อธิคม คุณาวุฒิ: ขอให้บัณฑิตทุกท่านใช้ชีวิตนอกมหาวิทยาลัยด้วยความกล้าหาญ
ปาฐกถาในงานปัจฉิมนิเทศ
คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
วันพฤหัสบดีที่ 5 เมษายน 2555
สวัสดีครับ ท่านคณะอาจารย์ นักศึกษา บัณฑิต และเจ้าหน้าที่ทุกท่าน
ผมรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้รับเชิญให้มาพูดในวันปัจฉิมนิเทศ บัณฑิตจบใหม่ในคณะสังคมวิทยา ในฐานะที่ผมเองก็เรียนจบปริญญาตรีจากที่นี่ กล่าวได้ว่าการพูดคุยระหว่างผมกับน้องๆ บัณฑิตในวันนี้เป็นการพูดที่มีความหมายและความสำคัญมากที่สุดครั้งหนึ่งในชีวิตของการบริการผู้คนด้วยการออกไปพูดคุยเสวนาตามที่ต่างๆ
อย่างไรก็ดี คำพูดเมื่อครู่นั้นจะเป็นเพียงแค่คำพูดเชิงพิธีกรรมที่ใครๆ ต่างก็ต้องเริ่มต้นด้วยถ้อยคำลักษณะนี้กันทั้งสิ้น แต่ที่ผมรู้สึกว่าได้รับเกียรติจริงๆ ก็เนื่องจากว่า ผมไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองเป็นผู้ประสบความสำเร็จหรือสลักสำคัญอะไร ตรงกันข้าม ถ้าวัดตามมาตรฐานความสำเร็จความล้มเหลวทางสังคม โดยอาศัยผลประกอบการทางธุรกิจ ชื่อเสียงความโด่งดังในฐานะดาราหรือเซเลบฯ หรือกระทั่งความร่ำรวยเงินทองมาเป็นเกณฑ์ชี้วัด ก็อาจจะพูดได้ว่าตัวผมนั้นแทบไม่มีอะไรเข้าข่ายนี้เลย
นี่คือยังไม่ต้องพูดถึง ช่วงชีวิตสมัยเป็นนักศึกษาที่ทำตัวเหลวไหลไม่เป็นโล้เป็นพาย
ทั้งหมดนี้ ผมได้เอ่ยด้วยความจริงใจไปกับอาจารย์สุดแดนซึ่งเป็นผู้ติดต่อมาแล้ว แต่ในเมื่ออาจารย์สุดแดนท่านยืนยันความตั้งใจ และกล่าวให้กำลังใจว่า ช่วงชีวิตในมหาวิทยาลัยที่เข้าข่ายเหลวไหลนั้น อาจเป็นประสบการณ์ที่ช่วยให้พวกเรารู้สึกว่า วิถีทางของผมนั้นไม่ใช่เรื่องไกลเกินเอื้อม และชีวิตที่มีรสมีชาตินั้นไม่จะต้องราบเรียบ
ดังนั้นแล้ว ผมขออนุญาตเริ่มต้นด้วยการเล่าถึงความล้มเหลวของผมก่อน
+ + + + + + + + +
ถ้าหากดูจากประวัติสั้นๆ ของผมที่เขียนว่า ผมเป็นรุ่นพี่คณะสังคมวิทยา รหัสปีการศึกษา 2532 ขอท่านทั้งหลายโปรดรับทราบว่า ปี 2532 นั้นผมเอนทรานซ์เข้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะนักศึกษาสังกัดคณะเศรษฐศาสตร์
ผมเลือกเอนทรานซ์เข้าคณะเศรษฐศาสตร์เป็นอันดับที่ 4 สมัยนั้นให้สิทธิเลือกได้ 6 คณะ แต่เนื่องจากผมจบชั้นมัธยมปลายสายวิทย์-คณิต 3 อันดับแรกที่ผมเลือกจึงเป็นคณะที่นักเรียนสายวิทย์-คณิตส่วนใหญ่เลือกกัน ส่วนคณะเศรษฐศาสตร์เป็นคณะสายสังคมอันดับแรกที่ผมเลือก ถัดมาคือ รัฐศาสตร์ และสุดท้ายคือสังคมวิทยา ทั้ง 3 คณะนี้ผมเลือกธรรมศาสตร์ทั้งหมด เพราะผมรักและผูกพันกับที่นี่ จากการได้อ่านหนังสือ อ่านประวัติศาสตร์การเมืองในช่วง 30-40 ปีก่อน
อย่างไรก็ดี แม้นว่าผมเลือกคณะเศรษฐศาสตร์ด้วยความที่คณะนี้มีคนแบบอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มีคนแบบวิทยากร เชียงกูล ผู้เขียนหนังสือเรื่อง ‘ฉันจึงมาหาความหมาย’ หรือแม้กระทั่ง คนแบบอาจารย์ทวี หมื่นนิกร นักเศรษฐศาสตร์การเมืองที่สนใจปัญหาคนยากคนจนที่เอารัดเอาเปรียบด้วยโครงสร้างเศรษฐกิจที่ไม่เป็นธรรม แต่ท้ายที่สุดแล้วผมก็พบว่า ผมใช้เวลา 4 ปีเต็มในคณะนี้ด้วยความทุกข์ทรมาณอย่างยิ่ง เนื่องจากเนื้อหาการเรียนจริงๆ รวมถึงสภาพบรรยากาศแวดล้อมแตกต่างจากจินตนาการเดิมของผมไปไกล
ตอนที่ผมขอลาโอนย้ายคณะ อาจารย์ที่ปรึกษาถามผมว่า ทำไมจึงอยากเปลี่ยนไปเรียนอย่างอื่น ทุกวันนี้ชอบอะไร ผมบอกว่าผมชอบอ่านหนังสือ อาจารย์ท่านถามว่าข่าวเศรษฐกิจล่ะ ข่าวหุ้นล่ะ … ผมจึงอึ้ง บอกว่าไม่เคยสนใจอ่านเลย ท่านจึงให้ข้อสรุปว่า ถ้าเช่นนั้นก็ถูกแล้วที่ตัดสินใจเปลี่ยนไปเรียนอย่างอื่น
กระนั้นก็ตาม คำปลอบใจส่งท้ายของอาจารย์ที่ปรึกษาประการหนึ่งคือ ท่านบอกผมว่า คะแนนสอบเข้าของผมนั้น จัดอยู่ในกลุ่มที่ค่อนข้างสูง
แต่นั่นก็สายไปแล้วครับ หลังจาก 4 ปีในคณะเศรษฐศาสตร์ ผมทำเรื่องย้ายคณะไปที่รัฐศาสตร์ ผมรออยู่ 1 เทอมจึงได้คำตอบว่า รหัสวิชานักศึกษารุ่นผมนั้นส่วนใหญ่จบกันไปหมดแล้ว การจะเปิดวิชาบังคับบางตัวให้ผมเรียน เพื่อที่จะไต่ไปเรียนตัวอื่น เกรงว่าจะยากลำบากเกินไป นั่นจึงเป็นสาเหตุที่ผมต้องย้ายมาคณะสังคมวิทยา ช่วงการเรียนมหาวิทยาลัยปีที่ 5 ภาคการศึกษาที่ 2
เบ็ดเสร็จแล้ว ผมใช้เวลาเรียนปริญญาตรีอยู่ 6 ปีครึ่ง รวมหน่วยกิตสะสมคงร่วมประมาณ 200 หน่วย เกรดเฉลี่ยประมาณ 2.00001 หรืออะไรแถวๆ นี้ ผมเคยได้เกรด F วิชา ‘สังคมและวรรณกรรม’ ทั้งๆ ที่มันเป็นสิ่งที่ผมสนใจที่สุด แถมระหว่างเรียนยังเป็นภาระให้น้องๆ ทั้งช่วยถ่ายเอกสารเลคเชอร์เก็บเอาไว้ให้ผมไปอ่าน โทรศัพท์ตามให้ผมเข้าไปสอบ กระทั่งใส่ชื่อผมลงในกลุ่มทำงานทั้งที่ผมไม่เคยช่วยงานเลย กล่าวได้ว่ากว่าจะเรียนจบ ผมติดหนี้บุญคุณน้องๆ คณะนี้หลายคนมาก แม้นว่าหลายคนจะช่วยโดยที่ผมไม่เคยร้องขอ
นี่คือความทรงจำของผมเกี่ยวกับชีวิตการเป็นนักศึกษา
+ + + + + + + + +
ครับ – เพื่อไม่ให้เรื่องทั้งหมดฟังดูหดหู่เกินไป ผมขออนุญาตเล่าประสบการณ์ส่วนตัวเล็กๆ น้อยๆ โดยขอยืมเทคนิคการเล่าเรื่องเชื่อมต่อจุด 3 จุด ของสตีฟ จอบส์ ที่ปาฐกถาปัจฉิมนิเทศ ณ มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด เมื่อปี 2005 ซึ่งเป็นปาฐกถาที่โด่งดังมาก พวกเราหลายคงก็คงเคยอ่านมาบ้าง
จุด 3 จุดของผม ก็เริ่มต้นจากเรื่องเล็กๆ เหมือนกันครับ
เรื่องที่ 1: ผมโชคดีที่ค้นพบความรักอย่างรวดเร็ว
ผมทราบดีว่า คำถามง่ายๆ ที่ว่าเราชอบทำอะไรนั้น เป็นปัญหาโลกแตกขั้นคลาสสิกสำหรับคนรุ่นปัจจุบัน หรือกระทั่งคนรุ่นผมเองก็ไม่ได้แตกต่าง ผมจึงบอกว่าผมโชคดีที่รู้ตั้งแต่แรกๆ
แรกเริ่มเดิมทีผมเองก็ไม่ได้รู้สึกมั่นใจอะไรมากมายนักว่า จะสามารถอยู่กับงานแบบที่ตัวเองทำอยู่นี้ติดต่อกันร่วม 20 ปี โดยไม่เคยลังเล ไขว้เขว คิดเปลี่ยนอาชีพไปทำอย่างอื่น
คำแนะนำสั้นๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้คือ มนุษย์ส่วนใหญ่แล้วอาจต้องใช้เวลาค้นหาสิ่งที่ตัวเองรักจริงๆ ทั้งชีวิต แต่อะไรที่เราชิงชังนั้นเรามักจะรู้สึกได้อย่างรวดเร็ว
ผมไม่ชอบทำงานแบบมนุษย์ออฟฟิศ ไม่ชอบใส่สแลค ผูกเนคไท ไม่ชอบทำงาน 8 โมง เลิก 5 โมง ไม่ชอบพิธีกรรมระบบบังคับบัญชาแบบเจ้านาย-ลูกน้อง แต่ผมชอบอ่านหนังสือตั้งแต่เรียนชั้นมัธยม มีความใฝ่ฝันว่าอยากเป็นคนเขียนหนังสือ ทำหนังสือ หรือนักหนังสือพิมพ์
ถามว่าถ้าฝันแบบนี้ แล้วทำไมไม่ไปเรียนนิเทศหรือวารสารให้สิ้นเรื่องสิ้นราว ไม่ต้องใช้ชีวิตโศกนาฏกรรมในมหาวิทยาลัยตั้ง 7 ปี
ข้อนี้อาจจะเป็นจุดอ่อนของผมประการหนึ่ง ถ้าหากฟังเมื่อครู่ว่าผมเรียนมัธยมปลายในสายวิทย์-คณิต ซึ่งไม่สามารถเอนทรานซ์เข้าคณะที่สอนการเขียนหรือสอนวิชาทำหนังสือ ทางเลือกมีอยู่ว่าผมควรเอนทรานซ์โดยอ่านหนังสือของสายศิลป์ไปเลยดีหรือไม่ ไม่ต้องวุ่นวายอยู่กับวิชาฟิสิกส์ คณิตศาสตร์ หรือเคมี
ข้อเสียของผมคือ ผมดื้อดึงและอยากเอาชนะ ในเมื่อกติกามีอยู่ว่าจุดชี้ขาดของผลเอนทรานซ์คือการอ่านหนังสือ ผมจึงอ่านหนังสือสายวิทย์อย่างหนักหน่วงเพื่อสู้ตามกติกานี้
พูดง่ายๆ คือถ้าจะสู้ อย่างน้อยต้องเข้าใจและยอมรับกติกาก่อน
ดังนั้น หลังจากผมสอบเข้าคณะเศรษฐศาสตร์ได้ แม้นว่าจะเป็นอันดับ 4 แต่ก็เป็นมหาวิทยาลัยที่ผมอยากเรียนที่สุด ผมจึงใช้ชีวิตถัดจากนั้นอย่างเหลวไหล เพราะรู้สึกว่าตัวเองได้ผ่านการพิสูจน์บางอย่างมาแล้ว
อย่างไรก็ดี ในเมื่อรายจ่ายของความเหลวไหล คือผมไม่สามารถจบปริญญาได้ภายใน 4 ปี สิ่งแรกที่ผมคิดก็คือ ต้องหางานทำ ดูแลตัวเองให้ได้ เพราะไม่มีเหตุผลที่จะไปเบียดเบียนแม่อีกต่อไป เราควรรับผิดชอบความเหลวไหลด้วยตัวเอง
คำถามคือ ถ้าจะหางานทำเพื่อส่งตัวเองเรียน แล้วเราทำอะไรเป็นบ้าง หรืออย่างน้อยรักที่จะทำอะไรบ้าง
ข้อนี้ผมตอบตัวเองชัดแต่ต้นว่า ผมอยากทำหนังสือ
ขั้นตอนต่อมาคือ เนื่องจากระหว่างเส้นทางความเหลวไหลนั้น ผมได้บ่มเพาะเพื่อนฝูงมิตรภาพไว้ตามรายทางพอสมควร เมื่อผมเอ่ยปากกับเพื่อนที่เรียนคณะวารสารฯ ว่า ผมอยากทำงาน รู้จักใครที่พอจะรับสมัครคนแบบผมบ้าง
เพื่อนที่กินเหล้าเมายาด้วยกันมองหน้าผมวูบหนึ่ง แล้วถามว่า – มึงเอาจริงใช่มั้ย
บ่ายวันต่อมา เพื่อนคนนั้นพาผมขึ้นเรือข้ามฟากจากท่าพระจันทร์ไปศิริราช เดินต่ออีกนิดไปสะพานอรุณอมรินทร์ สมัยนั้นที่นั่นเป็นที่ตั้งของบริษัทอมรินทร์พรินท์ติ้ง ยักษ์ใหญ่ในวงการสิ่งพิมพ์ที่เวลานั้นกำลังจะเข้าตลาดหุ้น
ผมกับเพื่อนอีกคนหนึ่งกรอกใบสมัครทิ้งไว้ ไม่กี่วันต่อมาเลขานุการบรรณาธิการใหญ่ก็เรียกตัวผมเข้าไปสัมภาษณ์
ทันทีที่บรรณาธิการใหญ่ของอมรินทร์รู้ว่าผมยังเรียนไม่จบ แกก็ทำท่าตกใจในความหน้าด้านของผม ทำไมเรียนยังไม่จบจึงกล้ามาสมัครงาน ผมตอบซื่อๆ ไปว่าผมรักและใฝ่ฝันอยากเป็นคนทำหนังสือ
บรรณาธิการใหญ่ท่านนั้นชื่อคุณสุภาวดี โกมารทัต ท่านก็คงเห็นสีหน้าสีตาเอาจริงของผม จึงบอกว่ามีเงื่อนไข 2 ข้อ หนึ่ง ผมจะไม่ได้รับเงินเดือนเท่าอัตราพนักงานตำแหน่งกองบรรณาธิการที่จบปริญญาตรีคนอื่น รับได้หรือไม่ สอง เนื่องจากเห็นแต่ความตั้งใจ ไม่เคยเห็นงานเขียนของผม ช่วยไปหาตัวอย่างมาให้ดูได้ไหม ถ้าข้อนี้ไม่ผ่านก็ไม่ต้องมาพูดถึงข้อแรก
ผมจึงขอกระดาษกับปากกา เขียนบทสัมภาษณ์ตัวเอง มีคำถามและคำตอบเกี่ยวกับการสมัครงานครั้งนี้ที่ผมยังไม่ได้ถูกถาม จึงยังไม่ได้ตอบออกไป
คุณสุภาวดีอ่านจบก็บอกว่า ให้มาเริ่มงานเดือนหน้า
นั่นจึงเป็นที่มาของนักศึกษาโข่งที่นั่งเรือข้ามฟากไปๆ มาๆ ระหว่างศิริราชกับท่าพระจันทร์ตลอด 3 ปี
โดยข้อเท็จจริงที่ว่า สังคมวิทยาไม่ใช่วิชาชีพเฉพาะเหมือนวิศวกร สถาปนิก หรือนักบัญชี คนที่จบสาขาสังคมวิทยาสามารถเลือกทำงานได้หลายหลายสาขาอาชีพ ขั้นตอนการตัดสินใจเบื้องต้นเกี่ยวกับเรื่องนี้คือ จงอย่าเสียเวลาทำสิ่งที่ตัวเองไม่ได้รัก ยิ่งถ้าถึงขั้นชิงชังรังเกียจที่จะทำ ยิ่งไม่ควรเสียเวลาทำแม้แต่วินาทีเดียว
ในชีวิตการทำงานช่วงเริ่มต้น ผมขอแนะนำให้ตัดคำว่า ‘ความมั่นคง’ ทิ้งไป อย่าทำเพราะองค์กรดูมั่นคง อย่าทำเพราะรู้สึกว่าเขาจ้างเงินเดือนสูง แต่กรุณาเลือกทำงานที่คิดว่าตัวเองจะสนุกกับมันและได้เรียนรู้จากมัน
นี่คือคำแนะนำสำหรับเฉพาะบัณฑิตจบใหม่นะครับ แต่พอทำงานนานๆ เข้า เราจะเรียนรู้ต่อว่า บางเวลาเราก็ต้องทำในสิ่งที่ตัวเองไม่เคยรักไม่เคยสนใจที่จะทำบ้าง เพราะโลกในความเป็นจริง ไม่มีอะไรได้ดั่งใจไปเสียทั้งหมด
มีคำง่ายๆ ของ อาจารย์ระพี สาคริก ท่านพูดเรื่องนี้เอาไว้ว่า
“หาอะไรก็ได้ที่ชอบ ทำให้ประณีต หาแก่นของเรื่องที่ทำ แล้วก็จะไปเชื่อมโยงกับเรื่องทั้งหมดเอง”
โดยส่วนตัวผมแล้ว คำว่า ‘ประณีต’ ที่ฟังดูง่ายๆ นี่แหละ คือคีย์เวิร์ดสำคัญที่สุดของการทำงาน
อีกคำหนึ่งซึ่งสำคัญไม่แพ้กัน ก็คือคำว่า ‘เชื่อมโยง’
เรื่องที่ 2: วิชาโบราณคดีไทย กับ อาจารย์ปฐมฤกษ์ เกตุทัต
ถ้าฟังตามเนื้อเรื่องที่เล่ามาข้างต้นจะพบว่า ผมทำงานประจำกองบรรณาธิการนิตยสาร Trendy Man เครืออมรินทร์ พร้อมๆ กับเรียนที่คณะสังคมวิทยาไปด้วย
ด้วยนิสัยไม่ชอบห้องเรียนแต่ดั้งเดิมบวกกับการมีข้ออ้างเรื่องงาน ผมจึงไม่ค่อยเข้าชั้นเรียน…อย่าใช้คำว่าไม่ค่อยเลยครับ ใช้คำว่าเกือบจะไม่เคยเข้าน่าจะตรงกว่า
สมัยนั้นจะมีคู่มือนักศึกษาปริญญาตรีเล่มหนาๆ เล่มหนึ่ง ซึ่งผมใช้มันจนชำนาญ เพราะต้องเลือกวิชาเรียนเอง หลักในการเลือกของผมไม่มีอะไรซับซ้อน หนึ่ง คือ ควรเป็นวิชาที่ผมมีความสนใจอยากเรียนจริงๆ สอง วิชานั้นผมสามารถอ่านเองไม่ต้องเข้าห้องเรียนก็ได้
ผมเลือกวิชาโบราณคดีไทยด้วยเหตุผลข้อแรก โดยไม่รู้เลยว่าในภาคการศึกษานั้นผมลงทะเบียนวิชานี้เพียงคนเดียว
บ่ายวันหนึ่ง ผมเดินเข้าคณะเป็นครั้งแรกหลังจากเปิดเทอมได้ราว 2 สัปดาห์ ก็มีน้องๆ ที่ปรารถนาดีต่อผมแจ้งข่าวหน้าตาตื่นว่า…พี่ๆ อาจารย์โบราณคดีไทย เขาเขียนป้ายประกาศหาตัวพี่กันให้ควั่ก พี่ช่วยไปติดต่ออาจารย์หน่อย ตอนนี้แกอยู่ที่ไซต์งาน…ตอนนั้นเพิ่งค้นพบแนวกำแพงเมืองเก่าบริเวณประตูท่าพระอาทิตย์ แถวๆ โรงอาหารคณะเศรษฐศาสตร์ ติดกับหอสมุดเดิม
อาจารย์ปฐมฤกษ์ เกตุทัต ท่านมีเมตตาต่อผมมาก นอกจากจะไม่ดุด่าว่ากล่าวแล้ว ท่านยังดูเข้าใจด้วยว่าผมไม่น่าจะมาเข้าชั้นเรียนได้ตามปกติ กติกาการเรียนจึงมีอยู่ว่า อาจารย์จะสั่งให้ผมไปอ่านหนังสือ จากนั้นเราก็มานั่งคุยกันถึงเนื้อหาประเด็นที่ได้อ่าน
สิ่งที่ผมได้รับจากอาจารย์ปฐมฤกษ์ ไม่ใช่แค่ความเมตตาเท่านั้น แต่ยังมีคีย์เวิร์ดสำคัญคำหนึ่ง ซึ่งเกิดจากการซักถาม ด้วยคำถามโง่ๆ ของผมเอง ทำนองว่า…เหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่เรากำลังคุยกันอยู่นี้ เกิดขึ้นในรัชสมัยใด
นึกออกใช่มั้ยครับ คำถามนี้มันสะท้อนว่า ขนาดเรียนถึงปี 5 แล้ว เวลาหลับตาจินตนาการถึงเส้นเรื่องทางประวัติศาสตร์ เรายังคิดอะไรตามเส้นตรง พล็อตในหัวเข้าใจแค่อะไรว่า ข้อเท็จจริงมันต้องเป็นแท่งๆ ประเภทว่า…บรรพบุรุษของเราอพยพมาจากเทือกเขาอัลไต ไต่ข้ามภูเขามาตั้งรกรากที่ดินแดนขวานทอง จากนั้นพ่อขุนรามคำแหงก็ประดิษฐ์อักษรไทยเป็นอักษรประจำชาติด้วยพระองค์เองโดยลำพัง ฯลฯ
คำอธิบายของอาจารย์ปฐมฤกษ์ ที่กล่าวทำนองว่า…เวลาเราจะหาข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ อย่าไปคิดเป็นพล็อตแบบเส้นตรงแบบนั้น เพราะในความเป็นจริง อารยธรรมเกิดขึ้นเป็นหย่อมๆ มีทั้งแอ่งอารยธรรมหย่อมนั้นหย่อมนี้ แต่ละที่แต่ละแห่งล้วนปฏิสัมพันธ์ต่อกัน สิ่งที่เราค้นพบในแต่ละหย่อมจะทำหน้าที่ประกอบกันเป็นจิกซอว์ เพื่ออธิบายโครงเรื่องใหญ่ต่างหาก
สำหรับผมแล้ว นี่เป็นวิธีคิดที่มีค่ามากในชีวิตการทำงาน โดยเฉพาะงานสื่อ งานที่เกี่ยวข้องกับการแสวงหาข้อเท็จจริง งานที่เกี่ยวข้องกับการคิด การรู้จักตั้งคำถาม การคิดหาประเด็น และตั้งสมมุติฐาน
นั่นเป็นเรื่องของวิธีคิดเชิงเนื้อหาและการมองประเด็น
ผมมารู้ภายหลังอีกว่า คุณูปการอันใหญ่หลวงอีกประการหนึ่งของหลักคิดที่ไม่ยึดติดกับเส้นเรื่องที่เป็นเส้นตรง แข็งเป็นแท่งๆ ก็คือ มันทำให้เราฝึกการมองทุกอย่างเป็นภาพรวม เห็นโครงสร้าง และเข้าใจกลไกการทำงานของมัน ซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงกับ ‘วิธีทำงาน’
พวกเราเคยผ่านไปตามโรงงานแถวสระบุรี อยุธยา แล้วเห็นป้ายรับสมัครคนงานจำนวนมาก ไม่จำกัดวุฒิ บ้างไหมครับ เบื้องหลังป้ายประกาศนี้ก็คือ เขาต้องการแรงงานที่ทำงานตามสายพาน เช่นว่า มีหน้าที่ขันน็อต ก็ขันน็อตไปเช้าจนเย็น บางทีก็ขันอยู่อย่างนั้นไปตลอดปีตลอดชาติ จนแก่เฒ่า หมดอายุขัยการใช้แรงงาน
ผมพบว่าบรรดาคนงานคอปกขาวจบปริญญาตรีจำนวนมาก ก็มีความคิดไม่ต่างคนงานขันน็อต กล่าวคือแต่ละคนต่างก็ทำหน้าที่เฉพาะของตัวเอง โดยที่แทบไม่ต้องรู้ว่า ก่อนหน้าที่งานชิ้นนั้นจะมาถึงเรามันเป็นอะไรมาก่อน และพ้นจากหน้างานเราไปมันจะไปทำอะไรต่อ
กระทั่งว่าหลังจากประกอบทุกอย่างเสร็จสรรพ ชิ้นงานที่เรามีส่วนทำมันขึ้นมานั้นจะมีรูปร่างหน้าตาอย่างไร จะไปทำหน้าที่อะไร หรือจะไปสร้างผลกระทบเชิงบวกหรือเชิงลบให้กับใครบ้าง
ในสมัยหนึ่ง วิธีคิดเรื่องแบ่งงานกันทำตามความถนัดและตามหน้าที่นั้นมันอาจจะเหมาะกับบางยุคหรือบางอาชีพ แต่ในปัจจุบันผมคิดว่ามันไม่เพียงพออีกต่อไป
ไม่ใช่แค่การเคลื่อนย้ายแรงงานขันน็อตจากไทยไปเวียตนามหรือไปพม่าหรอก กระทั่งงานสื่อมวลชนเอง ถึงตอนนี้บุคลากรในเครือบริษัทยักษ์ใหญ่ต่างก็ถูกเรียกร้องให้ทำงานหลายอย่างในเวลาเดียวกัน คุณไม่ใช่แค่นักข่าวหนังสือพิมพ์ แต่ต้องสามารถรายงานหน้าจอโทรทัศน์ได้ ถ่ายคลิปวิดีโอได้ มีทักษะในการตัดต่อ กระทั่งว่าบางองค์กรข่าว ยังต้องเชิญนักเขียนไปเวิร์กช็อปกับนักข่าว เพื่อให้คนเหล่านั้นสามารถเขียนสารคดี เขียนสกู๊ปได้อย่างแหลมคม มีชีวิตชีวา ไม่ใช่แค่รายงานข่าวว่าใคร / ทำอะไร / ที่ไหน / อย่างไร ได้อย่างเดียว
สำหรับวิชาชีพอื่น ผมอาจจะไม่สามารถให้ความเห็นได้มากนัก แต่ในวิชาชีพสื่อ นี่เป็นทิศทางความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญมาก นั่นก็คือ คุณต้องสามารถทำอะไรเป็นหลายๆ อย่างในเวลาเดียวกัน คุณจึงสามารถยืนอยู่ในฐานะบุคลากรที่องค์กรต้องการ
ตอนผมเริ่มต้นอาชีพนี้ ผมชอบไปนั่งคุยแลกเปลี่ยน ขอความรู้จากฝ่ายศิลปกรรม คุยกับกราฟิกดีไซเนอร์ คนออกแบบปกหนังสือ คุยกับช่างภาพ หรือแม้กระทั่งซักถามถกเถียงกับฝ่ายพิสูจน์อักษรว่าคำคำนี้ควรใช้อย่างไร คนเหล่านี้ล้วนเป็นฟันเฟือง เป็นองคาพยพหนึ่งในการขับเคลื่อนหนังสือสักหนึ่งเล่ม
ผมเชื่อว่านอกเหนือจากความรักในงานที่ทำแล้ว ยังมีข้อเรียกร้องตามมาอีกว่า เราต้องมีทักษะและความรู้ในสิ่งที่ตัวเองทำด้วย ลำพังใจรักเป็นแค่คำพูดของเด็กจบใหม่ แต่มืออาชีพต้องมีทักษะ มีความแม่นยำ และมีความสามารถในการเชื่อมต่อความรู้นั้นๆ
สิ่งที่สำคัญกว่าการรู้นั่นรู้แบบที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้จากการถามกูเกิลก็คือ ความสามารถในการเชื่อมต่อความรู้ทั้งหมด เพื่อขึ้นรูปมันออกมาเป็นชิ้นงาน โดยมีโครงสร้างทางการคิดที่แข็งแรงเป็นกระดูกสันหลังรองรับ
เรื่องที่ 3: การปิดตัวของนิตยสารข่าวรายสัปดาห์ฉบับหนึ่ง
หลังจากเรียนจบปริญญาตรี ปี 2539 ผมลาออกจากอมรินทร์ ไปทำงานที่หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุกิจ เริ่มต้นจากตำแหน่งนักข่าว-รีไรท์เตอร์ประจำเซ็คชั่นจุดประกาย ปีนั้นผมขอลาหยุดไปรับปริญญา หัวหน้าโต๊ะยังขำเลยว่า ทำไมเพิ่งมารับเอาตอนนี้ เพราะที่ผ่านมาผมไม่เคยใช้ทรานสคริปต์หรือใช้หลักฐานการศึกษาในการสมัครงานมาก่อน
จากคนเขียนสกู๊ปและเป็นรีไรเตอร์ประจำหน้าหนึ่งเซ็คชั่นจุดประกายยุคนั้น พอถึงปี 2543 ผมก็ได้รับมอบหมายให้เป็นบรรณาธิการแทบลอยด์ของวันเสาร์ ซึ่งทำไปทำมาก็ไปสะดุดตาผู้บริหารนิตยสารรายเดือนฉบับหนึ่ง ขออนุญาตไม่เอ่ยชื่อนะครับ เพื่อป้องกันเสียงครหาว่าผมเอาชื่อเสียงเก่าๆ มาทำมาหากิน
ในช่วงปี 2547 ผมตัดสินใจลาออกจากองค์กรเนชั่น เพื่อไปหนังสือเล่มดังกล่าว ด้วยเหตุผลธรรมดามาก กล่าวคืออยากจะทำอะไรที่มันเต็มไม้เต็มมือขึ้น ไม่ได้คิดหน้าคิดหลังมากหรอกครับว่ามันจะมั่นคงหรือไม่มั่นคง
ทำได้เพียง 1 ปี นิตยสารรายสัปดาห์เล่มดังกล่าวก็ต้องปิดตัวเองด้วยเหตุผลทางธุรกิจ พูดง่ายๆ คือขาดทุน เจ๊งย่อยยับ เพราะเป็นหนังสือที่ลงทุนสูงมาก แต่รายได้โฆษณาไม่ได้ตามเป้า
ก่อนเข้าไปทำงาน ผมได้ยื่นเงื่อนไขตั้งแต่ต้นว่า ผมขอรับผิดชอบแต่การผลิตเนื้อหาให้เป็นนิตยสารที่ดีเล่มหนึ่ง ส่วนเรื่องธุรกิจทั้งปวงผมไม่ขอยุ่งเกี่ยว และอย่าเอาโฆษณามายุ่งเกี่ยวกับเนื้อหาของผม ซึ่งแต่เดิมข้อตกลงนี้ก็เป็นที่เข้าใจยอมรับร่วมกัน
ตอนที่หนังสือปิด ผมถูกตราหน้าว่าไม่เข้าใจธุรกิจหนังสือ และหัวดื้อไม่ยอมลงให้กับใคร
นิตยสารรายสัปดาห์ฉบับนั้น ปิดตัวเมื่อเดือนพฤษภาคม 2548 ลูกสาวผมคลอดเดือนกรกฎาคม ปีเดียวกัน
ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับชีวิตประการหนึ่งก็คือ ในฤดูมรสุมนั้นพายุมันไม่ได้มาแค่ลูกเดียว แต่ส่วนใหญ่แล้ว มรสุมชีวิตมักจะมาเป็นแพ็คเกจในเวลาไล่เลี่ยกัน
ตอนที่หนังสือปิดตัว ผมเพิ่งเริ่มต้นผ่อนบ้านได้เพียงเดือนเดียว บ้านที่เตรียมเอาไว้ให้ลูกที่จะเกิดมามีคุณภาพชีวิตที่ดีที่สุดเท่าที่กำลังผมจะหาได้ ก่อนหน้านั้นผมพลัดพรากจากบ้านหลังเดิม เคยต้องอาศัยออฟฟิศนอนเป็นเวลาติดต่อกันนับเดือน
นึกย้อนกลับไปมองแล้ว ผมค่อนข้างแปลกใจตัวเองอยู่เหมือนกันว่า ในวันที่ขาดรายได้ประจำอย่างกระทันหันในขณะที่มีเพิ่งเริ่มต้นมีภาระและหนี้สินประจำรออยู่ เหตุใดผมจึงใช้เวลาอยู่กับความเครียดและความกังวลสั้นมาก
แน่นอน เพื่อนฝูงและมิตรภาพก็เป็นส่วนหนึ่งในการประคับประคองช่วงเวลาหายนะ เพราะทันทีที่ทราบข่าวของผม คุณสุทธิพงษ์ ธรรมวุฒิ แห่งทีวีบูรพา ก็หยิบยื่นข้อเสนอรองรับผมทันที ซึ่งผมก็ทำได้เพียงช่วงสั้นๆ ก่อนจะออกมาตั้งองค์กรของตัวเอง
สิ่งที่ผมเรียนรู้จากเหตุการณ์นี้ก็คือ ปัญหามีไว้ให้แก้ เวลาเจอปัญหาอย่ากลัว อย่าแตกตื่นลนลาน อย่าทำให้ปัญหาหนึ่งส่งผลลุกลามไปถึงอีกปัญหาหนึ่ง แต่จงควบคุมและจำกัดพื้นที่ความเสียหาย จากนั้นค่อยลงมือสะสางทีละเรื่อง
ผมจึงไม่ค่อยเชื่อ และไม่ค่อยชอบฟังคนนั้นคนนี้เล่าเรื่องความสำเร็จของตัวเอง หรือมานั่งฟังผู้ประสบความสำเร็จในชีวิตเล่าเรื่องตัวเอง แต่ผมจะชอบดู ชอบสังเกตคน เวลาที่เขาตกต่ำที่สุด เพลี่ยงพล้ำที่สุด ผมคิดว่าช่วงเวลาแบบนี้ต่างหากที่จะตัดสินว่าเขาเป็นคนประเภทไหน โดยดูได้จากสิ่งที่เขาเลือกทำ ดูว่าวิธีการแก้ปัญหาของคนเหล่านั้นมันน่านับถือหรือไม่
ผมก่อตั้งบริษัทผลิตสิ่งพิมพ์เล็กๆ เป็นของตัวเองเมื่อปี 2548 เมื่อถึงปี 2549 นิตยสาร way เล่มแรกก็ปรากฏตัวบนแผงหนังสือ ผ่านการล้มลุกคลุกคลาน ทุกวันนี้ก็ยังต้องต่อสู้ดิ้นรนอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์ที่เราเรียกกันว่า ‘ยุคอัสดงของสื่อสิ่งพิมพ์’ เราก็ยิ่งต้องทำงานหนักขึ้นอีกหลายเท่า
แน่นอนครับ เรายังไม่ได้สุขสบาย หรืออยู่ในฐานะจะมาพูดจาโอ้อวดความสำเร็จ แต่สิ่งหนึ่งที่ผมพอจะเล่าได้ก็คือ การดำรงอยู่ของนิตยสาร way และองค์กรที่ผมตั้งมาเป็นเวลา 7 ปีนั้น มันคือผลพวงจากสิ่งที่ผมทำมาตลอดชีวิตนับตั้งแต่เริ่มต้นวิชาชีพนี้
มีคนจำนวนหนึ่งเชื่อถือในวิถีทางที่เราทำและเราเป็น พวกเขาเป็นทั้งผู้อ่านที่เดินเคียงข้างกับเรา ขณะเดียวกันบางคนก็เป็นผู้รับผิดชอบองค์กรหรือหน่วยงานที่ต้องการมืออาชีพด้านสิ่งพิมพ์ ทุกวันนี้บริษัทเล็กๆ ที่ผมตั้งขึ้นมาจึงเป็นคล้ายๆ โปรดักชันเฮาส์ ทำงานสื่อสิ่งพิมพ์ให้กับหลายๆ หน่วยงาน อาจพูดได้ว่าช่วงหลายปีหลังมานี้สถานะบริษัทพอจะมีกำไรอยู่บ้าง
จากคนที่ไม่เคยสนใจธุรกิจ ไม่เคยอ่านหนังสือฮาวทูเรื่องการบริหารจัดการ ถึงวันนี้ผมพบว่า สิ่งที่เรารักในวันแรกๆ นั้น มันได้ย้อนกลับมาสอนทักษะ วิธีบริหารจัดการ วิธีคำนวณต้นทุน วิธีปฏิสัมพันธ์กับผู้คน กล่าวรวมๆ คือ วิถีทางของการเป็นคนทำหนังสือ มันได้ช่วยสอนช่วยให้ความรู้วิธีการเอาตัวรอดในชีวิตจริงแก่เราเอง
ในสภาวะเช่นนี้ ผมคิดว่าสิ่งที่จะประคับประคองเราให้มีพื้นที่ยืนต่อไปได้ก็คือ ความซื่อสัตย์ต่อสิ่งที่เรารัก ซื่อสัตย์ต่อสิ่งที่เราเลือก และซื่อสัตย์ต่อสิ่งที่เราเป็น ซึ่งเราจะพบบททดสอบเกี่ยวกับเรื่องนี้อยู่เสมอๆ
ยกตัวอย่างเล็กๆ ให้ฟังกันเล่นๆ ก็แล้วกันนะครับ หลายวันก่อนมีบริษัทพลังงานยักษ์ใหญ่ของประเทศติดต่อขอลงโฆษณาใน way แต่มีเงื่อนไขคือจะลงในรูปแบบ advertorial พูดง่ายๆ คือไม่ได้ลงเป็นหน้าโฆษณา แต่ทำเนียนให้กลมกลืนไปกับเนื้อหา…ผมคิดว่าเราต้องเจอกับบททดสอบทำนองนี้อยู่เสมอ ถ้าเราเผลอตัว กลัวความยากจน หรือละโมบในสิ่งเล็กๆ น้อยๆ สุดท้ายแล้ว เราจะกลายเป็นมนุษย์ประเภทเดียวกับที่เราเคยรังเกียจ
ทั้งนี้ทั้งนั้น ควรเตรียมใจยอมรับแต่เบื้องต้นว่า ถ้าหากเลือกแนวทางชีวิตที่ประสานงากับคนส่วนใหญ่ หนทางถัดจากนี้ไปก็ย่อมทุรกันดารเป็นธรรมดา
แต่โดยส่วนตัวผมแล้ว นี่เป็นวิธีการเดียวที่เราจะมีคำตอบให้กับตัวเองว่า เราจะเรียนหนังสือไปทำไม แสวงหาความรู้ไปทำไม ทำงานหนักไปทำไม หรือกระทั่งจะใช้ชีวิตในแต่ละวันอย่างไร
ลองทบทวนจุด 3 จุดที่ผมเล่ามาก็ได้นะครับ
เริ่มจากค้นหาสิ่งที่เรารัก จากนั้นจงทำมันด้วยความหลงใหลและประณีต / เชื่อมต่อความรู้ความสงสัย อย่าได้เชื่อเรื่องเล่าแบบเส้นตรง และอย่าทำงานแบบลูกจ้างในระบบสายพาน แต่พยายามมองให้เห็นภาพรวม เห็นกลไกการทำงานในกิจกรรมที่เราทำ / และสุดท้าย ซื่อสัตย์ต่อสิ่งที่ตัวเองเลือก เผชิญหน้ากับทุกปัญหาด้วยความเยือกเย็น
ขอให้บัณฑิตทุกท่านใช้ชีวิตนอกมหาวิทยาลัยด้วยความกล้าหาญ
ขอบคุณครับ