การตีพิมพ์ในวารสารวิชาการและการขอตำแหน่งทางวิชาการ
ภาพ: สุดแดน วิสุทธิลักษณ์
คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ขอเชิญเข้าร่วมโครงการอบรมเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้
การตีพิมพ์ในวารสารวิชาการและการขอตำแหน่งทางวิชาการ
ถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์การทำวิจัยเพื่อประโยชน์แก่คณาจารย์
บุคลากร นักศึกษา คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา และบุคคลที่สนใจทั่วไป
โดย
ศาสตราจารย์ ดร.เสมอชัย พูลสุวรรณ
ศาสตราจารย์สาขามานุษยวิทยา คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
เจ้าของผลงานวิจัยที่ได้รับการยกย่องจากหน่วยงานภายนอกมากมาย
วันพุธที่ 13 สิงหาคม 2557
เวลา 10.00-12.00 น.
ณ ห้องบรรยาย 2 โครงการบัณฑิตศึกษา
คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
อาคารเอนกประสงค์ 3 ชั้น 3
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
ประวัติและผลงาน ศาสตราจารย์ ดร.เสมอชัย พูลสุวรรณ
เรียบเรียงโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สุดแดน วิสุทธิลักษณ์
ศ.ดร.เสมอชัย พูลสุวรรณ จบการศึกษา วิทยาศาสตร์บัณฑิต ด้านการเกษตร จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จากนั้นได้รับทุนการศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ให้ไปศึกษาต่อจนได้รับปริญญามหาบัณฑิตและดุษฎีบัณฑิตด้านมานุษยวิทยาจากมหาวิทยาลัย Michigan, Ann Arbor สหรัฐอเมริกา
นับแต่ปี พ.ศ. 2530 ที่ ศ.ดร.เสมอชัย พูลสุวรรณ เข้ารับราชการที่คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จนถึงปัจจุบัน ผลงานทางวิชาการของท่าน สะท้อนให้เห็นถึงความสนใจในเรื่องต่างๆอย่างกว้างขวาง เริ่มตั้งแต่ การศึกษาเกี่ยวกับวิวัฒนาการของฮีโมโกลบินและเบต้าธาลัสซิเมีย, มาเลเรียในยุคก่อนประวัติศาสตร์ และประวัติศาสตร์ของพันธุศาสตร์ในประชากรของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยผ่านการวิเคราะห์ไมโตคอนเดรียล ดีเอนเอ (mitochondrial DNA)
และโดยอาศัยความรู้เกี่ยวกับวิวัฒนาการของมนุษย์ผ่านการศึกษาโรคมาเลเรียและพันธุศาสตร์โมเลกุล ชักนำให้ศาสตราจารย์ ดร.เสมอชัย หันมาสนใจไขปัญหาสำคัญของชาติว่าด้วยเรื่อง ถิ่นกำเนิดบรรพบุรุษของคนไทย ขณะเดียวกันก็ได้ใช้ “วิธีหาความจริงแบบวิทยาศาสตร์” เพื่อที่จะอธิบายประวัติศาสตร์และอัตลักษณ์ชาติพันธุ์ของกลุ่มคนพูดภาษาตระกูลไทในเอเชียอาคเนย์ตอนบนและจีนตอนใต้
ในช่วงเวลาเดียวกันนั้น ศ.ดร.เสมอชัย ยังได้ขยายความรู้ ความสนใจไปสู่การศึกษาระบบของสัญลักษณ์ในงานจิตรกรรมและประติมานวิทยาในพุทธศาสนา โดยเริ่มต้นงานสนามจากวัดสำคัญข้างมหาวิทยาลัย คือวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามและวัดสุทัศนเทพวราราม ก่อนที่จะขยายความสนใจใคร่รู้ไปในเขตแดนของประเทศเพื่อนบ้านโดยเฉพาะที่เมืองพุกาม สหภาพเมียนมาร์และไกลออกไปยังประเทศศรีลังกา บังคลาเทศและอินเดีย
กล่าวได้ว่า อาณาบริเวณความสนใจทางวิชาการของ ศ.ดร.เสมอชัย พูลสุวรรณ ขยายออกไปอย่างกว้างขวางและลึกซึ้งทั้งในขอบเขตของพื้นที่และเวลา เกี่ยวพันกับความรู้ในสามสาขาวิชา คือมานุษยวิทยากายภาพ ประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์ และสัญลักษณ์และประติมานวิทยาของพุทธศาสนา งานชิ้นสำคัญของแต่ละด้านได้รับการยกย่อง ในฐานะทีี่ช่วยให้คำตอบและสร้างคำถามใหม่ๆ ให้กับวงวิชาการ
ผลงานเรื่อง สัญลักษณ์ในงานจิตรกรรมไทย ระหว่างพุทธศตวรรษที่ 19-24 ได้รับรางวัลโครงการส่งเสริมการสร้างตำราขั้นดีมากของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และรางวัลมูลนิธิโตโยต้าประเทศไทยในปี พ.ศ. 2538 หนังสือเรื่อง รัฐฉาน (เมืองไต) พลวัตของชาติพันธุ์ในบริบทประวัติศาสตร์และสังคมการเมืองร่วมสมัย ได้รับรางวัลผลงานวิจัยระดับดีเด่น (สาขาสังคมวิทยา) ในปีพ.ศ. 2554 จากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ส่วนงานวิจัยเกี่ยวกับประวัติศาสตร์พันธุกรรมในประชากรของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เผยแพร่ในปี พ.ศ.2551 ก็ทำให้วงวิชาการสากล ต้องหันมาทบทวนในเรื่องความสัมพันธ์ทางชนชาติของกลุ่มคนพื้นเมืองในเอเชียอาคเนย์กันใหม่ ทั้งนี้ควรได้กล่าวถึงผลงานที่อยู่ระหว่างการศึกษาและกำลังจะตีพิมพ์ในวารสารชั้นนำระดับนานาชาติว่าด้วยเรื่อง “ความเปลี่ยนแปลงทางประติมานวิทยาของการเสวยวิมุติสุขของพระพุทธเจ้าภายหลังการตรัสรู้ในจิตรกรรมพุกามช่วงศตวรรษที่ 13” ซึ่งจะช่วยเติมช่องว่างทางความรู้ที่ขาดหายไปให้กับวงวิชาการสากล
ศ.ดร.เสมอชัย เขียนถึงกระบวนการหรือวิธีวิทยาเพื่อให้ได้มาซึ่งความรู้ ไว้ในหนังสือ วิทยาศาสตร์และความจริงในวัฒนธรรมไทย ตอนหนึ่งว่า “กระบวนการหรือวิธีวิทยาเพื่อให้ได้มาซึ่งความรู้ จำเป็นต้องมีความชัดเจน เริ่มจากการตั้งคำถาม การแสวงหาหลักฐานที่เป็นรูปธรรม ด้วยวิธีการที่โปร่งใส พร้อมที่จะถูกตรวจสอบการเชื่อมโยงหลักฐานเหล่านั้นเข้าด้วยกัน เพื่อตอบคำถามที่ตั้งไว้ โดยอาศัยการตีความที่สมเหตุสมผล และในที่สุดคือการน้อมรับฟังข้อวิจารณ์อย่างมีมนสิการ”
เส้นทางการแสวงหาความรู้ที่ผ่านมาของ ศ.ดร.เสมอชัย พูลสุวรรณ สะท้อนให้วงวิชาการได้เห็นว่า ท่ามกลางความโกลาหลอลหม่านและความซับซ้อนของข้อเท็จจริงนั้น มีระบบ ระเบียบแฝงฝังอยู่ซึ่งสามารถเข้าถึงและเข้าใจได้โดยผ่านวิธีการศึกษาที่ทุ่มเทและจริงจัง นอกจากนั้น การแสวงหาความรู้ผ่านความหลงใหลในความงามและศรัทธาช่วยให้ความรู้ที่ได้รับ มิใช่ความเป็นจริงอันแห้งแล้งไร้เสน่ห์ หากยังเป็นการงานแห่งความสุข
แม้ ศ.ดร.เสมอชัย พูลสุวรรณจะยอมรับโดยดุษฏีว่า เว้นแต่ความจริงอันเป็น “ปรมัตถ์” ในทางศาสนาเท่านั้นที่ไม่อาจเข้าถึงโดยได้ผ่านวิธีวิทยาหาความรู้แบบที่พวกเราคุ้นเคย แต่ท่านก็ได้ประกาศไว้อย่างชัดแจ้งอันเปี่ยมด้วยความหวังว่า ความรู้นอกเหนือไปจากนั้น ไม่อาจรอดพ้นความพยายามและความสามารถของชุมชนทางวิชาการไปได้
และด้วยความเชื่อมั่นเช่นนี้น่าจะเป็นความหวังและทางรอดของวงวิชาการไทย