3 อาคารอเนกประสงค์ 1
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
รายการที่ 1 เวลา 9.30-12.00 น.
การเสนอผลการศึกษาจากการสังเคราะห์งานวิจัยทางมานุษยวิทยาและสังคมวิทยา
– ประเด็นเศรษฐกิจ สังคม และการจัดการทรัพยากร
อ.ดร.ชลิตา บัณฑุวงศ์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
– ประเด็นชาติพันธุ์และพหุวัฒนธรรม
ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ นักวิชาการอิสระ
– ประเด็นการเมือง
อ.เอกรินทร์ ต่วนศิริ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
– ประเด็นการจัดการความรุนแรง
อ.ซากีย์ พิทักษ์คุมพล สถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
ร่วมแลกเปลี่ยนและเสนอแนะโดย
ศ.ดร.นิธิเอียวศรีวงศ์ และ ผศ.ดร.ฉวีวรรณ ประจวบเหมาะ
ดำเนินรายการโดย อ.ดร.ทรงสิริ พุทธงชัย
คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
รายการที่ 2 เวลา 13.00-15.00 น.
ร่วมบอกเล่าแลกเปลี่ยนประสบการณ์การศึกษาวิจัย
จากผลงานที่เกี่ยวข้องสืบเนื่องจากประเด็นการสังเคราะห์ทั้ง 4 ประเด็น โดย
อ.ดร.เพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์
สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล
ณายิบ อาแวบือซา
สถาปนิกผู้สนใจในเรื่องราวท้องถิ่น
ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี
คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
ผศ.ดร.วิไลวรรณ จงวิไลเกษม
คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ดำเนินรายการโดย ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ
รายการที่ 3 เวลา 15.15-16.45 น.
เสวนาประเมินสถานะความรู้และการพัฒนาการศึกษาวิจัย
ทางมานุษยวิทยาและสังคมวิทยาเพื่อการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้
ร่วมเสวนาแลกเปลี่ยนโดย
ผศ.ดร.สุชาติ เศรษฐมาลินี
สถาบันศาสนา วัฒนธรรม และสันติภาพ มหาวิทยาลัยพายัพ
ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี
คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
อ.อิสมาอีล เบญจสมิทธิ์
ประธานศูนย์อนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม
รศ.ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)
ชวนเสวนาโดย ผศ.ดร.อนุสรณ์ อุณโณ คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
เหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ระลอกใหม่ที่ปะทุ “อย่างเป็นทางการ” ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 เป็นต้นมา ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในภูมิทัศน์งานศึกษาเกี่ยวกับจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างสำคัญ ประการแรก เช่นเดียวกับจำนวนของเหตุการณ์ความไม่สงบที่ลดลงอย่างมากในทศวรรษ 2530 ก่อนจะทวีจำนวนขึ้นอีกครั้ง งานศึกษาเกี่ยวกับจังหวัดชายแดนภาคใต้ทวีจำนวนขึ้นอย่างมากหลังเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบระลอกใหม่ ประมาณการณ์ว่าตั้งแต่ต้นปี พ.ศ. 2547 จนถึงปัจจุบันมีงานศึกษาเกี่ยวกับจังหวัดชายแดนภาคใต้จำนวนมากกว่า 3,000 ชิ้น กระทั้งเกิดการเปรียบเปรยแกมประชดประชันว่าการผลิตงานเหล่านี้มีลักษณะเป็น “อุตสาหกรรม” ประเภทหนึ่ง
ประการที่สอง แม้จะมีจำนวนมาก ทว่างานศึกษาส่วนใหญ่โดยเฉพาะในส่วนที่เขียนขึ้นหลังการปะทุของเหตุการณ์ความไม่สงบใหม่ๆ พุ่งความสนใจไปที่ตัวแทนเหตุการณ์เป็นหลัก งานศึกษาเหล่านี้มุ่งตอบคำถามว่า เหตุการณ์ความไม่สงบเป็นเรื่องเกี่ยวกับอะไร เหตุใดจึงทวีจำนวนขึ้น ใครเป็นผู้อยู่เบื้องหลัง และมีความต้องการอะไร ต่างไปจากงานศึกษาในช่วงก่อนหน้าซึ่งแม้จะมีจำนวนน้อยกว่าแต่ก็ครอบคลุมหัวข้อที่กว้างขวางและหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นประเด็นทางชาติพันธุ์ ศาสนา หรือว่าเศรษฐกิจและการเมือง ซึ่งเกี่ยวข้องสัมพันธ์หรือว่ามีผลต่อชีวิตของคนในพื้นที่ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าเหตุการณ์ความไม่สงบ นอกจากนี้ แม้ผู้เสียชีวิตและผู้ได้รับบาดเจ็บในเหตุการณ์ความไม่สงบระลอกใหม่ ส่วนใหญ่เป็นพลเรือนมลายูมุสลิมแทนที่จะเป็นเจ้าหน้าที่รัฐไทยพุทธเหมือนเมื่อสามสี่ทศวรรษก่อนหน้า ทว่ามีงานศึกษาเกี่ยวกับชีวิตของชาวมลายูมุสลิมโดยทั่วไป ภายใต้เหตุการณ์ความไม่สงบระลอกใหม่ในจำนวนและสัดส่วนที่ต่ำมาก
ประการที่สาม นอกจากในเชิงหัวข้อ งานศึกษาเกี่ยวกับจังหวัดชายแดนภาคใต้ภายใต้เหตุการณ์ความไม่สงบระลอกใหม่กระจุกตัวในเชิงสาขาวิชา งานจำนวนมากเป็นงานศึกษาทางประวัติศาสตร์เพราะเหตุการณ์ความไม่สงบในปัจจุบันหยั่งรากลึกมากจากเหตุการณ์ในอดีต ขณะที่งานที่มีจำนวนใกล้เคียงกันคืองานศึกษาทางด้านรัฐศาสตร์เพราะเหตุการณ์ความไม่สงบในแง่หนึ่งคือ ความขัดแย้งทางการเมือง อย่างไรก็ดี งานศึกษาทางด้านมานุษยวิทยารวมทั้งสังคมวิทยากลับมีจำนวนไม่มากโดยเฉพาะเมื่อคำนึงถึงข้อเท็จจริงที่ว่าเหตุการณ์ความไม่สงบระลอกใหม่ได้กระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวันของคนสามัญอย่างสำคัญ ซึ่งเป็นประเด็นปัญหาทางมานุษยวิทยาและสังคมวิทยาโดยตรง นอกจากนี้ การที่ผู้ก่อความไม่สงบได้เปิดเผยตัวและเข้าสู่กระบวนการเจรจากับรัฐไทยส่งผลให้ความสนใจในระยะหลังไปกระจุกอยู่ที่ผู้ก่อความไม่สงบหรือขบวนการเคลื่อนไหวและกระบวนการเจรจา ขณะที่ชีวิตประจำวันของคนสามัญยิ่งหลุดไปจากความสนใจของผู้สังเกตการณ์ฝ่ายต่างๆ ทั้งที่ผลกระทบจากเหตุการณ์ต่อชีวิตของคนเหล่านี้ไม่ได้ลดลงแต่อย่างใด
คำถามจึงเป็นว่าเหตุใดงานศึกษาเกี่ยวกับชีวิตคนโดยเฉพาะชาวมลายูมุสลิมภายใต้เหตุการณ์ความไม่สงบระลอกใหม่ หรืออีกนัยหนึ่งคืองานศึกษาทางด้านมานุษยวิทยาและสังคมวิทยา จึงไม่ได้สัดส่วนกับสภาวการณ์ที่เป็นอยู่ เป็นเพราะนักมานุษยวิทยาและนักสังคมวิทยามีจำนวนไม่มากเมื่อเทียบกับนักวิชาการสาขาอื่นอย่างนั้นหรือจึงส่งผลให้มีงานศึกษาออกมาน้อยตามไปด้วย หรือเป็นเพราะนักมานุษยวิทยาและนักสังคมวิทยาพุ่งความสนใจไปยังประเด็นอื่นหรือมีวิธีทำความเข้าใจปัญหาในอีกลักษณะ งานที่ผลิตออกมาจึงไม่ถูกนับรวมในงานศึกษากลุ่มนี้ หรือเป็นเพราะระเบียบวิธีของสาขามานุษยวิทยาที่เน้นการศึกษาภาคสนามไม่สามารถดำเนินการได้สะดวกภายใต้เหตุการณ์ความไม่สงบจึงส่งผลให้ไม่สู้มีงานศึกษาทางด้านมานุษยวิทยาออกมาตามไปด้วย ขณะที่สาขาวิชาอื่น เช่น ประวัติศาสตร์ สามารถดำเนินการศึกษาได้สะดวกกว่าเพราะอาศัยเอกสารเป็นหลัก จึงสามารถผลิตงานได้มากกว่า หรือเป็นเพราะว่าความรู้เชิงมานุษยวิทยาและสังคมวิทยาไม่มีประโยชน์ในการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมเมื่อเทียบกับงานบางสาขาวิชา เช่น รัฐศาสตร์ จึงส่งผลให้ไม่สู้ได้รับการสนับสนุนงบประมาณในการวิจัยและไม่ได้รับความสนใจจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คำถามเหล่านี้สำคัญทว่ายังไม่มีการสำรวจตรวจสอบอย่างจริงจังและเป็นระบบเท่าที่ควร