บันทึกจากการสัมมนาเครือข่ายนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา สาขาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ครั้งที่ 11

การสัมมนาเครือข่ายนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาสาขาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ครั้งที่ 11
วันที่ 3-4 มีนาคม พ.ศ.2555
ณ โรงแรมไดอิชิ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา
จัดโดยคณะศิลปศาสตร์
สาขาพัฒนามนุษย์และสังคม
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่

ภาพ: วรเชษฐ เขียวจันทร์

สิทธิโชค ชาวไร่เงิน
นักศึกษาปริญญาโท สาขามานุษยวิทยา ปี 2*

    “กะลา” มักถูกใช้เปรียบเปรยกับขีดจำกัด ขอบเขต หรือเงื่อนไขที่ทำให้อะไรบางอย่างไม่สามารถหลุดออกไปจากสิ่งเดิม และเมื่ออะไรบางอย่างที่อยู่ในกะลาไม่ใช่ “กบ” แต่กลายเป็น “สังคม” คำถามจึงมีอยู่ว่าขีดจำกัด ขอบเขต หรือเงื่อนไขอะไรบ้างที่คอยปิดคอยกั้นไม่ให้ผู้คนมองเห็นหรือได้ยินภาพและเสียงอื่น ๆ ที่พ้นออกไปจากขอบของกะลา คำถามดังกล่าวเป็นคำถามสำคัญของงานสัมมนาในครั้งนี้ที่มีชื่อว่า “สังคมนอกกะลา: เดินหน้า ถอยหลัง หรือก้าวย่ำอยู่กับที่”

    งานสัมมนาในครั้งนี้จัดขึ้นในระหว่างวันที่ 3-4 มีนาคม พ.ศ.2555 ณ โรงแรมไดอิชิ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา โดยคณะศิลปศาสตร์ สาขาพัฒนามนุษย์และสังคม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ ในช่วงเช้าของวันที่ 3 มีนาคม เริ่มต้นงานด้วยการกล่าวเปิดงานโดยนายกเทศมนตรีเทศบาลนครหาดใหญ่ ตามมาด้วยคณบดีคณะศิลปศาสตร์ และรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ภายในห้องเลี้ยงรับรองชื่อว่า “ห้องสมิหลา” ซึ่งเต็มไปด้วยเหล่านักศึกษา คณาจารย์ และเจ้าหน้าที่จากหลากหลายสถาบัน

    หลังจากการกล่าวเปิดงานก็เป็นการเสวนาในหัวข้อเดียวกับชื่องานสัมมนาจากวิทยากร 3 คน ได้แก่ อาจารย์อานันท์ กาญจนพันธ์ อาจารย์สุริชัย หวันแก้ว และอาจารย์ยุกติ มุกดาวิจิตร ซึ่งทั้ง 3 คนก็ได้นำเสนอว่าอะไรบ้างที่เป็นกะลาของสังคมไทย พร้อมกับเสนอว่านักสังคมศาสตร์มีหน้าที่หลักในการเผยให้เห็นและวิพากษ์วิจารณ์กะลาเหล่านั้น

    เมื่อการเสวนาดังกล่าวจบลง กิจกรรมต่อไปก็คือการนำเสนอวิทยานิพนธ์ของเหล่าบัณฑิตศึกษาจากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ตามห้องและหัวข้อย่อยที่จัดไว้ให้ โดยในงานสัมมนาครั้งนี้แบ่งออกเป็น 6 หัวข้อย่อย/ห้อง ดังนี้

      1. สังคมวิทยา การเมือง และความขัดแย้ง
      2. ชีวิตคนชายขอบและการข้ามถิ่นข้ามพรมแดน
      3. เพศภาวะและการต่อรองตัวตน
      4. ศาสนา ความเชื่อ สังคม และวัฒนธรรม
      5. เครือข่ายทางสังคม และคุณภาพชีวิต/องค์กร และ
      6. การจัดการสิ่งแวดล้อมและทรัพยากร

    โดยในแต่ละห้องมีผู้นำเสนอประมาณ 7-8 คน ใช้เวลาตั้งแต่ 10.45 ไปจนกระทั่งถึง 16.00 ต่อจากนั้นทุกคนจะกลับมาที่ห้องสมิหลาเพื่อประชุมเครือข่ายฯ ซึ่งมีทั้งการสรุปภาพรวมของงานในวันนี้ การแสดงความคิดเห็นต่อการจัดงาน และการเลือกผู้จัดงานในปีถัดไปซึ่งได้ข้อสรุปว่าสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล จะเป็นผู้รับผิดชอบจัดงานสัมนาในครั้งต่อไป

    ในเช้าวันที่ 4 มีนาคม คณะผู้จัดงานได้พาผู้เข้าร่วมงานไปยังบริเวณชายแดนไทย-มาเลเซีย โดยเริ่มจากการไปรับฟังการบรรยายจากนายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลสำนักขาม อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา ในหัวข้อ “การพัฒนาพื้นที่การค้าชายแดนไทย-มาเลเซีย” ต่อจากนั้นเดินทางต่อไปยังเขตปลอดภาษีเพื่อเลือกซื้อสินค้า หลังจากนั้นประมาณ 13.00 น. จึงเดินทางกลับมายังโรงแรม อันถือเป็นการสิ้นสุดของงานสัมนาในครั้งนี้

    *ตรวจทานโดย วิชัย แสงดาวฉาย เลขานุการโครงการบัณฑิตศึกษา คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์