วิทยานิพนธ์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ได้รับรางวัลวิทยานิพนธ์ดีเด่น มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปีการศึกษา 2561

คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ขอแสดงความยินดีกับวิทยานิพนธ์ที่ได้รับรางวัลวิทยานิพนธ์ดีเด่น มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประจำปีการศึกษา 2561 ตามประกาศมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เรื่อง ผลการพิจารณารางวัลวิทยานิพนธ์ดีเด่น มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประจำปีการศึกษา 2561 ลงวันที่ 23 กันยายน 2563


  • สรัช สินธุประมา
    สังคมวิทยาเเละมานุษยวิทยามหาบัณฑิต สาขาวิชามานุษยวิทยา คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ปีการศึกษา 2561
  • รางวัลวิทยานิพนธ์ดีเด่น สาขาสังคมศาสตร์ (ระดับปริญญาโท)

    ฟอนต์ลูกทุ่ง: เทคโนโลยีดิจิทัลกับการก่อร่างตัวตนของคนทำป้าย

    สรัช สินธุประมา
    สังคมวิทยาและมานุษยวิทยามหาบัณฑิต สาขาวิชามานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

    อาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์

    • ศาสตราจารย์ ดร.เสมอชัย พูลสุวรรณ

    บทคัดย่อ

    วิทยานิพนธ์ฉบับนี้สำรวจตัวตนของ “คนทำป้าย” ซึ่งเคยทำงานเป็นช่างเขียนป้ายในพื้นที่ต่างจังหวัดของประเทศไทย พวกเขาปรับตัวเข้ากับเทคโนโลยีดิจิทัลในการทำฟอนต์ และรวมกลุ่มกันเป็นชุมชนออนไลน์เพื่อแลกเปลี่ยนข่าวสาร ความคิดและประสบการณ์ของพวกเขาเอง ด้วยการมองผ่านกรอบทฤษฎี Actor-Network-Theory (ANT) ผู้เขียนได้พยายามแสดงให้เห็นความเกี่ยวโยงที่สลับซับซ้อนระหว่างมนุษย์และสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์ (non-human) ในเวทีของการก่อร่างตัวตนของกลุ่มคนทำฟอนต์นี้ ในทางวิธีวิทยาผู้เขียนเพ่งความสนใจที่วิถีปฏิบัติ (practice) ของการทำป้ายและการทำฟอนต์ และเก็บข้อมูลด้วยการเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มเฟสบุ๊ก (Facebook) ของพวกเขา สัมภาษณ์ในพื้นที่จริง และไปฝึกงานในร้านป้ายที่จังหวัดหนองบัวลำภู.

    ผู้เขียนพบว่าคนทำป้ายยังคงสามารถนำความรู้ที่ฝังอยู่ในร่างกายและประสบการณ์ในยุคก่อนดิจิทัลที่พวกเขามีร่วมกันมาใช้กับธุรกิจการทำป้ายบนฐานดิจิทัลในปัจจุบัน ผลก็คือพวกเขาได้พัฒนาทักษะการทำงานแบบด้นสดขึ้นมาเพื่อเอาชนะความตายตัวในทางเทคนิคของการใช้ฟอนต์สมัยใหม่ ในแง่ของความสร้างสรรค์ พวกเขาประสบความสำเร็จยิ่งกว่าคู่แข่งที่เป็นธุรกิจแบบอุตสาหกรรม ในการนำพลังของฝีแปรงมาใช้ออกแบบฟอนต์ดิจิทัลสำหรับการใช้งานที่หลากหลายในแวดวงของพวกเขาเอง เช่น ตัดสติ๊กเกอร์แต่งรถ และพิมพ์ป้ายไวนิล รูปแบบของฟอนต์กลุ่มนี้อาจเรียกได้ว่าเป็น “ฟอนต์ลูกทุ่ง” ซึ่งเป็นที่รับรู้ในฐานะผลผลิตร่วมและเครื่องอ้างอิงตัวตนของวัฒนธรรมการทำป้ายในต่างจังหวัด สิ่งที่สร้างและกำกับสภาวะการทำงานแบบใหม่ของคนทำป้ายซึ่งมีส่วนในการปรับรูปร่างวัฒนธรรมและตัวตนของพวกเขาไม่มากก็น้อย ยังรวมไปถึงปัจจัยทางกายภาพจำนวนมากที่มนุษย์ไม่อาจควบคุมได้เบ็ดเสร็จ เช่น เครื่องพิมพ์อิงค์เจ็ทอาจถูกรบกวนการทำงานได้อย่างง่ายดายจากสัตว์ที่ไม่พึงประสงค์ในบริเวณใกล้เคียงหรือความผกผันของอุณหภูมิและความชื้นในอากาศ

    ผลงานเผยแพร่จากวิทยานิพนธ์

    • บทความ “วัตถุสภาวะของ “ฟอนต์ลูกทุ่ง” กับงานช่างฝีมือดิจิทัลของ “คนทำป้าย”” ตีพิมพ์ในเอกสารประกอบการสัมมนาเครือข่ายนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา สาขาสังคมวิทยาเเละมานุษยวิทยา ครั้งที่ 17 วันที่ 22-23 กุมภาพันธ์ 2561 ณ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
    • บทความ “จากฝีแปรงสู่ฟอนต์ลูกทุ่ง: ความสร้างสรรค์ของคนทำป้ายในยุคดิจิทัล” ตีพิมพ์ในเอกสารประกอบการประชุมวิชาการระดับชาติ เวทีวิจัยมนุษยศาสตร์ไทย ครั้งที่ 12 วันที่ 7-8 กันยายน 2561 ณ คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
    • บทความ “จากฝีแปรงสู่ฟอนต์ลูกทุ่ง: ความสร้างสรรค์ “ของ” คนทำป้ายในยุคดิจิทัล” ตีพิมพ์ในหนังสือ อยู่ด้วยกัน: พื้นที่ เทคโนโลยี และความเป็นอื่น (คงกฤช ไตรยวงค์ บรรณาธิการ) กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ศยาม