อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาได้รับรางวัลผลงานวิจัยและวิทยานิพนธ์ดีเด่นด้านครอบครัว ประจำปี พ.ศ. 2557


ภาพข่าวจากหนังสือพิมพ์เดลินิวส์
คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาขอแสดงความยินดีกับ รองศาสตราจารย์พรชัย ตระกูลวรานนท์ และ อาจารย์วาทินีย์ วิชัยยา ที่ได้รับรางวัลจากการประกวดผลงานวิจัยและวิทยานิพนธ์ดีเด่นด้านครอบครัว ประจำปี 2557 ของสำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และได้เข้ารับรางวัลในงานประชุมวิชาการด้านครอบครัวระดับชาติประจำปี 2557 เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน ที่ผ่านมา


ทุนทางสังคมผ่านการพัฒนากระบวนการทางสังคม

รายงานการวิจัย
“ทุนทางสังคมกับการพัฒนากระบวนการทางสังคมเพื่อรองรับสังคมผู้สูงวัย”

โดย รองศาสตราจารย์พรชัย ตระกูลวรานนท์

ได้รับรางวัลผลงานวิจัย ระดับดีเด่น

สังเคราะห์จาก โครงการศึกษาวิจัยกระบวนการทางสังคม
เพื่อกำหนดมาตรการสร้างเสริมสุขภาวะประชากรสูงวัย
(2554)
ได้รับการสนับสนุนจาก แผนงานเสริมสร้างการเรียนรู้กับสถาบันอุดมศึกษาไทยเพื่อพัฒนานโยบายสาธารณะที่ดี (TUHPP) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสขุภาพ (สสส.)

บทคัดย่อ

โครงสร้างทางประชากรของประเทศไทยในปัจจุบัน บ่งชี้ชัดเจนว่าประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยภายในระยะเวลาอันใกล้นี้ หน่วยงานภาครัฐที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องโดยตรง เฉพาะอย่างยิ่งในด้านบริการสาธารณสุขและงานสวัสดิการสังคม ต่างตื่นตัวทำการศึกษาและเสนอแนวทางเพื่อเตรียมรับปัญหาอุบัติใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้น บนพื้นฐานการศึกษาจากบทเรียนของประเทศต่างๆในสังคมตะวันตกที่มีประชากรสูงวัยจำนวนมาก อย่างไรก็ดี ข้อเสนอเหล่านี้ดูเหมือนยังไม่ได้รับการตอบสนองอย่างทันท่วงที โดยเหตุที่เกี่ยวข้องกับงบประมาณจำนวนมากที่รัฐต้องจัดหาเพิ่มเติมเพื่อให้สามารถดำเนินการได้ตามข้อเสนอ งานวิจัยนี้พบว่า ทุนทางสังคมและวัฒนธรรมรูปแบบต่างๆ ที่มีอยู่ในสังคมไทย ยังมีพลังและคุณค่าที่จะนำมาขับเคลื่อนให้เกิดกระบวนการทางสังคม ทั้งเพื่อสร้างกิจกรรมส่งเสริมสุขภาวะของผู้สูงวัย แก้ไขปัญหาภาระทางสังคมที่จะต้องใช้งบประมาณจำนวนมากในการดูแลผู้สูงวัย และท้ายที่สุดเป็นกระบวนการทางสังคมที่สามารถช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งของสังคมส่วนรวมได้อีกด้วย รัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคประชาสังคม และชุมชน จำเป็นต้องตระหนักเห็นถึงคุณค่าของทุนทางสังคมและวัฒนธรรมเหล่านี้ ร่วมกันสนับสนุนและเปิดพื้นที่ทางสังคมใหม่ๆ ให้เกิดกระบวนการทางสังคมที่จะสร้าง พัฒนา และนำเอาทุนเหล่านี้มาใช้ให้เกิดประโยชน์ มากกว่าที่จะมุ่งไปกับการจัดหางบประมาณมาใช้จ่ายในรูปสวัสดิการ ตามแบบตะวันตกที่หน่วยงานของรัฐบาลบางแห่งได้เคยนำเสนอมาก่อนหน้านี้

อ่านบทความฉบับเต็มได้ ที่นี่


“แม่วัยรุ่น”: ประสบการณ์ชีวิตของผู้หญิงที่มีครรภ์ในวัยเรียน

วิทยานิพนธ์ “แม่วัยรุ่น: ประสบการณ์ชีวิต เพศภาวะ และเพศวิถี”
วิทยานิพนธ์สังคมวิทยาและมานุษยวิทยามหาบัณฑิต (สังคมวิทยา)
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปีการศึกษา 2555

โดย อาจารย์วาทินีย์ วิชัยยา

ได้รับรางวัลผลงานวิทยานิพนธ์ ระดับชมเชย

บทคัดย่อ

บทความเรื่อง “แม่วัยรุ่น”: ประสบการณ์ชีวิตของผู้หญิงที่มีครรภ์ในวัยเรียน นำเสนอประสบการณ์ชีวิตของวัยรุ่นหญิงไทยที่ตั้งครรภ์ในวัยเรียน อย่างสัมพันธ์กับบริบททางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม เพราะแม่วัยรุ่นเหล่านี้เป็นสมาชิกของสังคม มักได้รับอิทธิพลจากสังคมวัฒนธรรม ทั้งด้านพฤติกรรม ความคิด และความรู้สึก

ปัจจุบันสังคมมักให้ภาพลักษณ์ของวัยรุ่นหญิงที่ตั้งครรภ์ในวัยเรียนในเชิงลบ เช่น “เด็กใจแตก” “ไม่รักนวลสงวนตัว” ไม่เรียนหนังสือ และมาจากครอบครัวที่หย่าร้าง ซึ่งเป็นการมองที่เหมารวม (stereotype) และคู่ตรงข้าม (dichotomy) บทความนี้ชี้ชวนให้เห็นว่า พวกเธอดำรงสถานะทางสังคม (social status) อย่างน้อย 3 สถานะ คือ การเป็นผู้หญิง นักเรียน/นักศึกษา และการเป็นแม่ สถานะทางสังคมเหล่านี้เอง ที่มีอิทธิพลทำให้วัยรุ่นมักถูกมองและคาดหวังว่าไม่ควรยุ่งเกี่ยวกับเรื่องเพศ และประทับตราให้แม่วัยรุ่นถูกมองว่ามีพฤติกรรมไม่เหมาะสม การเจริญพันธุ์จึงไม่ได้เรื่องชีววิทยาเท่านั้น แต่เป็นเรื่องในเชิงสังคมด้วย นอกจากนี้ แม้วัยรุ่นหญิงจะมีทางออกที่หลากหลาย ในการจัดการกับการตั้งครรภ์ แต่เส้นทางเหล่านั้นมักถูกหล่อหลอมด้วยอุดมการณ์ชายเป็นใหญ่ (patriarchy) และอยู่ภายใต้เงื่อนไขบางประการเท่านั้น โดยหากวัยรุ่นหญิงได้รับแรงสนับสนุนจากเงื่อนไขเหล่านี้ก็จะทำให้การจัดการการตั้งครรภ์เป็นไปโดยง่ายขึ้น