วิทยานิพนธ์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ได้รับรางวัลวิทยานิพนธ์ดีเด่น มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปีการศึกษา 2559 และ ปีการศึกษา 2560

คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ขอแสดงความยินดีกับวิทยานิพนธ์ที่ได้รับรางวัลวิทยานิพนธ์ดีเด่น มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประจำปีการศึกษา 2559 และ ปีการศึกษา 2560 ตามประกาศมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เรื่อง ผลการพิจารณารางวัลวิทยานิพนธ์ดีเด่น มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประจำปีการศึกษา 2559 ลงวันที่ 6 พฤศจิกายน 2561 เเละ ผลการพิจารณารางวัลวิทยานิพนธ์ดีเด่น มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประจำปีการศึกษา 2560 ลงวันที่ 25 กรกฎาคม 2562


  • บัณฑิต ศิริรักษ์โสภณ
    สังคมวิทยาเเละมานุษยวิทยามหาบัณฑิต สาขาวิชามานุษยวิทยา คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ปีการศึกษา 2559

รางวัลวิทยานิพนธ์ดีมาก สาขาสังคมศาสตร์ (ระดับปริญญาโท) ปีการศึกษา 2559

“บุญนิยม”: จริยธรรมทางเศรษฐกิจกับการขับเคลื่อนทางสังคมของชาวอโศก

บัณฑิต ศิริรักษ์โสภณ
สังคมวิทยาและมานุษยวิทยามหาบัณฑิต สาขาวิชามานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

อาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์

  • ศาสตราจารย์ ดร.เสมอชัย พูลสุวรรณ

บทคัดย่อ

“อโศก” เป็นขบวนการพุทธศาสนา ที่ก่อรูปขึ้นในสังคมไทยตั้งแต่ในต้นทศวรรษ 2510 ขบวนการดังกล่าวปรากฏตัวตนและความเป็นองค์กรเอกเทศชัดเจน เมื่อผู้นำทางจิตวิญญาณของชาวอโศกคือท่านโพธิรักษ์ ประกาศแยกตัวจากการปกครองของมหาเถรสมาคม เมื่อปีพ.ศ. 2518 “อโศก” ทำงานเผยแผ่พระพุทธศาสนาตามแนวทางของตัวเอง โดยอ้างอิงการปฏิบัติตามหลักพระธรรมวินัยของพระพุทธเจ้า ด้วยการก่อตั้งชุมชนอโศกขึ้นในที่ต่าง ๆ พร้อมกับขยายเครือข่ายสมาชิกหรือ “ญาติธรรม” ออกไปอย่างกว้างขวาง ชุมชนและเครือข่ายดังกล่าวทำหน้าที่เป็นองค์กรผลิตทางเศรษฐกิจภายใต้หลักปรัชญาที่ชาวอโศกเรียกว่า “บุญนิยม” วิทยานิพนธ์ฉบับนี้พยายามทำความเข้าใจพัฒนาการของปรัชญาทางเศรษฐกิจแบบดังกล่าว ผ่านคำอธิบายและปฏิบัติการต่าง ๆ ขององค์กรอโศก โดยแยกพิจารณาเป็น 3 ช่วงตามลำดับเวลา ได้แก่ ยุคก่อกำเนิด “อโศก” (พ.ศ. 2513-2530) ยุค “อโศก” สร้างสัมพันธ์กับสังคมภายนอก (พ.ศ.2531-2539) และ ยุค “อโศก” หลังห้วงวิกฤตเศรษฐกิจประเทศไทย (พ.ศ. 2540-ปัจจุบัน)

สนามหลักของงานศึกษาอยู่ที่ “ปฐมอโศก” ซึ่งเป็นชุมชนสาขาขนาดใหญ่ในเครือข่ายของอโศก มีสถานะเป็นหน่วยการผลิตทางเศรษฐกิจครบวงจร ขณะเดียวกันก็ศึกษาครอบคลุมถึงปฏิบัติการทางเศรษฐกิจที่ปฐมอโศกมีร่วมกับชุมชนอโศกอื่น ๆ และกับสังคมภายนอกด้วย อโศก นิยามการปฏิบัติธรรมตามหลักพุทธศาสนา ว่าบุคคลสามารถบรรลุถึงนิพพานหรือการสิ้นทุกข์ได้ ในลักษณะของกระบวนการลดละเลิกกิเลสอย่างสะสมค่อยเป็นค่อยไป ผ่านการทำงานหนักเพื่อการผลิตโดยมุ่งประโยชน์ต่อผู้อื่น การอธิบายหลักปรัชญาทางศาสนาซึ่งกลายมาเป็นพื้นฐานของปรัชญาทางเศรษฐกิจเช่นนี้ เปรียบเทียบได้กับกรณีศึกษาของมักซ์ เวเบอร์ (Max Weber) ที่อธิบายการก่อร่างสร้างอุดมการณ์ทางศาสนาของชุมชนโปรเตสแตนต์ในโลกตะวันตก ช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 16 ที่เน้นการทำให้พระเจ้าพึงพอใจด้วยการที่บุคคลทำงานหนักและรู้จักอดออมมัธยัสถ์ กระทั่งได้กลายมาเป็นพื้นฐานของการผลิตที่เน้นความมั่งคั่ง สั่งสมทุน และลงทุนต่อเนื่อง ที่ได้พัฒนาเป็นระบบทุนนิยมต่อมา

“อโศก” ในยุคก่อกำเนิด เน้นการสร้างชุมชนปฏิบัติธรรม ภายใต้วิถีการผลิตทางเศรษฐกิจแบบพึ่งตัวเอง โดยสร้างความสัมพันธ์กับสังคมภายนอกเพียงในระดับจำกัด ในระยะต่อมา “อโศก” จึงค่อยสานสัมพันธ์กับชุมชนภายนอกเพิ่มมากขึ้น ผ่านกิจกรรมทางเศรษฐกิจ “บุญนิยม” ต่าง ๆ เพื่อคืนกำไรจากการผลิตกลับคืนสู่สังคม ที่สำคัญและถือเป็นสัญลักษณ์ของพัฒนาการ “อโศก” ในช่วงเวลานี้คือการจัดงาน “ตลาดอาริยะ” ที่ชาวอโศกนำสินค้าซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลผลิตของตนมาขายในราคาต่ำกว่าทุน นับเป็นตัวอย่างรูปธรรมของการปฏิบัติธรรมของชาว “อโศก” ด้วยการผลิตที่มุ่งประโยชน์เพื่อผู้อื่น ท้ายที่สุด ภายหลังจากห้วงวิกฤตเศรษฐกิจไทยในปีพ.ศ. 2540 “อโศก” จัดวางสถานะที่แน่นอนของตนเองในสังคมไทย ในฐานะ “ตัวแบบ” ที่เข้มงวดสำหรับการผลิตในอุดมคติซึ่งทั้งพึ่งตัวเองและช่วยเหลือผู้อื่นไปพร้อมๆ กัน ขณะเดียวกันก็ได้เปิดรับความสัมพันธ์จากผู้สมัครใจเข้ามาร่วมอุดมการณ์ในวงกว้าง โดย “อโศก” จัดวางสถานะของ “สมาชิก” ใหม่เหล่านี้อย่างมีลำดับชั้น ตามความเข้มข้นในการปฏิบัติ “ธรรม” ตามแนวทางของสำนัก ปรากฏการณ์หลังสุดนี้ทำให้“อโศก” สามารถรักษา “ความเข้มงวด” ของการปฏิบัติอันเป็นแก่นแกนกลางขององค์กร ไปได้พร้อม ๆ กับการแสวงหาผู้ร่วมอุดมการณ์จากสังคมในวงกว้าง



  • รัชพล แย้มกลีบ
    สังคมวิทยาและมานุษยวิทยามหาบัณฑิต สาขาวิชาการวิจัยทางสังคม คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ปีการศึกษา 2560

รางวัลวิทยานิพนธ์ดีมาก สาขาสังคมศาสตร์ (ระดับปริญญาโท) ปีการศึกษา 2560

บันทึกคนอ้วน: ร่างและสังคมในเรื่องเล่าของคนเปลี่ยนร่าง

รัชพล แย้มกลีบ
สังคมวิทยาและมานุษยวิทยามหาบัณฑิต สาขาวิชาการวิจัยทางสังคม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

อาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์

  • ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จันทนี เจริญศรี

บทคัดย่อ

วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีจุดเริ่มต้นจากประสบการณ์ของ “แมน” บุคคลผู้ประสบความสำเร็จในการลดน้้าหนักที่เป็นมากกว่าการลดน้้าหนักทั่วไป แต่อาจเรียกได้ว่าเป็นปรากฏการณ์”การเปลี่ยนเรือนร่าง” จากบุคคลที่มีน้้าหนักกว่า 140 กิโลกรัม จนเหลือเพียง 75 กิโลกรัม ในระยะเวลาไม่ถึงหนึ่งปี การเปลี่ยนเรือนร่างของแมนได้น้ามาสู่การศึกษาครั้งนี้ที่มุ่งเน้นพิจารณาเรือนร่าง ตัวตน และสังคมเพื่อตอบค้าถามว่าเรือนร่าง ตัวตน และสังคมว่ามีความสัมพันธ์กันอย่างไร? ผ่านการเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นในชีวิตของแมน ผลการศึกษาถูกอภิปรายโดยอาศัยแนวคิดทางสังคมวิทยาที่เกี่ยวข้องกับเรือนร่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งมุมมองการพิจารณาเรือนร่างที่ได้รับอิทธิพลจากความรู้ความจริงและเงื่อนไขแวดล้อมที่สังคมสร้างขึ้น จนบุคคลได้น้าเงื่อนไขที่สังคมสร้างมาปรับใช้ในการคิดและลงมือปฏิบัติต่อเรือนร่าง

ผลการศึกษาพบว่าเรือนร่างไม่ได้เป็นเพียงแค่วัตถุธรรมชาติหรือเป็นสิ่งประกอบสร้างทางสังคมเพียงแค่อย่างหนึ่งอย่างใด หากแต่เป็นปฏิสัมพันธ์ระหว่างความเป็นสังคมกับความเป็นธรรมชาติอย่างเป็นกระบวนการ ด้านหนึ่งสังคมได้เข้ามาจัดการเรือนร่างผ่านการใช้ชีวิตในครอบครัวการศึกษาในโรงเรียน การรับสื่อ การใช้สินค้าและบริการในชีวิตประจ้าวันที่สร้างขอบฟ้าทางความคิดนำไปสู่การปฏิบัติต่อเรือนร่างอ้วนในฐานะรูปแบบของเรือนร่างที่ผิดปกติและสร้างความกดดันต่อบุคคลผู้มีเรือนร่างอ้วน ในขณะเดียวกันภายใต้ความกดดันดังกล่าว สังคมก็ได้เปิดที่ทางให้การเปลี่ยนเรือนร่างมีความเป็นไปได้ผ่านเงื่อนไขทางสังคมบางประการอย่างเสรีภาพที่ได้รับจากการศึกษาในมหาวิทยาลัยและวัฒนธรรมของกลุ่มที่บุคคลสังกัด

อย่างไรก็ตามแม้ปฏิบัติการบนเรือนร่างของบุคคลจะถูกก้าหนดจากเงื่อนไขที่สังคมได้สร้างขึ้น แต่ในขณะเดียวกันการกระท้าของบุคคลต่อเรือนร่างกลับยังต้องค้านึงถึงเรือนร่างในฐานะวัตถุธรรมชาติที่มีความหิว ความกระหาย ไปจนถึงความเจ็บป่วย ดังนั้นกระบวนการเปลี่ยนเรือนร่างที่เริ่มตั้งแต่การตัดสินใจเปลี่ยนเรือนร่าง กลยุทธ์ที่ใช้ในการเปลี่ยนเรือนร่าง การจัดการเรือนร่างในช่วงเวลาต่าง ๆ ตลอดจนการปรับเปลี่ยนตัวตนหลังจากเปลี่ยนเรือนร่าง สิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นการกระทำของบุคคลผ่านการไตร่ตรองโดยค้านึงทั้งเรือนร่างในฐานะวัตถุทางธรรมชาติและเรือนร่างที่ได้รับอิทธิพลจากสังคมควบคู่กันไป