โลกกว้าง ทาง (ไม่) แคบ กับสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา



ชูวัส ฤกษ์ศิริสุข

อดีตบรรณาธิการสำนักข่าวประชาไท
ผู้ดำเนินรายการ voice tv

สังคมวิทยาและมานุษยวิทยาบัณฑิต
ปีการศึกษา 2537

ผู้ได้รับโล่เกียรติยศ ประเภทศิษย์เก่าดีเด่น
คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
วันสถาปนามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ครบรอบ 81 ปี (พ.ศ. 2558)

ปาฐกถาในงานปัจฉิมนิเทศ
คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
วันศุกร์ที่ 26 มิถุนายน 2563


สวัสดีครับ คณาจารย์ บัณทิต นักศึกษาและผู้ชมทุกท่าน

นอกจากการพูดในรายการทีวีที่เป็นส่วนหนึ่งของอาชีพการงาน ก็ไม่ใช่เรื่องปกตินักที่ผมจะได้มีโอกาสมาพูดในที่สาธารณะ ยิ่งไม่ปกติเมื่อได้รับโอกาสให้มาพูดในวาระส่งท้ายการใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัยของนักศึกษาหลายๆ ท่านในสถานที่ที่ผมผูกพันอย่างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยเฉพาะเรื่องที่ต้องมาพูดนั้นเกี่ยวกับความคิด ชีวิตและการงานของผม

ผมจึงรู้สึกว่าได้รับเกียรติเป็นอย่างมาก และขอขอบคุณผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกท่านที่หยิบยื่นวาระโอกาสนี้มาให้

…..

แรกเริ่มเดิมที ผมได้รับการติดต่อจากอาจารย์บุญเลิศว่าให้มาพูดปรัชญาการดำเนินชีวิตและสิ่งที่ไม่มีเรียนในห้องเรียนให้น้องๆ ที่กำลังจะจบฟัง ตอนนั้นก็ออกจะเคอะเขินหน่อยเพราะไม่เคยคิดว่าตัวเองมีอะไรดีที่จะให้ใครเรียนรู้ได้ แต่ในชีวิตคนเรานั้น เราควรมีเพื่อนบางประเภทไว้ เป็นประเภทที่เวลาเอ่ยปากไหว้วานอะไรแล้วเราจะปฏิเสธไม่ได้ บังเอิญผมมี ผมเลยไม่กล้าปฏิเสธ จากนั้นก็ครุ่นคิดว่าเราจะเอาอะไรไปพูด

ผ่านไปหลายวัน ก็อินบอกซ์มาบอกว่า “พี่ ผมได้หัวข้อล่ะ ใช้หัวข้อว่า ‘โลกกว้าง ทางไม่แคบ กับสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา’ เอาล่ะสิ เริ่มเกาหัวล่ะ นี่จะต้องมารื้อวิชาการที่เคยร่ำเคยเรียนและคืนอาจารย์ทั้งหลายไปหมดแล้วด้วยหรือ

ครั้นจดหมายเชิญอย่างเป็นทางการออกมา ในจดหมายนั้นยังได้กรุณาแนะนำว่าผมเป็นศิษย์เก่าดีเด่นของคณะ ซึ่งนั่นมันเกี่ยวข้องกับหน้าที่การงานของผมเมื่อครั้งทำงานเต็มตัวอยู่กับเว็บไซต์ประชาไท

ดังนั้น การพูดของผมในวันนี้ จึงจะเกี่ยวข้องกับหน้าที่การงานของผมในเว็บไซต์ประชาไท ชีวตและการก่อรูปจนมาเป็นผมในวันนี้ และมุมมองของผมกับสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา โดยหวังจะเป็นประโยชน์กับทุกท่านบ้างแม้เล็กน้อยก็ยังดี

….

ผมรู้สึกได้รับเกียรติอย่างมากที่ได้มาพูดในวันนี้ อย่างที่บอกไว้ในตอนต้นว่า เกียรติที่ผมได้รับ ส่วนหนึ่งน่าจะมาจากการที่ผมได้รับเลือกให้เป็นศิษย์เก่าดีเด่นของคณะสังคมวิทยาฯ เมื่อสองปีที่แล้ว

ในคำประกาศของคณะนั้น ยกย่องผมอย่างเกินตัวผมไปมากว่า “ผู้วางรากฐานให้กับสื่อใหม่” ซึ่งสื่อใหม่ที่ว่านี้คงจะหมายถึง ‘เว็บไซต์ประชาไท’ ดังนั้นผมจึงจะขอใช้โอกาสนี้พูดถึงเว็บไซต์ประชาไทสักเล็กน้อย

ต้องแจ้งทุกท่านไว้ด้วยว่า ณ วันนี้ผมไม่ได้มีบทบาทหน้าที่อะไรในสำนักข่าวประชาไทแล้ว ดังนั้นสิ่งที่ผมจะพูดเกี่ยวกับประชาไท เป็นเรื่องในสมัยที่ผมเป็นบรรณาธิการ ไม่ผูกพันว่าสมัยนี้ต้องเหมือนสมัยก่อน และหวังว่าจะไม่เป็นโซ่หรือกับดักภาพลักษณ์ให้เปลี่ยนแปลงอะไรในประชาไทไม่ได้ ซึ่งต้องขออภัยและขออนุญาตเพื่อนๆ ที่ประชาไทไว้ ณ ที่นี้

….

‘ประชาไท’ คำว่า ‘ไท’ นี้เป็นไทที่ไม่มี ย ยักษ์ ซึ่งมีความหมายตรงตัวว่า ‘เสรี’ มันเริ่มต้นขึ้นโดยจอน อึ๊งภากรณ์ แน่นอนผมไม่ใช่ผู้ก่อตั้ง เป็นก็แต่เพียงผู้เป็นส่วนหนึ่งในการผลักให้มันเป็นสื่อมวลชนอิสระบนแพลตฟอร์มใหม่อย่างอินเทอร์เน็ต

เราเริ่มต้นสื่อใหม่ด้วยการตั้งคำถามใหม่ พยายามไปให้พ้นกรอบและขนบของสื่อมวลชนแบบเดิมๆ

เล่ากันอย่างรวบรัด ในสมัยที่การเข้าถึงโครงข่ายอินเทอร์เน็ตยังเป็นเรื่องใหม่ และต้องเชื่อมต่อผ่านโมเด็มในความช้าระดับที่คนสมัยนี้ยากจะนึกถึง จอน อึ๊งภากรณ์ กลับเห็นว่า ช่องทางนี้กำลังจะกลายเป็นช่องทางหลักของการสื่อสารในโลก

และนั่นหมายถึงโอกาสของการเกิดขึ้นของสำนักข่าวและสื่อมวลชนของคน ‘ตัวเล็กตัวน้อย’ ที่จะแหกปากส่งเสียงความทุกข์ยากของพวกเขาให้ดังขึ้นมาได้ จากที่เมื่อก่อนแทบไม่เคยมีพื้นที่ในสื่อ หรือกว่าจะมีได้ก็ต้องประท้วง ไม่ก็ต้องทำตัวให้ประหลาดเข้าไว้เพื่อช่วงชิงพื้นที่ข่าว

จะมีอะไรที่บ่งชี้ได้ถึงความเป็นเจ้าของประเทศนี้ร่วมกัน หากไม่ใช่สิทธิเสรีภาพที่จะแหกปากส่งเสียงหรือแสดงออกของคนทุกๆ คน

รัฐธรรมนูญในระบอบประชาธิปไตยทั่วโลกจึงต้องวางหลักประกันนี้ไว้ในมาตราแรกๆ ของรัฐธรรมนูญด้วยกันทั้งสิ้น

เราเชื่อกันในสมัยนั้นว่า เมื่อโลกใหม่ได้สร้างสื่อใหม่ให้ใครๆ ก็มีสิทธิและโอกาสจะส่งเสียง ประชาธิปไตยที่โดยความหมายของมัน คือทุกๆ คนเป็นเจ้าของประเทศเท่าๆ กัน ก็มีโอกาสได้ลงหลักปักฐานและเจริญงอกงามเสียที

อย่าลืมนะครับว่า ก่อนที่จะมีโซเชียลมีเดีย การแสดงความเห็นของผู้คน ถูกจำกัดช่องทางไว้ที่สื่อมวลชน แต่จะมีสื่อมวลชนกี่สำนักกันที่จะเป็นปากเป็นเสียงให้กับคนเล็กคนน้อย ให้กับคนที่ถูกรัฐมองเป็นภัยต่อความมั่นคง เป็นภัยต่อการพัฒนา เพราะข่าวของคนเล็กคนน้อยมันขายไม่ได้ มันกระทบกับการพัฒนาที่รัฐและธุรกิจผู้ลงโฆษณาได้ประโยชน์ทั้งสิ้น

ประชาไท เกิดขึ้นก็โดยความหมายนี้

เราไม่ต้องเสียต้นทุนไปกับเงินค่าพิมพ์กระดาษ เราไม่ต้องลงทุนอะไรมากมาย ผู้อ่านเพียงแค่เปิดคอมฯ เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตก็เป็นอันใช้ได้

เมื่อมีต้นทุนน้อย เราอาจไม่จำเป็นต้องหวังพึ่งรายได้จากการโฆษณา เมื่อมันอยู่บนอินเทอร์เน็ตที่มาได้จากทุกที่ทั่วโลก ก็ไม่ต้องกลัวว่ารัฐบาลหน้าไหนจะมาปิดหรือแทรกแซงเรา และนั่นจะทำให้เรามีเสรีภาพที่จะเสนอข่าว พูดง่ายๆ คือเราคิดว่า เข้าใกล้สื่อมวลชนในอุดมคติมากขึ้นทุกที

แต่หนทางไม่ง่ายอย่างนั้นหรอก แม้หลายเรื่องประชาไทจะเป็นหนึ่งในผู้นำร่องหรือกล้าขยับเพดานการพูดถึง แต่เอาเข้าจริงๆ ยังมีหลายเรื่องที่เรายังพูดไม่ได้ ซึ่งไม่ว่าอย่างไร ตลอดอายุของประชาไท แม้ในวันนี้ที่ผมไม่อยู่แล้ว ผมยังคงเชื่อมั่นว่า เรายังคงอยู่บนหนทางนั้นไม่ต่างจากการเริ่มต้นเมื่อ 15 ปีที่แล้ว

และดูสถานการณ์จะแหลมคมมากขึ้นเรื่อยๆ

….

ผมเริ่มอาชีพสื่อมวลชน ในปี 2537 ในเวลาที่ยังไม่จบจากคณะสังคมวิทยาฯ ด้วยซ้ำ จากสยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ไปทำฝ่ายข้อมูลให้กับสำนักพิมพ์ผู้จัดการในช่วงเวลาสั้นๆ และเป็นนักข่าวอย่างเต็มตัวก็เมื่อไปอยู่ที่เนชั่นสุดสัปดาห์ ก่อนที่จะลาออกเพราะ อธิคม คุณาวุฒิ ชวนให้มาเปิดนิตยสาร adayweekly ของคุณวงศ์ทนงค์ ชัยณรงค์สิงห์ ด้วยกัน

โดยอาชีพการงาน ผมจึงถูกจัดว่ามีอาชีพสื่อมวลชน เป็นสื่อมวลชนอาชีพ

และนั่นอาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ผมถูกชักชวนให้มาทำงานที่ประชาไท

แน่ละผมไม่ได้จบคณะวารสารฯ ผมจบสังคมวิทยาฯ เราอาจจะไม่เคยเรียนเรื่องการเขียนข่าว การบรรณาธิการ เรียบเรียง หรือหาประเด็นข่าวมาโดยตรง แต่ทักษะและความเชี่ยวชาญเหล่านี้เรียนรู้ได้

และถึงแม้ผมจะไม่เคยเรียนมาทางด้านวารสารฯ แต่ผมก็เชื่อในหลักการและความรับผิดชอบของสื่อมวลชน กระนั้นการจะเรียกตัวเองว่า สื่อมวลชนอาชีพนั้นก็ยังรู้สึกแปร่งๆ และด้วยความสัตย์จริง ตลอดอายุการงานจนถึงวันนี้ ผมก็ยังไม่เคยสำนึกถึงเรื่องนี้เท่าไรนัก กล่าวคือไม่เคยรู้สึกว่าตัวเองเป็นสื่อมวลชนมืออาชีพ หรือให้ชัดๆ ไปอีกก็คือ ผมยังคงสงสัยว่า มันมีด้วยหรือสื่อมวลชนมืออาชีพ ควรมีหรือ และจะสถาปนาฐานะของมันเพื่ออะไร

เพราะบ่อยครั้งเรามักจะพบว่า การพยายามเรียกตัวเองว่าสื่อมวลชนมืออาชีพไม่ได้บ่งบอกถึงความรับผิดชอบในการเสนอข่าวเคียงข้างคนด้อยโอกาส หรือเปิดพื้นที่ให้กับคนไร้เสียง คืนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ให้กับเขา มิหนำซ้ำ การประกาศตัวว่าสื่อมืออาชีพ มันมักจะลงเอยด้วยการย้ำว่า มีแต่อาชีพสื่อเท่านั้นที่ควรค่าต่อการพูด การคิดและการแสดงออก พลเมืองทั้งหลายจงหุบปาก เพราะคุณหาได้มีความรับผิดชอบต่อการเสนอข่าว ไม่เปิดข้อมูลอย่างรอบด้านหรือไม่เป็นกลาง เป็นต้น

ข้อถกเถียงเหล่านี้ เป็นปัญหาหลักของการทำงานในเว็บไซต์ประชาไทมาเกือบครึ่งทศวรรษ เราถูกรุมเร้าจากองค์กรพัฒนาเอกชน จากองค์กรสื่อฯ วนเวียนกับเรื่องเหล่านี้

จนกระทั่งการมาถึงของโซเชียลมีเดีย ข้อถกเถียงเหล่านี้ก็กลายเป็นเถ้าถ่าน ไร้ความน่าสนใจเพราะมันไม่มีผลอะไร โลกใบใหม่ไม่แยแสคุณอีกแล้ว มีพลเมืองในโซเชียลส่งเสียงเต็มไปหมด บางคนมียอดคนอ่าน คนติดตาม ผลสะเทือนและความน่าเชื่อถือมากกว่าสื่อกระแสหลักบางสำนักด้วยซ้ำ

สำหรับผม ความปั่นปวนจากนักเลงคียบอร์ด ดราม่าและการก่นด่ากันไปมาในโลกโซเชียล ไม่ได้หมายความว่าโลกกำลังเปลี่ยนแปลงไปในทางที่เลวร้าย

และไม่ว่าข้อถกเถียงเรื่องความจำเป็นของสื่อมวลชนอาชีพจะสรุปออกมาในทางไหน ความเป็นมืออาชีพและความรับผิดชอบของสื่อก็ไม่ควรเป็นเหตุลดทอนเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของผู้คนอีกต่อไป

ภาระการกลั่นกรองข่าวสารเป็นเรื่องของประชาคมผู้ใช้โซเชียลมีเดีย ประชาชนโตเกินกว่าที่จะให้คุณพ่อรู้ดีมาบอกว่าอะไรควรพูด อะไรไม่ควรพูด

ทุกท่านครับ น้องๆ ครับ ผมเองก็ไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นในสมัยที่ผมเป็นนักศึกษาสังคมวิทยาฯ ในช่วงเวลา 4 ปีที่ผมอยู่นั้น คณะสังคมวิทยาฯ ได้ผลิตบรรณาธิการออกมาถึง 4 คน และแต่ละคนก็มีความแหลมคมชนิดที่เรียกได้ว่า เป็นตำนานในแบบฉบับของตัวเอง ที่สำคัญทุกคนล้วนหันหน้าไปในทางเดียวกันทั้งสิ้น หนึ่งคือ ธนาพล อิ๋วสกุล บก.สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน หนึ่งคือ อธิคม คุณาวุฒิ บก.นิตยสารและสำนักพิมพ์ way และอีกหนึ่งคือ บูรพา เล็กล้วนงาม อดีต บก.สำนักข่าวอีสานเรคคอร์ด

กลับมาที่เว็บไซต์ประชาไท กล่าวอย่างตรงไปตรงมา ความสำเร็จของประชาไทนั้น หากจะมีอยู่บ้าง เกือบทั้งหมดมาจากน้ำพักน้ำแรง และการแตกหักกับความคิดกระแสหลักของผู้คนทุกคนที่อยู่ในประชาไท

ผู้กำลังจะจบการศึกษาทุกท่านครับ การแตกหักกับความคิดกระแสหลักนี้เป็นเรื่องสำคัญ เพราะมันคือประตูบานใหญ่ที่เชื่อมสิ่งสองสิ่งเข้าด้วยกัน หรือพูดอีกอย่างก็คือ การแตกหักกับความคิดกระแสหลักมันจะหลอมการงานให้เข้ากับชีวิตตัวเอง จนกระทั่งงานไม่ได้หมายถึงค่าตอบแทน หากแต่เป็นส่วนสำคัญของการใช้ชีวิต หาใช่โซ่ตรวนที่คอยเฆี่ยนตีให้เราต้องเดินไปข้างหน้าในทุกๆ วันอย่างซ้ำซากจำเจ

กล่าวสำหรับผมในฐานะอดีต บก. สิ่งที่ผมได้ทำกับมันตอนเป็น บก. ร่วมกับเพื่อนหลายๆ คนก็มีเพียงเท่านี้ คือสร้างสภาวะหลอมละลาย ให้ทุกคนได้เป็นเจ้าของประชาไท เห็นคุณค่าของมัน ตระหนักว่ามันมีผลต่อคนอื่นๆ อย่างไร บวกเข้ากับ ‘ความกล้า’ ที่จะยืดหยัดยืนยันในสิ่งที่พวกเราคิดเราอีกเพียงเล็กน้อย

ซึ่งอาจสรุปได้เพียงคำ 2 คำง่ายๆ คือ เสรีภาพและความกล้า

แต่กว่าจะมาเป็นสองคำนี้ ผมอยากจะรบกวนเวลาและความคิดของทุกๆ ท่าน ท่องเที่ยวไปในโลกของผม โดยชวนไป Reply 1988 ด้วยกัน

….

อันที่จริง ผมเริ่มก่อรูปตัวตนในวัยเยาว์ด้วยการทำกิจกรรมนักเรียนที่คาบเกี่ยวกับกิจกรรมนอกรั้วโรงเรียน และได้เข้ามาทำกิจกรรมกับองค์การนักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หรือ อมธ. ตั้งแต่ชั้น ม.5 ในฝ่ายศิลปวัฒนธรรม ซึ่งก็คงมีก็แต่ธรรมศาสตร์เท่านั้นที่เปิดโอกาสให้ผมเป็นสตาฟฟ์งานรับเพื่อนใหม่ที่จัดขึ้นเพื่อรับนักศึกษาใหม่ทั้งๆ ที่ผมยังเป็นรุ่นน้อง และทั้งๆ ที่หัวยังเกรียนอยู่

และนั่นเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ผมเลือกเอนทรานซ์เข้าธรรมศาสตร์ ได้เข้ามาอยู่ในสาขาจิตวิทยา คณะศิลปศาสตร์ ก่อนจะรีไทร์และเอนทรานซ์ใหม่ ซึ่งก็อีกนั่นแหละ ผมเลือกทุกลำดับการเอ็นทรานซ์เป็นธรรมศาสตร์ทั้งหมดกว่าจะได้มาอยู่ในคณะสังคมวิทยาฯ ใน 4 ปีต่อมา ด้วยรหัส 2534

มาถึงตรงนี้ทุกท่านคงเห็นแล้วว่า ผมไม่ใช่ตัวแบบที่ดีนักของการเรียนในรั้วมหาวิทยาลัย กระนั้นที่นี่ก็เป็นโอกาสให้ผมได้ศึกษาอยู่ในตลาดวิชาชีวิต ผ่านคณะที่ผมตั้งเองว่า ‘คณะกิจกรรมศาสตร์’ กระทั่งอาจพูดได้ว่า ที่นี่เปิดโอกาสให้ผมได้ออกแบบการศึกษาด้วยตัวเอง

แต่การทำกิจกรรมไม่ใช่อภิสิทธิ์ และผู้ทำกิจกรรมก็ไม่ใช่ผู้ได้รับอภิสิทธิ์ ดังนั้น อย่างน้อยผมต้องผ่านมาตรฐานขั้นต่ำทางวิชาการที่วัดด้วยเกรดให้ได้ด้วย ซึ่งผมก็ได้การปฏิบัติอย่างซื่อตรงจากทั้งคณะศิลปศาสตร์ และสังคมวิทยาฯ

….

เชื่อว่า หลายท่านอาจจะเคยรู้สึกเหมือนผม ยามต้องเผชิญกับเหตุการณ์อะไรสักเหตุการณ์ ฟังเพลงบางเพลง หรืออ่านวรรณกรรมดีๆ สักเรื่อง แล้วสัมผัสได้ถึงจิตวิญญาณของตัวเองที่ถูกปลุกเร้าขึ้นมาโลดแล่น มีชีวิตชีวา

ย้อนกลับไปในปีแรกที่ผมเข้ามาเป็นนักศึกษาธรรมศาสตร์ สิ่งที่ปลุกเร้าผมในตอนนั้นไม่ใช่เหตุการณ์บ้านเมืองในยุคปลายสมัยประชาธิปไตยครึ่งใบ หรือเพลงเพื่อชีวิตจากป่าเขาที่ถูกส่งทอดต่อมาในหมู่คนทำกิจกรรมในสมัยที่ขบวนการลุกขึ้นสู้ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศโดยพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยไทยล่มสลายลง หากแต่เป็นละครเวทีเรื่องหนึ่งโดยคณะละครสองแปดที่ชื่อว่า สู่ฝันอันยิ่งใหญ่ จากละครบรอดเวย์เรื่อง Man of La Mancha บทละครที่แปลโดย รัศมี เผ่าเหลืองทอง กำกับโดย ยุทธนา มุกดาสนิท มีผู้แสดงนำคือ ศรัณยู วงษ์กระจ่าง

ต้องบอกด้วยว่า ผมไม่ได้ถูกปลุกเร้าจากละครเรื่องนี้ในฐานะเป็นผู้ชมคนหนึ่ง หากแต่เข้าไปเป็นสตาฟฟ์เวทีทำหน้าที่ยกของประกอบฉาก ซึ่งทำให้มีโอกาสได้ดูละครเรื่องนี้หลายสิบรอบ แต่ละรอบกลับบ้านแล้วก็ครุ่นคิด แต่ละรอบต้องตีความใหม่ครั้งแล้วครั้งเล่า

….

ฉากในบทละครเกิดขึ้นในยุคศาสนจักรเรืองอำนาจ ผู้กำหนดนิยามความดีความงาม ผูกขาดการติดต่อกับพระเจ้า ปกครองด้วยความกลัวและลงทัณฑ์ผู้เห็นต่าง

มิเกล เด เซร์บันเตส นักละคร คือผู้เห็นต่างผู้นั้น และถูกพระเจ้ากำหนดโทษให้ต้องไปอยู่ในคุกซึ่งแออัดไปด้วยนักโทษผู้ยอมจำนนและสิ้นหวัง

เซร์บันเตส เปลี่ยนคุกให้เป็นโรงละคร ด้วยเรื่องราวผู้เฒ่า ผู้คิดว่าตัวเองเป็นอัศวิน ‘ดอน กีโฮเต้’ ลุกขึ้นมาปราบอธรรม

นักโทษคนหนึ่งวิจารณ์ละครเรื่องนี้กระแทกใส่หน้าเซร์บันเตสว่า “นี่มันเรื่องบ้าๆ ของคนบ้า”

เซร์บันเตสตอบและพูดถึงความบ้าว่า

…ผมอยู่มาเกือบห้าสิบปี ได้เห็นชีวิตอย่างที่มันเป็น เห็นความเจ็บปวดทุกข์ยาก หิวโหย เป็นความโหดร้ายเกินกว่าจะทำใจให้เชื่อ … ในเมื่อชีวิตนั้นเองคือความบ้า ใครจะบอกได้ว่าความวิกลจริตมันอยู่ตรงไหน บางทีการพยายามปรับตัวให้เข้ากับโลกที่เป็นอยู่นั่นแหละคือความบ้า การยอมล้มเลิกความใฝ่ฝันสิอาจเป็นความบ้า การไขว่คว้าหาดวงแก้วในที่ซึ่งมีแต่สิ่งปฏิกูล การพยายามเหนี่ยวรั้งสติสัมปชัญญะไว้ในโลกของเหตุผลนั่นแหละคือความวิกลจริต และที่สุดของความบ้าทั้งปวง คือการมองชีวิตอย่างที่มันเป็น แทนการมองชีวิตอย่างที่มันควรจะเป็น

ด้วยจำนวนหลายสิบรอบที่แสดง ด้วยโรงละครแห่งชาติที่จุคนได้นับพันคน ละครเรื่องนี้ไม่เพียงแต่ทำให้คนจำนวนหนึ่งได้รู้จักวรรณกรรมเลื่องชื่อ รู้จักบทละครอันโด่งดัง และรู้จักตัวละครอมตะที่โลดแล่น แต่ยังมีส่วนเปิดประตูบานใหญ่ ให้ใครหลายคนได้ลิ้มลองก้าวเท้าออกจากโลกใบเก่าสู่โลกใบใหม่

โลกที่มี ‘ความจริง’ เป็นดั่งยักษ์ มีเราๆ ท่านๆ เป็นอัศวินผู้ฟาดฟัน มีการตั้งคำถามเป็นหอกดาบ และมีโลกที่ ‘ควรจะเป็น’ เป็นจุดหมายปลายทาง

ใช่ครับ ชีวิตจะมีความหมายอะไรหากไม่ดำรงอยู่เพื่อการเปลี่ยนแปลงโลกให้ดีขึ้น

แต่…อย่า…อย่าเพิ่งโรแมนติกไปกับผม

เพราะปัญหามีอยู่ว่า ยักษ์และปีศาจนั้นสร้างได้ และโลกที่ควรจะเป็นก็ปลอมขึ้นมาได้เช่นกัน

มีเพื่อนจำนวนมากที่แทบจะผ่านประสบการณ์มาแบบผม ใฝ่ฝันถึงโลกที่ดีกว่านี้ สังคมที่ทุกคนเท่ากัน รวมทั้งมีละครเรื่องนี้เป็นแรงบันดาลใจเหมือนๆ กัน ทว่าเส้นทางต่อจากนั้นกลับต่างกันลิบลับ ถึงขั้นที่มีจำนวนไม่น้อยไปร่วมขบวนกับการรัฐประหารที่โดยเนื้อแท้แล้วคือการเห็นคนไม่เท่ากัน คิดว่าเป็นตัวเองเป็นอัศวินผู้ปราบอธรรมที่เหนือกว่า ล้มล้างเจตจำนงของประชาชนที่ต่างก็เป็นอัศวินและมีความฝันเป็นของตัวเองไม่แพ้กัน

ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย เราจึงได้เห็นพรรคคอมมิวนิสต์เป็นปีศาจร้าย เห็นคนเสื้อแดงเป็นผู้บั่นทอนความสงบดีงาม ทั้งๆ ที่พวกเขาเหล่านั้นใฝ่ฝันถึงโลกที่ควรจะเป็นที่ทุกคนมีค่าเท่าเทียมกัน

เราจึงขับไล่รัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้ง เชิดชูลุงสนธิ ลุงกำนัน มอบดอกไม้ให้คณะรัฐประหารราวกับอัศวินผู้ปราบอธรรม เพื่อสร้างโลกใหม่ที่ควรจะเป็นใต้ท็อปบูตและการกดขี่บีฑา

พร้อมกันนั้นก็บดขยี้คนอย่างลุงนวมทองผู้ขับรถแท็กซี่ชนรถถังว่าเป็นคนบ้า คนวิกลจริต

ทุกท่านครับ มาถึงตรงนี้ ท่านคงจะพอเห็นลางๆ ไหมว่า สังคมวิทยาและมานุษยวิทยามีความสำคัญเพียงใด

สำหรับผมแล้ว สังคมวิทยาฯ มีศักยภาพในการปลดปล่อยผู้คนออกจากความลวงเพื่อหาความจริงกว่า

ผมไม่อาจจะอธิบายอย่างเป็นวิชาการได้หรอกครับว่า ศักยภาพของวิชาที่ร่ำเรียน ในการปลดปล่อยผู้คนออกจากความลวงเพื่อหาความจริงกว่านั้น คืออะไร แต่บางทีถ้าท่านยอมฟังเรื่องที่ผมจะเล่าต่อไป ท่านอาจจะช่วยผมอธิบายหรือพบคำตอบได้เอง

….

หลังเหตุการณ์นองเลือดพฤษภาคม 2535 จบลงด้วยความมึนงงในชัยชนะของประชาชนและของผม คือสงสัยว่า “เราชนะหรือเปล่าวะ” แต่กองทัพในฐานะเครื่องมือของผู้กระทำการรัฐประหารก็พ่ายแพ้ ส่งผลให้ต้องกลับเข้ากรมกอง เลิกยุ่งเกี่ยวกับการเมือง ประชาธิปไตยก็เริ่มเบ่งบาน เราได้รัฐบาลจากลูกชาวบ้านเป็นนายกรัฐมนตรี

หลังเหตุการณ์นี้และหลังการจัดงานวาระครบรอบรำลึกเหตุการณ์ 20 ปี 14 ตุลาคม ในปี 2536 ผมมีโอกาสเข้าไปทำกิจกรรมนอกรั้วมหาวิทยาลัย กับกลุ่ม ‘ดินสอสี’ ในโครงการอบรมเยาวชนรักประชาธิปไตย ในปี พ.ศ. ที่การเรียนวิชาในสาขาสังคมวิทยาฯ ก็เข้มข้นขึ้นคู่ขนานกัน

ผมหยิบประสบการณ์ช่วงนี้มา ก็เพื่อจะเล่านิทานต่อไปนี้ที่ผมใช้ในกระบวนการศึกษาของค่ายอบรมฯ ให้พวกเราฟัง นิทานเรื่องนี้เรียบง่าย มันชื่อว่า ‘แม่น้ำจระเข้’ และได้โปรดจินตนาการเพื่อร่วมตัดสินเหตุการณ์ที่กำลังจะเกิดขึ้นไปกับผม

….

กาลครั้งหนึ่ง ณ หมู่บ้านเล็กๆ แห่งหนึ่ง มีแม้น้ำผ่ากลางหมู่บ้าน แบ่งชุมชนเล็กๆ ออกเป็น 2 ส่วน

แม่น้ำแห่งนี้เต็มไปด้วยจระเข้ดุร้ายชุกชุม

และสิ่งที่ทำให้ผู้คนที่อยู่คนละฝั่งแม่น้ำเป็นชุมชนเดียวกัน คือสะพานเล็กๆ แห่งหนึ่งซึ่งเก่าคร่ำคร่าจวนจะพังเต็มที

ในชุมชนแห่งนี้ มีหนุ่มสาวคู่หนึ่ง ตามท้องเรื่องก็คือทั้งสองคนรักกันมาก ได้ตกลงหมั้นหมายที่จะใช้ชีวิตร่วมกัน แต่ทั้ง 2 อยู่คนละฝั่งแม่น้ำ

แล้วในคืนหนึ่ง เหตุการณ์ที่ทำให้เกิดโศกนาฏกรรมก็เกิดขึ้น

พายุและฝนฟ้าคะนอง ทำให้สะพานสัญจรเดียวของหมู่บ้านพังทลายลง และในคืนนั้นนั่นเองที่ ‘ชายคนรักคู่หมั้น’ ประสบอุบัติเหตุรุนแรง

หลังพายุผ่านพ้น มีเพียง ‘ชายพายเรือ’ เพียงคนเดียวที่มีอุปกรณ์และความเชี่ยวชาญพอจะนำพาผู้คนฝ่าฝูงจระเข้ข้ามฝั่งไปมาหาสู่กันได้

‘หญิงสาวคู่หมั้น’ ได้ทราบข่าวจากคนที่ข้ามเรือมาว่า ชายคนรักของตัวได้ประสบอุบัติเหตุรุนแรง และไม่มีใครรู้ว่า เป็นตายร้ายดีอย่างไร

เท่านั้นเอง หญิงสาวคู่หมั้นก็รีบวิ่งไปหาชายพายเรือ ขอให้พาเธอข้ามฝั่งเพื่อไปดูแลคนรักของเธอ

ติดอยู่ตรงที่ว่า ชายพายเรือคนนี้คือผู้หลงรักหญิงสาว และเป็นคู่ชิงรักกับชายคู่หมั้น

สำหรับชายพายเรือ เขาคิดว่า นี่คือโอกาสเดียวที่เขาจะมีชัยเหนือชายคู่หมั้น และเพื่อจะได้หัวใจหญิงสาวมาครอบครอง เขาจึงยื่นเงื่อนไขโดยเคารพการตัดสินใจของเธอ ขอเป็นสามีแค่ครั้งเดียวให้กับหญิงสาว เพื่อแลกกับการเสี่ยงชีวิตพาข้ามน้ำไป

และเพื่อไม่ให้น่าเบื่อ ดราม่าเกินไป ผมจะรวบนิทานเรื่องนี้อย่างเร็วๆ ว่า

หลังการยื่นเงื่อนไข หญิงสาวไม่พอใจอย่างยิ่ง ไม่รู้จะทำยังไง จึงไปปรึกษา ‘เพื่อนหญิงสาว’ แต่กลับไม่มีเสียงตอบรับ หญิงคู่หมั้นจึงจำยอมตามเงื่อนไข ข้ามฝั่งไปดูแลชายคนรัก และสารภาพกับชายคู่หมั้น จนเกิดมีปากเสียงกัน
‘เพื่อนชาย’ คนหนึ่งเดินผ่านมา พยายามเข้ามาห้าม สุดท้ายกลายเป็นวิวาทกับชายคู่หมั้นเสียเอง สุดท้ายหญิงคู่หมั้นเกิดอาการน้อยเนื้อต่ำใจ กระโดดลงแม่น้ำเป็นเหยื่อให้จระเข้…ตาย

ทุกท่านครับ ผมใช้นิทานเรื่องนี้ เพื่อเป็นเงื่อนไขสร้างข้อถกเถียงให้กับเยาวชนในค่าย

ไม่ว่าจะจัดค่ายกี่ครั้ง ทัศนะและคุณค่าที่ให้กับตัวละครในนิทานในเยาวชนแต่ละกลุ่มอาจจะเหมือนๆ กัน วนๆ ไป เช่น ใจแคบ เห็นแก่ตัว ฉวยโอกาส เพิกเฉย เสือก หรือไร้การศึกษา แต่ไม่เคยส่งผลเป็นข้อสรุปเดียวกันเลย เช่น เมื่อเราถามว่า ใครผิด หรือจะจัดการโศกนาฏกรรมนี้อย่างไร

ผมมานึกย้อนหลัง วิธีการมองโลกที่ผมได้จากการเรียนสังคมวิทยาและมานุษยวิทยามีผลต่อการอธิบายเรื่องเล่าทดลองแบบแม่น้ำจระเข้นี้มากพอสมควร

ไม่ว่าคุณจะคิดว่าใครผิด ผิดมากผิดน้อย หรือให้คุณค่าต่อวิธีคิดหรืออุดมคติแบบใด มนุษย์ล้วนถูกกระทำไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง กล่าวอีกอย่างก็คือ ไม่มีมนุษย์ที่ผิด หรือร้ายกาจเกินกว่าจะให้อภัย เราต่างล้วนถูกกระทำให้ผิด ถูกกระทำให้ชั่ว ให้เห็นแก่ตัว ให้เสือกหรือให้เพิกเฉย จะมากจะน้อยมนุษย์ล้วนแต่เป็นเหยื่อของระบบและโครงสร้างที่คนรุ่นก่อนหน้าสร้างขึ้นผ่านวัฒนธรรม วาทกรรม ขนบธรรมเนียม การศึกษา โดยมีคนรุ่นเราๆ สานต่ออย่างที่เราแทบไม่รู้และไม่อาจควบคุมได้

มนุษย์จะสมคุณค่าของมนุษย์ได้อย่างไร หากที่แท้แล้วเราเป็นกลจักรการผลิตซ้ำอย่างเซื่องๆ

มนุษย์จะสมคุณค่าของมนุษย์ได้อย่างไร หากเป็นกลไกในการรักษาระบบที่ฟอนเฟะ โดยที่เราแทบไม่รู้ตัว ไม่รู้ไม่เห็นเห็นถึงที่มาที่ไปของมัน หรือไม่อาจตั้งคำถามกับมันได้

แน่ล่ะ เราเป็นมนุษย์ตัวเล็กๆ ในระบบสังคมที่ซับซ้อน

แต่มันจะดีกว่าไหมหากเราจะรู้ว่า ณ จุดที่เรายืน ที่เราทำ มันอยู่ตรงไหนของโครงสร้างอันซับซ้อนนั้น เพื่ออะไร ทำไม และมันรับใช้ใคร

เสรีภาพของมนุษย์แบบเราๆ จึงอาจไม่ได้เริ่มต้นจากการปลดปล่อย มันอาจจะง่ายกว่านั้นมาก เพราะมันเริ่มต้นด้วย ‘คำถาม’ และเพราะคำถามแบบนี้ มันจึงไปเปิดพื้นที่ให้กับการศึกษา ออกแบบและสร้างสรรค์สังคมเพื่อการอยู่ร่วมกับมนุษย์ผู้มีเสรีภาพและมีศักดิ์ศรีเท่าๆ กับคนอื่นๆ

….

ทุกท่านครับ การเป็นสื่อมวลชนที่ดี สิ่งที่ยากที่สุดก็คือ ‘คำถาม’

อันที่จริงไม่เพียงอาชีพสื่อมวลชนเท่านั้น การเจริญเติบโตก้าวหน้าทางด้านอาชีพการงาน หากไม่นับการเติบโตเพราะสายเลือดหรือการอุปถัมภ์พวกพ้อง ในทุกอาชีพ ก็ล้วนแต่ต้องอาศัย ‘คำถาม’ โดยเฉพาะคำถามที่มีต่อระบบและโครงสร้าง
สำหรับนักบริหาร คำถามถึงระบบและโครงสร้าง จะทำให้คุณเห็นภาพใหญ่ เพื่อวางยุทธศาสตร์และออกแบบกลยุทธ์ ก่อนจะกำหนดวิธีการจัดการ

ในตลาดแรงงานฯ มันไม่มีหรอกครับอาชีพสังคมวิทยา มานุษยวิทยา โดยตรง หากไม่นับนักวิจัยและนักวิชาการ แต่หากคุณจะก้าวสู่นักบริหารที่มีคุณภาพ เราจำเป็นต้องมีคำถาม และเราจำเป็นต้องเห็นภาพใหญ่ เพื่อให้องค์กรมีเสรี หรือพูดอีกอย่างก็คือ มีชิวิตของมันเอง

สำหรับผมแล้ว และโดยอาชีพที่ผมบวชเรียนกับมัน สังคมวิทยาฯ สอนให้ผมรู้จักความสำคัญของการถาม รู้จักมีคำถาม รู้จักตั้งคำถาม เพื่อเตือนผู้คนทั้งหลายว่า เราอยู่ในระบบแบบไหน เราเป็นมนุษย์ชนิดไหน หรือแม้กระทั่งหากเราเป็นทาส เราเป็นทาสชนิดไหน ตลอดจนรู้จักว่า จะถามอย่างไร

ผมไม่อาจบอกได้ว่า ผมเป็นนักสังคมวิทยา ผมตระหนักดีว่าผมเป็นนักศึกษาที่ไม่เอาอ่าวหรือไม่แม้กระทั่งจะแตะได้ถึงแก่นของวิชานี้

ดังนั้น สำหรับผมแล้ว สังคมวิทยาจึงเสมือนเวทมนต์ เพราะขณะที่มันมุ่งศึกษาระบบ มันก็ขับเน้นให้เราเคารพความเป็นมนุษย์ มันบอกเราว่า มนุษย์และพฤติกรรมชั่ว ดี บวก ลบ ต่างมีที่มา วัดได้ ทำความเข้าใจได้อย่างเป็นวิทยาศาสตร์ เพื่อหยุดยั้งการกล่าวโทษมนุษย์ และแสวงหาหนทางเปลี่ยนแปลงพัฒนาระบบ ปลดปล่อยมนุษย์

มันขับเน้นความเป็นมนุษย์ แต่มันก็ให้มุมมองแบบนก และโลกของนกมันก็ช่างกว้างใหญ่

บนฟ้ากว้าง ไม่มีหนทางให้เห็นหรอก มันต้องกล้าเลือก กล้าบินของมันเอง

….

ทุกท่านครับ มาถึงตรงนี้ ผมก็ไม่แน่ใจนักว่า สิ่งที่ผมพูดไปจะเป็นประโยชน์ต่อท่านมากน้อยแค่ไหน แต่หากมันจะมีดีอยู่บ้าง ผมขอใช้มันเป็นเครื่องเซ่นดวงวิญญาณ รศ.วรพล พรหมิกบุตร นักวิชาการเสื้อแดง แห่งคณะสังคมวิทยาฯ ผู้สอนผมให้เข้าใจแก่นแกนวิชาสถิติ ที่นับค่าของผู้คนอย่างเป็นวิทยาศาสตร์คือ หนึ่งเสียงเท่ากัน

และผมปรารถนาที่จะบอกในท้ายสุดว่า ผมจงใจหยิบนิทานน้ำเน่าในชุมชนโบราณเล็กๆ แห่งหนึ่งขึ้นมาเพื่อทำให้เห็นว่า มุมมองแบบสังคมวิทยามันได้ขับเน้นความเป็นมนุษย์ขึ้นมาอย่างไร และจงใจหยิบวรรณกรรมคลาสสิก เพื่อให้เห็นอีกด้านของมนุษย์ที่รู้จักใฝ่ฝันถึงสังคมที่ดีกว่า ถึงโลกที่ควรจะเป็น ทั้งนี้ไม่ใช่เพื่อสะท้อนไปถึงทางเดินอาชีพที่ผมเลือกและชีวิตที่ผมเป็น แต่หยิบขึ้นเพื่อจุดประสงค์สำคัญอีกประการหนึ่ง คือ

เพื่อคารวะการต่อสู้ของคนหนุ่มสาวในยุคสมัยปัจจุบันและในปี พ.ศ.นี้

หนุ่มสาวทั้งหลายผู้มีความใฝ่ฝันถึงโลกที่ควรจะเป็น ผู้ไม่อาจยอมจำนนกับความอยุติธรรมที่คนร่วมสังคมได้รับ ทั้งหนุ่มสาวที่อยู่บนถนน ในทวิตภพ ในสื่อใหม่ หรือแม้แต่ยามต้องปรากฏตัวอยู่หน้าบัลลังก์ศาล ในคุกในตาราง ผู้พลีกายลอยในแม่น้ำโขง หรือหายตัวไปในสายลม

ขอแสดงความคารวะ

ขอบคุณครับ