มรดกทางวัฒนธรรมที่จับ (แตะ) ต้องไม่ได้
คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ขอเชิญร่วมเสวนาวิชาการ
มรดกทางวัฒนธรรมที่จับ (แตะ) ต้องไม่ได้
วันอังคารที่ 5 พฤศจิกายน 2556 เวลา 13.00-16.30 น.
ห้องประชุมบุญชู โรจนเสถียร
ชั้น 3 อาคารอเนกประสงค์ 1
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
ผู้ร่วมเสวนา
คุณพัทธนันท์ โอษฐ์เจษฎา || ห้องภาพเมืองสุรินทร์
ดร.ภาสกร อินทุมาร || คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ดร.ภูมินทร์ บุตรอินทร์ || คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
Dr. Alexandra Denes || สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล
ร่วมเสวนาและดำเนินรายการโดย
รศ.ดร.รัศมี ชูทรงเดช || คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร
ถึงจะหมายความได้หลากหลาย แต่วัฒนธรรมในความหมายกว้างครอบคลุมทั้งวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ ระบบคุณค่า ความเชื่อ และศิลปะนานาแขนง จึงมีทั้งด้านที่ชวนอภิรมย์และด้านที่ไม่พึงประสงค์ ขึ้นกับว่าจะพิจารณาจากจุดไหนหรือว่าจากสายตาของใคร นอกจากนี้ วัฒนธรรมยังเป็นสิ่งที่เคลื่อนไหวไปมาไม่หยุดนิ่ง มีทั้งส่วนที่เสื่อมสลาย ส่วนที่กลายรูป และส่วนที่เกิดขึ้นใหม่ สับเปลี่ยนหมุนเวียนกันไปเกินกว่าบุคคล องค์กร หรือหน่วยงานใดจะบงการได้อย่างเบ็ดเสร็จ ไม่ว่าความพยายามดังกล่าวจะวางอยู่บนเจตนาดีต่อวัฒนธรรมหรือว่ามีวัตถุประสงค์อื่นแอบแฝงอยู่ด้วยก็ตาม
อย่างไรก็ดี คุณสมบัติพื้นฐานของวัฒนธรรมที่ว่านี้ไม่สู้จะเป็นที่ตระหนักในสาธารณะและโดยเฉพาะอย่างยิ่งคือในเจ้าหน้าที่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพราะแม้มานุษยวิทยาจะผ่านยุคของมานุษยวิทยาว่าด้วยการกอบกู้วัฒนธรรมที่จะสาบสูญ (Salvage Anthropology) ของหนึ่งในผู้วางรากฐานสาขาวิชาเพราะความที่เห็นกันว่าแนวทางนี้มีข้อจำกัดมากกว่าศักยภาพ มาสู่ยุคของการให้ความสำคัญกับปฏิบัติการในชีวิตประจำวันของผู้คน และโดยเฉพาะอย่างยิ่งคือการเปิดโอกาสให้เจ้าของหรือผู้ปฏิบัติวัฒนธรรมรวมทั้งชุมชนและท้องถิ่นได้มีส่วนร่วมในการเก็บรักษา พัฒนา และใช้ประโยชน์จากวัฒนธรรม แทนที่จะปล่อยให้ถูกผูกขาดโดยผู้เชี่ยวชาญหรือว่าเจ้าหน้าที่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพราะเห็นว่าสิทธิความเป็นเจ้าของรวมทั้งความรู้และความเชี่ยวชาญควรอยู่ที่ผู้ปฏิบัติ กับเห็นว่าวัฒนธรรมเป็นอาณาบริเวณที่อำนาจปฏิบัติการอย่างซับซ้อนและแยบยล ไม่สามารถเผชิญด้วยสายตาและท่าทีเช่นเดิมได้อีกต่อไป ทว่าความเปลี่ยนแปลงที่ว่านี้เกิดขึ้นในแวดวงที่จำกัด สาธารณะและสื่อกระแสหลักยังคงเข้าใจว่าวัฒนธรรมมีเฉพาะด้านที่อ่อนช้อยงดงามและทำท่าจะสาบสูญ ขณะที่เจ้าหน้าที่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยภาพรวมยังคงดำเนินการเก็บรักษาวัฒนธรรมทั้งที่จับต้องได้และจับต้องไม่ได้โดยไม่ได้นำความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงในวงวิชาการที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะมานุษยวิทยามาร่วมพิจารณาในระดับที่มากพอ
ศูนย์ศึกษาสังคมและวัฒนธรรมร่วมสมัย คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีพันธกิจในการศึกษาและเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสังคมและวัฒนธรรมสู่สาธารณะและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตระหนักในปัญหาความรับรู้ ความเข้าใจ และวิธีปฏิบัติต่อวัฒนธรรมในลักษณะดังกล่าวที่ดำรงอยู่ในสังคมไทยมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เสนอร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยมรดกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ และคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการต่อร่างกฎหมายฉบับดังกล่าว ซึ่งก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง ทั้งในแง่ของเป้าหมายว่าแท้จริงแล้วร่างกฎหมายต้องการจะพิทักษ์วัฒนธรรมหรือสิ่งใด ในแง่ของวิธีปฏิบัติว่าองค์กรที่ทำหน้าที่พิทักษ์วัฒนธรรมควรผู้ปฏิบัติวัฒนธรรมหรือว่าคณะกรรมการที่แต่งตั้งโดยรัฐ ในแง่ของการฟ้องร้องดำเนินคดีว่าควรจะเป็นอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานใดและการดำเนินการดังกล่าวจะสร้างปัญหาใดตามมา หรือว่าแท้จริงแล้วก็ไม่ควรคิดถึงการพิทักษ์รักษาวัฒนธรรมในลักษณะเช่นนี้ตั้งแต่ต้น จะมีทางเลือกอื่นอีกหรือไม่ที่สามารถส่งเสริมและสนับสนุนวัฒนธรรมได้สอดคล้องกับเงื่อนไขและสภาพความเป็นจริง เป็นต้น ฉะนั้น ศูนย์ฯ จึงเห็นควรให้มีการจัดเสวนาเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้เพื่อให้บุคคลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวมทั้งผู้ที่สนใจได้ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นอันจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาแนวคิด หลักการ และวิธีปฏิบัติต่อ “วัฒนธรรมไทย” ที่สอดคล้องและเหมาะสมต่อไป