ปาฐกถาพิเศษ: “ฉาน” ร่วมสมัย ในบริบทธำรงชาติพันธุ์
ปาฐกถาพิเศษเนื่องในวันคล้ายวันสถาปนาคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ครบรอบ 48 ปี
โดย
ศาสตราจารย์ ดร. เสมอชัย พูลสุวรรณ
วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2556
เวลา 10.00-12.00 น.
ห้องบรรยาย 306 คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต
งานศึกษาสนใจสภาวะการดำรงอยู่และพลวัตชาติพันธุ์ (ethnic dynamism) ของกลุ่มคนที่ถูกเรียกว่า “ฉาน” (แยกย่อยตามกลุ่มวัฒนธรรมและชื่อที่ใช้เรียกตนเองเป็นพวก “ไตโหลง” ซึ่งส่วนใหญ่อาศัยอยู่ทางฟากตะวันตกของแม่น้ำสาละวินฝ่ายหนึ่ง กับ “เขิน” และ “ลื้อ” ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ทางฟากตะวันออกของแม่น้ำสายเดียวกันอีกฝ่ายหนึ่ง), ในดินแดนซึ่งปัจจุบันมีฐานะเป็นเขตปกครอง “รัฐฉาน” ของประเทศสหภาพพม่า, ภายใต้บริบทประวัติศาสตร์ สังคม การเมือง และวัฒนธรรม ของพื้นที่ นับเนื่องตั้งแต่อดีตอันยาวไกลจนถึงปัจจุบัน. งานศึกษาตรวจสอบและอธิบายให้เห็นว่า ความเป็น “กลุ่ม” ทางชาติพันธุ์และวัฒนธรรมของผู้คนเหล่านั้น ดำรงอยู่ภายใต้พลวัตปรับเปลี่ยนเลื่อนไหล โดยสัมพัทธ์กับเงื่อนไขด้านสังคม การเมือง และวัฒนธรรม ในแต่ละช่วงเวลาอย่างไรบ้าง.
ดินแดนรัฐฉานในปัจจุบันประกอบด้วยสองเขตวัฒนธรรมหลัก แยกจากกันคร่าวๆ ในทางภูมิศาสตร์ด้วยแนวแม่น้ำสาละวินที่ไหลผ่านกลางพื้นที่จากเหนือลงใต้ เป็นดินแดนฟากตะวันออกและฟากตะวันตกของแม่น้ำ. ผู้คนที่ในปัจจุบันรับรู้ตัวเองเป็น “ไต” ในดินแดนสองฟากสาละวิน เคยมีรากเหง้าทางประวัติศาสตร์และได้ผ่านพัฒนาการทางวัฒนธรรม แยกจากกันมาช้านานหลายศตวรรษก่อนหน้านี้ รวมถึงเคยมีสำนึกชาติพันธุ์แปลกแยกจากกันเป็นคนละกลุ่มมาก่อนด้วย. กระทั่งภายหลังจากการเกิดขึ้นของรัฐฉานในทางการเมือง และการละเมิดสนธิสัญญาปางโหลงโดยรัฐบาลพม่าตั้งแต่ราวปี ค.ศ.1958 เป็นต้นมา จึงได้เกิดความพยายามปลุก “สำนึก” และสร้าง “อัตลักษณ์” ร่วมของความเป็น “ไต” ให้บังเกิดขึ้น ทั้งนี้โดยมีเป้าหมายทางการเมือง เพื่อสร้างความสมานฉันท์ระหว่างผู้คนสองฟากแม่น้ำสาละวิน ภายใต้จินตภาพของการสร้าง “พม่า” ให้เป็นปฏิปักษ์ร่วมทางการเมืองและวัฒนธรรมของพวกตน. กระบวนการทางวัฒนธรรมดังกล่าว ปรากฏชัดเจนภายใต้สองปฏิบัติการหลักได้แก่: การสร้าง “อดีต” ขึ้นมาเพื่อรับใช้เงื่อนไขทางการเมืองในปัจจุบัน และการปลูกเชื่อมสัมพันธ์ทางพุทธศาสนาระหว่างผู้คนสองฟากแม่น้ำสายดังกล่าว.
ความสนใจของงานศึกษา คาบเกี่ยวพื้นที่ความรู้ด้าน “ฉานศึกษา” ในหลายมิติ, ทั้งด้านประวัติศาสตร์, การเมือง, ภาษา, ศาสนา และความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ (โดยเฉพาะภายในคู่ความสัมพันธ์ระหว่าง “ฉาน-พม่า” และระหว่าง “ไตโหลง-เขิน/ลื้อ”), ทั้งนี้โดยมิได้สมาทานกรอบความคิดเชิงทฤษฎี “สำเร็จรูป” หรือ “กึ่งสำเร็จรูป” ใดๆ สำหรับการวิเคราะห์พลวัตชาติพันธุ์ หากได้หาทางก่อสานข้อเสนอเชิงทฤษฎีของชิ้นงานเอง บนพื้นฐานความสลับซับซ้อนของข้อมูลและสถานการณ์จริงในภาคสนาม.