ขอแสดงความยินดีกับดุษฎีบัณฑิต สาขามานุษยวิทยา รุ่นแรกของประเทศไทย
ดูรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับผู้จบการศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา จากคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ประจำปีการศึกษา 2558 ได้ ที่นี่
อาจารย์ ดร.เกียรติศักดิ์ บังเพลิง
อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
หัวข้อวิทยานิพนธ์ ชุมชนชาติพันธุ์ “บรู” ร่วมสมัยบนพื้นที่ชายแดนไทย-ลาว: วิถีชีวิตและการปรับตัวทางวัฒนธรรม
อาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ ศาสตรจารย์ ดร. เสมอชัย พูลสุวรรณ
กลุ่มชาติพันธุ์บรู พูดภาษาตระกูลออสโตรเอเชียติก หมวดมอญ-เขมร สาขากะตูอิค ปัจจุบันพบกระจายอยู่ในภาคกลางของประเทศเวียดนาม ภาคใต้ของลาว และภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยในสังคมจารีตแบบของบรู ชาวบ้านยึดถือ “รีต” (ในความหมายแบบเดียวกับ “ฮีตคอง” หรือจารีตประเพณีของชาวอีสาน) และความเชื่อ “ผี” ระดับต่างๆ ซึ่งทำหน้าที่เป็นกรอบกำกับพฤติกรรมและความสัมพันธ๑ของสมาชิกในสังคม เกิดเป็นหน่วยองค์กรทางสังคมตั้งแต่ระดับครัวเรือนจนถึงหมู่บ้านและกลุ่มชาติพันธุ์ แบ่งแยกพวกเขาออกจากกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ งานศึกษาสนใจการปรับตัวของชุมชนชาวบรู ซึ่งพบกระจายอยู่ในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำโขงสองฟากพรมแดนไทย-ลาว ในเขตจังหวัดอุบลราชธานี และแขวงจำปาสัก ภายใต้บริบทรัฐชาติและโลกาภิวัตน์ โดยพบว่าชาวบรูเลือกใช้กลยุทธ์ทางวัฒนธรรมหลากหลายแบบในการรับมือกับวัฒนธรรมกระแสหลักไทย-ลาวที่แพร่เข้ามา กลยุทธ์ที่สำคัญคือ “ล่ะละรีต” หรือการลาออกจากระบบการนับถือผีตระกูล แล้วหันไปนับถือพุทธศาสนาตามขนบไทย-ลาว ขณะเดียวกันก็เลือกที่จะรักษาหรือประดิษฐ์สร้างมิติวัฒนธรรมอย่างอื่นของความเป็น “บรู” เป็นต้นว่าชื่อเรียกทางชาติพันธุ์ ภาษา ประวัติศาสตร์ความทรงจำร่วม และระบบเครือญาติ ทั้งนี้เพื่อรักษาความมีตัวตนทางวัฒนธรรมให๎ยังดำรงอยู่ และยังเป็นการปรับตัวต่อวัฒนธรรมร่วมสมัยด้านการท่องเที่ยวด้วย งานศึกษาค้นพบว่า “บรู” ในฝั่งไทย ยังสามารถรักษาสำนึกและอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของความเป็น “บรู” โดยไม่ถูกกลืนกลายด้วยวัฒนธรรมกระแสหลักไว้ได้เข้มข้นมากกว่า “บรู” ในฝั่งลาว ทั้งนี้สาเหตุหนึ่งอาจเนื่องมาจากการที่รัฐไทยในปัจจุบัน ยอมรับกระแสโลกาภิวัตน์สำหรับการเปิดพื้นที่ให้กับความหลากหลายทางวัฒนธรรมมากกว่ารัฐลาว งานศึกษาแสดงให้เห็นถึงตัวอย่างของสังคมชาติพันธุ์ร่วมสมัย ที่มีศักยภาพจะปรับตัวให้เข้ากับวัฒนธรรมกระแสหลักได้อย่างกลมกลืน ขณะเดียวกันสามารถรักษาสำนึกและอัตลักษณ์สำหรับความเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ของตนเอาไว้ได้ด้วยในเวลาเดียวกัน
ดร.บุษบงก์ วิเศษพลชัย
พยาบาลวิชาชีพ (ช่วยราชการ) สำนักวิจัยสังคมเเละสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข
หัวข้อวิทยานิพนธ์ อัปสรากลางไฟ: อัตวิสัย พื้นที่ และประสบการณ์ผัสสะในชีวิตประจาวันของผู้หญิงบาร์ชาวกัมพูชา
อาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ยุกติ มุกดาวิจิตร
อาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ร่วม อาจารย์ ดร. นพ. โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์
วิทยานิพนธ์ชิ้นนี้ศึกษาอัตวิสัยของสาวบาร์กัมพูชาที่เกิดขึ้นภายในความสัมพันธ์ระหว่างพื้นที่และประสบการณ์ผัสสะ ในชีวิตประจำวันของสาวบาร์ชาวกัมพูชาผู้วิจัยใช้กรอบความคิดเรื่องอัตวิสัย (subjectivity) การผลิตพื้นที่ (production of space) ประสบการณ์ผัสสะ (sensory experience) ชีวิตประจำวัน (everyday life) เพื่อถกเถียงกับงานวิจัยเกี่ยวกับผู้หญิงขายบริการทางเพศในประเทศกัมพูชาและที่อื่นๆ ในโลก ผู้วิจัยทำงานภาคสนามที่จังหวัดสีหนุวิลล์ ประเทศกัมพูชา เป็นเวลา 18 เดือน ตั้งแต่วันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ.2554 – วันที่ 31 มีนาคม พ.ศ.2556 โดยในช่วง 6 เดือนแรกผู้วิจัยทำงานเป็นอาสาสมัครมูลนิธิศูนย์ธารชีวิตศรีชุมพบาลกัมพูชา (Foundation of Our Lady of Charity of the Good Shepherd in Cambodia) และในช่วง 12 เดือนหลังผู้วิจัยทำงานเป็น “เลดี้” คนหนึ่งในบาร์ดอกกุหลาบย่านวิกตอรีฮิลล์ จังหวัดสีหนุวิลล์ ผู้วิจัยสัมภาษณ์ผู้หญิงบริการอย่างไม่เป็นทางการด้วยภาษาขแมร์ 49 คน และยังสัมภาษณ์ลูกค้าของบาร์วิกตอรีฮิลส์ด้วยภาษาอังกฤษอีก 29 คน ผู้วิจัยมีบทสนทนาในชีวิตประจำวันกับทั้งผู้หญิงขายบริการซึ่งผู้วิจัยเองอาศัยอยู่และร่วมทำงานด้วย นอกจากนั้นผู้วิจัยยังเดินทางไปยังหมู่บ้านของหญิงขายบริการเหล่านี้อีกด้วย
ผู้วิจัยพบว่า อัตวิสัยของผู้หญิงขายบริการทางเพศถูกกำหนดขึ้นในพื้นที่ความสัมพันธ์ระหว่างการผลิตพื้นที่การขายบริการทางเพศและประสบการณ์ผัสสะ ที่ถูกกำกับด้วยโครงสร้างของจังหวะในชีวิตประจำวัน และจังหวะในชีวิตประจำวันนี้เองที่สร้างการดำเนินไปของโลกของผู้หญิงขายบริการทางเพศในแต่ละช่วงเวลาในแต่ละวัน ในแต่ละเดือน ในแต่ละปี การเกิดขึ้นซ้าๆ ของจังหวะเหล่านี้เองที่สร้างพื้นที่ของความเป็นปกติในชีวิตประจำวันที่ปฏิบัติการเชิงพื้นที่ของผู้หญิงขายบริการทางเพศขึ้นมาพร้อมๆ กันนั้น ในจังหวะของชีวิตประจำวันนี้เองที่การรับรู้ของประสบการณ์ผัสสะ การให้คุณค่าประสบการณ์ผัสสะและการฝึกฝนของประสบการณ์ผัสสะของผู้หญิงขายบริการทางเพศเกิดขึ้น
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้เสนอว่า ผู้หญิงขายบริการทางเพศเหล่านี้ระบุว่าตัวเองคือใครในพื้นที่การขายบริการทางเพศที่วิกตอรีฮิลล์ได้ด้วยปฏิบัติการที่เธอสร้างขึ้นในพื้นที่นี้ ตลอดจนด้วยการให้คุณค่าและความหมายของประสบการณ์ผัสสะ อย่างไรก็ดีทั้งปฏิบัติการเชิงพื้นที่และประสบการณ์ผัสสะที่เกิดขึ้นก็ถูกครอบงำด้วยจังหวะของวัน จังหวะของชีวิต จังหวะเหล่านี้เองก็เปลี่ยนแปลงเรื่อยมาในประวัติศาสตร์และบริบททางสังคมที่มีกระทำการของอำนาจในรูปแบบต่างๆ มากำหนด ไม่ว่าจะเป็นอานาจจากภายนอกประเทศหรือภายในประเทศ ถึงกระนั้นก็ตาม ภายใต้โครงสร้างจังหวะที่ดูเหมือนครอบงำผู้หญิงบาร์และกดทับเธอนี้ พวกเธอก็ยังสามารถเป็นผู้กระทำการได้ด้วยการสร้างปฏิบัติการในความสัมพันธ์แบบพิเศษกับอำนาจที่กดทับอยู่อย่างสร้างสรรค์และเป็นไปได้
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.แพร ศิริศักดิ์ดำเกิง
อาจารย์ประจำภาควิชามานุษยวิทยา คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร
หัวข้อวิทยานิพนธ์ ชีวิตมุสลิมใน “รังยาเสพติด”: ความปกติที่ต้องต่อรองในชุมชนแห่งหนึ่งในภาคใต้ของประเทศไทย
อาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ อาจารย์ ดร.สายพิณ ศุพุทธมงคล
อาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ร่วม อาจารย์ ดร.ปริตตา เฉลิมเผ่า กออนันตกูล
วิทยานิพนธ์เรื่อง “ชีวิตมุสลิมใน ‘รังยาเสพติด’: ความปกติที่ต้องต่อรองในชุมชนแห่งหนึ่งในภาคใต้ของประเทศไทย” เป็นการศึกษาเรื่องราวของชุมชนแห่งหนึ่งที่ได้ชื่อว่าเป็น “รังของยาเสพติด” ด้วย ผู้ชายส่วนใหญ่ของชุมชนใช้ยาเสพติด โดยมีคำถามหลักของงานวิจัยว่าท่ามกลางสถานการณ์นี้ คนใช้ยาเสพติดซึ่งรัฐ การแพทย์ และศาสนามองว่าเป็นผู้ที่ทำผิดกฎหมาย ผู้ป่วย และผู้ที่ทำผิดหลักศาสนา อาศัยอยู่ร่วมกับครอบครัว และคนในชุมชนอย่างไร เพื่อที่จะตอบคำถามดังกล่าว ผู้วิจัยจึงมุ่งศึกษาการใช้ยาเสพติดของคนมุสลิมในชุมชนในฐานะเป็นปรากฏการณ์หนึ่งของสังคม ที่จำเป็นต้องพิจารณาพัฒนาการและบริบททางสังคมและวัฒนธรรมว่ามีส่วนสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับปรากฏการณ์ดังกล่าว และศึกษามุมมอง ความคิด การให้ความหมาย ความรู้สึก รวมถึงการใช้ชีวิตประจำวันของคนใช้ยาเสพติด ครอบครัว และชุมชนท่ามกลางการแพร่ระบาดของยาเสพติด โดยใช้แนวคิดเรื่องความปกติ (normality) เป็นกรอบในการทาความเข้าใจปรากฏการณ์ดังกล่าว
เมื่อใช้แนวคิดเรื่องความปกติพิเคราะห์เรื่องราวชีวิตและความสัมพันธ์ของคนใช้ยาเสพติดกับครอบครัวและชุมชน พบว่าผู้ใช้ยาเสพติดใช้ชีวิตประจำวันในสังคมที่มีบรรทัดฐานหลากหลาย ทั้งบรรทัดฐานที่เป็นทางการ เช่นกฎหมาย หลักการทางการแพทย์ และกฎศาสนา รวมถึงบรรทัดฐานของชุมชนซึ่งเป็นคุณค่าหรือธรรมเนียมที่คนในชุมชนยึดถือซึ่งอาจเป็นส่วนหนึ่งหรือแตกต่างกับบรรทัดฐานที่เป็นทางการ บรรทัดฐานทั้งหมดนี้มีส่วนกำหนดความสัมพันธ์และการกระทาของผู้ใช้ยาเสพติดให้อยู่ร่วมกับคนอื่นๆ ในสังคมได้อย่างปกติ
ข้อค้นพบที่สำคัญคือ ผู้ใช้ยาเสพติด ครอบครัว และชุมชน ต่างตระหนักดีว่าการใช้ยาเสพติดเป็นการกระทำที่ผิดไปจากบรรทัดฐานที่เป็นทางการ หากในสถานการณ์ที่คนในชุมชนต้องอยู่ร่วมกัน คนใช้ยาเสพติดเลือกที่จะปฏิบัติตามบรรทัดฐานที่ครอบครัวและชุมชนให้คุณค่า 3 ประการ คือ 1.การควบคุมตัวเองไม่ให้การใช้ยาเสพติดสร้างความเดือดร้อนให้กับคนในชุมชน 2.การทำหน้าที่ต่อครอบครัวในฐานะเป็นพ่อ สามี และลูก 3.การรักษาบทบาทในชุมชน ด้วยการช่วยงานสาธารณะ ช่วยแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในชุมชน ทั้งหมดนี้เป็นการกระทำที่ทำให้คนใช้ยาเสพติดยังคงเป็นสมาชิกคนหนึ่งของครอบครัว แลเพื่อให้คนในชุมชนดารงชีวิตอยู่ร่วมกันได้อย่างปกติที่สุด ซึ่งในวิทยานิพนธ์ฉบับนี้เรียกการกระทำนี้ว่า “ความปกติที่ต้องต่อรอง” (negotiated normality)
อาจารย์ ดร.สุทิศา ปลื้มปิติวิริยะเวช
อาจารย์ประจำคณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยรังสิต
หัวข้อวิทยานิพนธ์ บั้นปลายชีวิตของคนในเมืองการค้า
อาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ อาจารย์ ดร.สายพิณ ศุพุทธมงคล
อาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ร่วม อาจารย์ ดร.นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์
ดุษฎีนิพนธ์นี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อทำความเข้าใจ 1) การให้ความหมาย “ความแก่” ของผู้สูงอายุจีนในบริบทความเป็นเมือง 2) “ภาวะปกติ” ของการใช้ชีวิตประจำวันของผู้สูงอายุจีน 3) การเปลี่ยนแปลงของการเป็นผู้สูงอายุในช่วงเวลาต่างๆ และ 4) วิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างร่างกายที่แก่ กับลักษณะและการใช้พื้นที่ในชีวิตประจำวันของผู้สูงอายุกับความหมายที่เปลี่ยนไปตามสภาวะของร่างกาย ครอบครัว บริบททางสังคม เศรษฐกิจ โดยศึกษาการใช้ชีวิตประจำวันของผู้สูงอายุจีน ในอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ซึ่งจะทำให้เห็นร่างกาย การใช้และปฏิบัติต่อร่างกายที่แก่ชราของชาวจีน จากการศึกษาพบว่าการนิยามความเป็น “คนแก่” ของผู้สูงอายุจีน มีความหลากหลายและมีผลต่อการจัดการความแก่ กล่าวคือ ความเป็นคนแก่ของคนจีนนิยามจากการยุติบทบาทการทำงานเพื่อเลี้ยงชีพ และแตกต่างกันตามบทบาททางเพศ สถานะทางเศรษฐกิจ และยังพบว่าผู้สูงอายุบางคนที่หยุดหารายได้ในช่วงแรกยังคงทำงานที่มีรายได้ แต่เป้าหมายของการทำงานเป็นไปเพื่อคงสถานภาพทางสังคม ความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง และเป็นการใช้เวลาเพื่อให้ร่างกายได้เคลื่อนไหว ช่วยให้ความจำไม่เสื่อม ดังนั้นผู้สูงอายุจีนจึงออกมาชีวิตประจำวันนอกบ้าน ไปทำกิจกรรมในสถานที่ที่พวกเขาคุ้นเคย ความเป็นเมืองการค้าที่มีความสะดวกสบายและคึกคัก ยังมีส่วนช่วยให้ผู้สูงอายุสามารถใช้ชีวิตอย่าง “ปกติ” ในช่วงบั้นปลายได้ ดังนั้น “ความแก่” จึงไม่ใช่เป็นเพียงภาวการณ์ของร่างกาย แต่เป็น “สรีรวิทยาวัฒนธรรม”(cultural physiology) ของความแก่ คือ ความรู้ที่เป็นวิทยาศาสตร์ วัฒนธรรม และมิติทางประวัติศาสตร์ที่สร้างคำอธิบายเกี่ยวกับความแก่ นิยามความเป็นคนแก่ และมีผลต่อการประพฤติปฏิบัติและกระทำกับร่างกายคนแก่ ความรู้เหล่านี้ทำงานผ่านระบบโครงสร้างสังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมในห้วงเวลาหนึ่ง
ภาพถ่าย: เดชาภิวัชร์ นพมิตร์