มายา(ทัศน)คติของโพล: วิธีวิทยาเพื่อพัฒนาตัวชี้วัด

Poster P
ใบปิด designed by @design

ศูนย์ศึกษาสังคมและวัฒนธรรมร่วมสมัย
คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ขอเชิญร่วมเสวนาชุดโครงการพัฒนาดัชนีชี้วัดความเป็นธรรมทางสังคม ครั้งที่ 2

มายา(ทัศน)คติของโพล: วิธีวิทยาเพื่อพัฒนาตัวชี้วัด

วันพุธที่ 27 สิงหาคม 2557 เวลา 09:00-12:00 น.
ห้องประชุมบุญชู โรจนเสถียร ชั้น 3 อาคารอเนกประสงค์ 1
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

ผู้ร่วมเสวนา

อาจารย์ ดร.นพดล กรรณิกา
ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพล มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ

คุณณัฐพล แย้มฉิม
ประธานดำเนินงานสวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สุวิชา เป้าอารีย์
ผู้อำนวยการศูนย์สำรวจความคิดเห็นของประชาชน “นิด้าโพล

อาจารย์ ดร.วรรณวิภางค์ มานะโชติพงษ์
คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ร่วมเสวนาและดำเนินรายการโดย
อาจารย์จุฬารัต ผดุงชีวิต
คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


ประเด็นปัญหาว่าด้วยความเป็นธรรมทางสังคมถือเป็นหนึ่งข้อถกเถียงใหญ่ในหลายสังคมมาทุกยุคสมัย ท่ามกลางความลื่นไหลในประเด็นดังกล่าว ได้มีการพยายามทบทวน ถกเถียงในส่วนที่เกี่ยวข้องกับมาตรฐาน ตัวชี้วัดความเป็นธรรม โดยก่อนที่จะนำไปสู่การสร้างตัวชี้วัดความเป็นธรรมทางสังคมนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเริ่มต้นจากการพัฒนากรอบแนวคิดผ่านองค์ความรู้ แนวคิดของสาขาวิชาซึ่งแตกต่างหลากหลายทั้งด้านปรัชญานิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ และมานุษยวิทยา ทั้งนี้เมื่อผ่านการทบทวนกรอบความรู้ พัฒนาแนวคิดในสาขาวิชาต่าง ๆ แล้วนั้น ทางด้านวิธีวิทยาในการพัฒนาตัวชี้วัดก็ถือได้ว่าเป็นอีกสิ่งหนึ่งซึ่งสำคัญและมีความจำเป็นต่อการสร้างตัวชี้วัดความเป็นธรรมทางสังคมในแง่ของวิธีปฏิบัติการ นำไปสู่การจัดทำดัชนีชี้วัดความเป็นธรรมทางสังคมต่อไป

เมื่อกล่าวถึงกระบวนการพัฒนาตัวชี้วัดนั้น ล้วนมีส่วนเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับการวิจัยทางสังคมศาสตร์ซึ่งหมายรวมถึงการวิจัยที่เกี่ยวข้องกับสังคม วัฒนธรรม และพฤติกรรมของมนุษย์ เช่น การวิจัยด้านปรัชญา สังคมวิทยา เศรษฐศาสตร์ เป็นต้น โดยจะมีกระบวนการวิจัยต่าง ๆ ที่ดำเนินการไปอย่างมีระเบียบและกฎเกณฑ์ในการเก็บรวบรวมข้อมูล ดำเนินงานกับข้อมูล วิเคราะห์และตีความหมายข้อมูล ซึ่งการวิจัยทางสังคมศาสตร์นี้ไม่สามารถวัดได้โดยตรงและควบคุมได้ยาก จึงต้องมีการวัดโดยใช้เครื่องมือวัดทางอ้อม ตัวอย่างเช่น ใช้แบบทดสอบ แบบสอบถาม การใช้ดัชนีตัวชี้วัด ฯลฯ และได้นำเอาวิธีการทางวิทยาศาสตร์มาช่วยในการวิจัย ทำให้ผลการวิจัยเป็นที่น่าเชื่อถือมากยิ่งขึ้น เพื่อมุ่งไปสู่การอธิบายปรากฏการณ์ทางสังคมที่นำไปใช้อธิบายได้โดยทั่วไป

ในกระบวนการพัฒนาตัวชี้วัดเพื่อศึกษาความเป็นธรรมทางสังคมจึงเป็นเรื่องที่สอดคล้องข้องเกี่ยวกับกระบวนการสร้างองค์ความรู้ การสำรวจตรวจสอบปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคม ตลอดจนเป็นเรื่องของระบบคิดและกระบวนการเรียนรู้ผ่านภาคปฏิบัติการของกระบวนการลงมือทำวิจัย จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่การพัฒนาตัวชี้วัดจะเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับวิธีวิทยาของการวิจัยผ่านเทคนิควิธีต่าง ๆ ตัวอย่างเช่น เทคนิคการเก็บรวบรวมข้อมูล เทคนิคการออกแบบการวิจัย เทคนิคการวัดและการสร้างตัวบ่งชี้ ตลอดจนเทคนิคการวิเคราะห์ข้อมูล ด้วยเหตุนี้ประเด็นวิธีวิทยาในการพัฒนาตัวชี้วัดจึงเป็นเรื่องสำคัญเพื่อจะนำไปสู่กระบวนการวิจัยที่มีประสิทธิภาพ สามารถอธิบายสร้างความเข้าใจปรากฏการณ์ทางสังคม และสร้างองค์ความรู้ใหม่ซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่สังคมได้เป็นอย่างมาก

ทั้งนี้ “วิธีวิทยาการพัฒนาตัวชี้วัด” จึงอาจมีความหมายครอบคลุมระเบียบวิธีดำเนินการทุกขั้นตอนในการทำวิจัย แต่อาจมีขั้นตอนเพิ่มมากขึ้นในส่วนที่เกี่ยวกับกระบวนการสร้างตัวแปร และการรวมตัวแปรเข้าเป็นตัวชี้วัดต่าง ๆ ตลอดจนการมุ่งเน้นที่กระบวนการตรวจสอบคุณภาพของตัวชี้วัดที่พัฒนาขึ้น โดยการศึกษาพัฒนาตัวชี้วัดความเป็นธรรมทางสังคมนั้น ล้วนต้องเกี่ยวข้องกับวิธีวิทยาของการวิจัยทางสังคม โดยเริ่มต้นตั้งแต่การกำหนดประเด็นปัญหาวิจัย การศึกษาทบทวนพัฒนาแนวคิดที่เกี่ยวข้องกับความเป็นธรรมทางสังคมผ่านมุมมองจากแนวคิดของสาขาวิชาต่างๆ การกำหนดกลุ่มประชากรและการเลือกกลุ่มตัวอย่าง การสร้างเครื่องมือวิจัย สร้างและพัฒนาตัวชี้วัด การรวบรวม การนำเสนอ ตลอดจนการวิเคราะห์และการแปลความหมายผลการวิเคราะห์ข้อมูล ซึ่งกระบวนการเหล่านี้ล้วนมีส่วนสำคัญในฐานะของเทคนิควิธีและระบบคิดที่ช่วยผลิตสร้างผลงานวิจัยด้านการศึกษาพัฒนาตัวชี้วัดความเป็นธรรมทางสังคม ให้มีประสิทธิภาพและเป็นประโยชน์ได้เป็นอย่างดี

การเสวนาเรื่อง “ความเป็นธรรมทางสังคม: วิธีวิทยาในการพัฒนาตัวชี้วัด” จึงน่าจะเป็นโอกาสอันดีสำหรับการทบทวนองค์ความรู้ในด้านวิธีวิทยาการวิจัยทั้งการเก็บรวบรวมข้อมูล การออกแบบการวิจัย การวัดและการสร้างตัวบ่งชี้ ตลอดจนการประมวลผลและวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจในแง่ของวิธีวิทยาการวิจัยทางสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการพัฒนาตัวชี้วัด ผ่านประสบการณ์จากบุคคล องค์กรที่ดำเนินงานด้านการจัดทำดัชนีตัวชี้วัดทางสังคมโดยตรง อันจะนำไปสู่การผลิตสร้างงานวิจัยที่จะจัดทำดัชนีตัวชี้วัดทางสังคมในประเด็นเรื่อง“ความเป็นธรรมทางสังคม” ต่อไป