วัดสายตา: งานนำเสนอผลงานระดับปริญญาตรีของนักศึกษาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาทั่วประเทศ


ออกแบบใบปิด: สรัช สินธุประมา


ปีปีหนึ่ง นักศึกษาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาทั่วประเทศลงพื้นที่เก็บข้อมูล คุยกับคนที่อยู่นอกสายตาสังคมเป็นจำนวนนับไม่ถ้วน ผลิตงานที่สะท้อนภาพสังคมและวัฒนธรรมด้วยมุมมองที่หลากหลายเกินจะนึกฝัน บ้างก็สำรวจลงไปในระบบคิด ความเชื่อ ค่านิยมที่คนทั่วไปแทบไม่เคยสงสัยมาก่อนว่ามีที่มาที่ไปหรือมีอำนาจอะไรอยู่เบื้องหลังสิ่งเล็กๆ น้อยๆ เหล่านั้น

แน่นอกว่าผลงานระดับปริญญาตรีที่ปั่นโต้รุ่งกันบ้าง เผากันบ้าง เมื่อเทียบกับงานศึกษาระดับที่สูงกว่าก็ดูเหมือนเป็นการละเล่นเสียมากกว่างานวิจัย เราหยิบจับทฤษฎีใหญ่โตมาใช้อย่างเคอะเขิน และบ่อยครั้งก็เขียนงานที่สับสน วกวนจนน่าอาย

แต่แม้ว่างานเล็กๆ ตลอดรายทางหลักสูตรเหล่านี้จะแทบไม่มีความสลักสำคัญในทางวิชาการ เป็นเพียงจุดเล็กจุดน้อยที่เบี้ยวบ้าง แหว่งบ้าง แต่ถ้าหากนำมารวมเข้าด้วยกันแล้วก็จะกลายภาพใหญ่ที่มีพลัง เกิดเป็นเรื่องราวที่นำทางให้เราเข้าใจโลกที่เราใช้ชีวิตอยู่มากขึ้น มองเห็นความเป็นไปของสังคมได้ชัดเจน และละเอียดอ่อนยิ่งขึ้น ทั้งยังจะเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนรุ่นต่อๆ ไปที่จะเข้ามาหาคำตอบว่า “สังคมวิทยา” จะเอาไปใช้ทำอะไร?? ทั้งๆ ที่เป็นมนุษย์อยู่แล้วยังจะเรียน “มานุษยวิทยา” ไปทำไมอีก??

เรื่องราวเหล่านี้จึงคู่ควรแก่การบอกเล่าสู่สาธารณะ น้ำพักน้ำแรงจากการลงสนาม ถ่ายรูป บันทึกเสียง ควรได้รับการเผยแพร่ เพื่อที่มุมมองเหล่านั้นจะได้ถูกขับเน้นให้คมชัดขึ้น เสียงเหล่านั้นจะได้ถูกขยายให้ดังขึ้น เรื่องราวของผู้คนที่มีเลือดเนื้อ สีสันที่เคลือบทับความคิดของสังคมจะได้ถูกนำออกมาสู่แสงสว่าง ซึ่งนั่นอาจเป็นสิ่งสำคัญที่สุดของการเรียนสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา

คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ขอเชิญร่วมงานสัมมนาเครือข่ายนักศึกษาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาระดับปริญญาตรี

วัดสายตา

วันอาทิตย์ที่ 27 มกราคม 2556
เวลา 8.30 – 17.00 น.
ณ ห้องเอนกประสงค์ ชั้น 1 คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต


กำหนดการ

08.30 – 09.00 น. คณบดีกล่าวเปิดงาน

09.00 – 10.30 น. เพ่งดูผู้คนลางๆ พื้นที่เลือนๆ

วิจารณ์ผลงานโดย อ.ดร.อนุสรณ์ อุณโณ

หญิงที่ถูกทำร้ายโดยคู่สมรส: กรณีศึกษาจากผู้ที่เข้ารับการบำบัดในโรงพยาบาล
และ ขอความช่วยเหลือจากมูลนิธิเพื่อนหญิง และ พมจ. ใน จังหวัดสงขลา และ จังหวัดปัตตานี

จุฑาทิพย์ ประทากมทอง
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

ทรงเจ้าฟ้อนผี: พื้นที่ เวลา อำนาจ และร่างกาย ของม้าขี่เพศที่สาม
กฤชณัท เขมรัฐสุริยวงษ์
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

คลับฟรายเดย์ ชุมชนในจิตนาการ
กนกวรรณ สมศิริวรางกูล และคณะ
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

พลวัตแห่งอัตลักษณ์และสำนึกความผูกพันของเยาวชนกะเหรี่ยง
ที่เป็นผู้ลี้ภัยและแรงงานต่างด้าวในอำเภอแม่สอด

ติณณภพจ์ สินสมบูรณ์ทอง || ธสุธิดา เทศทอง || และวิชญา โรจนพิทยากร
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

10.30 – 12.00 น. เบิ่ง แล มองสังคมด้วยตาไม่บอดสี

วิจารณ์ผลงานโดย รศ.ดร.จารุวรรณ ขำเพชร

หอพัก: ความหมายบนความหลากหลาย
วงศธร เจริญจรัสฤกษ์
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ความเป็นนานาชาติพันธุ์ในมหานครกรุงเทพ
นนทพงศ์ ตั้งตุลานนท์
มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

มอญชั้นสูง: กระบวนการหลอมสร้างนิยามความเป็นมอญในรัฐไทย
กฤษฎา แก้วเกลี้ยง
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

การก้าวข้ามความแตกต่างของกลุ่มชาติพันธ์ที่หลากหลาย
เจษฎาพงษ์ โกแสนตอ
มหาวิทยาลัยพายัพ

12.00 – 12.45 น. พักรับประทานอาหารกลางวัน

12.45 – 14.15 น. ตักน้ำใส่กระโหลกชะโงกดูคน
สาธารณะ ทรัพยากรท้องถิ่น และการเชื่อมต่อกับโลก

วิจารณ์ผลงานโดย อ.ดร.อนุสรณ์ อุณโณ || อาจารย์อุดมลักษณ์ ฮุ่นตระกูล

กิจกรรมการพัฒนาสังคมการสร้างจิตสาธารณะ
กรณีศึกษา ชมรมอาสาพัฒนามหาวิทยาลัยนเรศวร

นัชฎาพร ฮามสุโพธิ์ || ณัฐนรี โค้ววรรณศรี || อัจฉรา ทิวงษา || ดวงจันทร์ รอดสกุล
มหาวิทยาลัยนเรศวร

รัฐท้องถิ่นกับชุมชนบ้านผาบ่อง กระจกสะท้อนในการจัดการทรัพยากร
วณิชชยา สุขเจริญ
มหาวิทยาลัยพายัพ

น้ำ มายาคติ และวาทกรรม:
บททดลองวิเคราะห์ “สิทธิในน้ำ” ผ่านมุมมอง 4 สำนัก

ธีรพัฒน์ อังศุชวาล
คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

การเดินทางจากไร่บนดอยมาสู่ถ้วยในมือ กรณีศึกษา กาแฟดอยช้าง
นิรัณญาน์ นวินวรณกรณ์
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

14.15 – 14.30 น. พักรับประทานอาหารว่าง

14.30 – 16.00 น. เลือกที่รัก มักที่ชม ตัวตน ความชอบ และความชัง

วิจารณ์ผลงานโดย ผศ.ดร.ยุกติ มุกดาวิจิตร

วัวชนบางกอก: อัตลักษณ์แฟนคลับสโมสรฟุตบอลสงขลา
สงขลาเอฟซี และ วัวชนยูไนเตด

จิรกิตติ์ อรุณสวัสดิ์
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เด็กผี: บทสังเขปทางสังคมวิทยาว่าด้วยการสร้างสำนึกร่วม
ของกลุ่มผู้ชื่นชอบฟุตบอลอังกฤษในสังคมไทย

นนทปวิทธ์ ศรีเทพ
มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

นักมวย: พื้นที่ … ความหมาย … ชีวิต …
วิรินณ์ สมิท
ภาควิชาสังคมศาสตร์การพัฒนา มหาวิทยาลัยศิลปากร

แมลงสาบในสังคมวัฒนธรรม: ทำไมเราจึงรังเกียจแมลงสาบ?
ลีลา วรวุฒิสุนทร
คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

16.00 – 16.30 น. กล่าวปิดงาน โดย อาจารย์สุดแดน วิสุทธิลักษณ์