ผู้คน ความรู้สึกไม่มั่นคง พื้นที่สาธารณะ และปฏิบัติการทางวัฒนธรรมในชายแดนใต้

    saipin sac thai south research project

    ขอเชิญรับฟังและร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น
    ในการนำเสนอรายงานฉบับสมบูรณ์
    โครงการวิจัย

    ผู้คน ความรู้สึกไม่มั่นคง พื้นที่สาธารณะ
    และปฏิบัติการทางวัฒนธรรมในชายแดนใต้

    วันที่ 25 กันยายน 2556
    เวลา 09.30-12.00 น.
    ณ ห้องบรรยายโครงการปริญญาเอก คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
    ชั้น 4 อาคารคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ท่าพระจันทร์)


    โครงการวิจัย “ผู้คน ความไม่มั่นคง และปฏิบัติการทางวัฒนธรรมในชายแดนใต้” เป็นโครงการที่ได้รับทุนสนับสนุนจากศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ต่อเนื่องจากโครงการวิจัยชุด “มุสลิมชายแดนใต้ กับรัฐไทย: ความไม่มั่นคงและความเปลี่ยนแปลงจากมุมมองการเมืองวัฒนธรรมชาตินิยม” ซึ่งดำเนินการแล้วเสร็จเมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ.2554 การวิจัยดังกล่าวศึกษาการใช้ชีวิต ความคิด และปฏิบัติการของคนสองกลุ่มที่มีผลต่อการสร้างความสงบและความมั่นคงแก่ชุมชนในสามจังหวัดชายแดนใต้ คือทหารที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ และเยาวชนมลายูมุสลิม นักวิจัยพบว่าท่ามกลางการรายงานข่าวความรุนแรงรายวัน (การสังหาร การวางระเบิด) ทั้งทหารที่รัฐส่งลงไปปฏิบัติงานในพื้นที่และเยาวชนมลายูมุสลิม (ซึ่งถูกมองทั้งจากคนภายนอกและในพื้นที่สามจังหวัด) ต่างได้รับผลกระทบ (การดำเนินชีวิตประจำวัน กระทั่งชีวิต และทรัพย์สิน) จากความรุนแรงในพื้นที่ ทั้งสองฝ่ายดูเหมือนจะเห็นตรงกันว่าวิธีการที่ไม่ใช้กำลังเข้าประหัตประหารกันจะนำไปสู่การสร้างความไว้วางใจ และความร่วมมือในการแก้ปัญหาความรุนแรงในอนาคตได้

    โครงการวิจัย “ผู้คน ความไม่มั่นคง และปฏิบัติการทางวัฒนธรรมในชายแดนใต้” มีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจความเป็นไปได้ของการสร้างพื้นที่ทางสังคมในการทำสาธารณะประโยชน์ของคนกลุ่มต่างๆ ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ ที่มีเป้าหมายเพื่อบรรเทาการใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหาความขัดแย้ง และเปิดโอกาสให้คู่กรณี (รัฐชาติและประชาชน) มีโอกาสรับฟังข้อเสนอและเหตุผลของกันและกันผ่านโครงการวิจัยย่อย 5 โครงการ

    วัตถุประสงค์

    เพื่อเข้าใจผลกระทบทางอารมณ์ความรู้สึกของความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนใต้ที่มีต่อคนกลุ่มต่างๆ และความพยายามของคนเหล่านี้ ทั้งผู้มีส่วนในการแก้ปัญหาความไม่มั่นคงโดยตรง และประชาชนทั้งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ และจังหวัดใกล้เคียง ในการลดผลกระทบของความรุนแรง กระทั่งการพยายามสร้างพื้นที่ทางสังคมเพื่อสื่อสารความต้องการและข้อเสนอ รวมทั้งริเริ่มการกระทำการที่จะเป็นประโยชน์ต่อการแก้ปัญหาในอนาคต

    ผลที่คาดว่าจะได้รับ

    งานวิจัยชุดนี้เป็นการวิจัยพื้นฐาน เพื่อสร้างความรู้เกี่ยวกับผลกระทบของเหตุการณ์ความรุนแรงต่ออารมณ์ความรู้สึก วิถีชีวิตของประชาชนกลุ่มต่างๆ ทั้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และบริเวณใกล้เคียง ที่สำคัญกว่านั้นคือต้องการศึกษาความพยายามของประชาชนและเจ้าหน้าที่ของรัฐในการบรรเทาความขัดแย้งที่อาจนำไปสู่การแก้ปัญหาด้วยความรุนแรง ผ่านการสร้างอาณาบริเวณทางสังคมที่เปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่ของรัฐและประชาชนสามารถสื่อสารเจตนา ยื่นข้อเสนอเพื่อแก้ข้อขัดแย้ง ต่อรอง ให้เหตุผลจูงใจ ผ่านการสนทนาและการปฏิบัติ เพื่อสำรวจความเป็นไปได้ และข้อจำกัดของการสร้างเวทีสาธารณะ (public forum) และประชาสังคม ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้


    กำหนดการ

    09.30-10.00 น.

    ทหารกับปัญหายาเสพติดในพื้นที่ชายแดนใต้
    จันทรารัตน์ จันทรา

    10.00-10.30 น.
    พื้นที่กับการเคลื่อนไหวทางการเมืองในจังหวัดชายแดนภาคใต้:
    ศึกษากรณีการชุมนุมทางการเมืองของสมาพันธ์นิสิตนักศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (สนน.จชต.)

    ซากีย์ พิทักษ์คุมพล

    10.30-11.00 น.
    ชีวิตและพื้นที่ของเยาวชนผู้ใช้ยาเสพติดในจังหวัดชายแดนภาคใต้
    แพร ศิริศักดิ์ดำเกิง

    11.00-11.30 น.
    การย้ายถิ่น และการใช้ชีวิตของเยาวชนมลายูมุสลิม
    จากสามจังหวัชายแดนภาคใต้: กรณีศึกษานักศึกษามลายูมุสลิม
    มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา จังหวัดสงขลา

    ธรรมศาสตร์ โสตถิพันธุ์

    11.30-12.00 น.

    คนแก่และชีวิตในพื้นที่สาธารณะและการเปลี่ยนแปลงของเมืองหาดใหญ่:
    กรณีศึกษาผู้สูงอายุเชื้อสายจีนที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา

    สุทิศา ปลื้มปิติวิริยะเวช

    ร่วมวิจารณ์โดย
    ดร.ปริตตา เฉลิมเผ่า กออนันตกูล

    ศ.ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์
    สาขาวิชาการเมืองการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ

    ดร.สายพิณ ศุพุทธมงคล
    คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์