รายงานสรุปเนื้อหาการบรรยายพิเศษ ชีวิตทางสังคมของเกษตรอินทรีย์และการเมืองเรื่องอาหารในประเทศไทย
ช่วงแลกเปลี่ยน
Q – สารเคมีและอาหารมีความสำคัญและมีผลกระทบ แล้วการส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ควรจะเป็นไปในทิศทางไหน
A – ความสำคัญของเกษตรอินทรีย์คือ ควรจะมีนิยามที่ชัดเจนว่าคืออะไร ที่จริงคนที่ได้รับผลกระทบจากสารเคมีโดยตรงคือเกษตรกรและลูกหลาน แต่งานที่ สสส. ส่งเสริมจะเน้นไปที่ผลกระทบต่อผู้บริโภค ซึ่งที่จริงควรจะเน้นไปที่ผลกระทบต่อผู้ผลิตด้วย
Q – ตอนลงพื้นที่กับชาวบ้านจะมีการส่งเสริมปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มีข้อขัดแย้งในเรื่องนี้บ้างไหม
A – ไม่เห็นว่าการทำเกษตรอินทรีย์จะต้องห้ามขาย และเกษตรกรจะเป็นผู้ที่รู้เองว่าเขาควรจะทำอะไรในสถานการณ์ที่พวกเขาเผชิญหน้าอยู่ แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงเป็นแนวคิดที่ NGOs พูดเสียมากกว่า ที่อำเภอสทิงพระ (จังหวัดสงขลา) เกษตรกรทำเกษตรอินทรีย์เพื่อขายมากกว่าเพื่อกิน และเขาอยากมีรายได้ วิถีชีวิตที่ทำการผลิตของเขาต้องสอดคล้องกับความเป็นจริงมากกว่า
Q – NGOs มักสะท้อนภาพว่าเกษตรกรที่ทำเกษตรเคมีเป็นผู้ร้าย
A – เกษตรทางเลือกมีหลายเทคนิควิธี เช่น IPM: Integrated Pest Management ที่เป็นการจัดการแมลงศัตรูพืชอนุญาตให้ใช้สารเคมีในระดับที่จำเป็นได้เมื่อมีการแพร่ระบาดมาก เราควรเข้าใจชาวบ้านมากกว่าการไปตำหนิ ขณะที่เราบอกว่าเรามีเกษตรกรต้นแบบ ก็มักจะสะท้อนอีกภาพว่าชาวนากลุ่มอื่นที่ไม่ได้เป็นเกษตรกรต้นแบบเลวร้าย
Q – การควบคุม (discipline) เกษตรกร ดูเหมือนจะมีมากในพืชเชื่อมโยงกับการส่งออกในวงกว้างหรือในอุตสาหกรรม เช่น ข้าว ปาล์ม อ้อย แต่ดูเหมือนจะหลีกเลี่ยงได้ในพืชประเภทพืชผักที่ขายในตลาดท้องถิ่น
A – ไม่ใช่แค่น้ำตาล หรือน้ำมันปาล์ม ที่ถูกควบคุมการผลิตอย่างเข้มข้น เช่นการผลิตข้าวโพดฝักอ่อนส่งออกที่แม่ทามีกระบวนการผลิตที่ยุ่งยากมาก ทางออกอาจอยู่ที่ระบบการค้าที่เป็นธรรม (fair-trade) และการมีส่วนร่วมของเกษตรกรในการกำหนดมาตรฐานสินค้าอินทรีย์ส่งออก ซึ่งจะทำให้เกษตรกรลดการถูกควบคุมจากผู้บริโภคและมาตรฐานสากลได้มากขึ้น
Q – การเมืองเรื่องอาหาร ความมั่นคงทางอาหารและอธิปไตยทางอาหารจะมีปัญหาว่าถูกผูกขาดเรื่องเมล็ดพันธุ์และตลาด
A – ไม่ค่อยมีความหวังกับบรรษัทข้ามชาติ ที่ควรทำคือไปกดดันให้บรรษัทข้ามชาติมีความละอายมากขึ้น และควรลงไปเน้นการส่งเสริมตลาดในระดับท้องถิ่นมากขึ้น เช่น บรรษัทแห่งหนึ่งที่ทำนากุ้งอุตสาหกรรม กังวลชื่อเสียงตัวเองมากจึงพยายามสร้างภาพว่าตัวเองทำนากุ้งอินทรีย์ที่ให้ความสนใจกับสิ่งแวดล้อม
Q – ในช่วงทศวรรษที่ 2530 เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก (AAN: Alternative Agriculture Network) พยายามจัดรูปแบบการทำเกษตรทางเลือก ซึ่งจัดได้ 6 ประเภท คือ เกษตรธรรมชาติ เกษตรผสมผสาน เกษตรถาวร วนเกษตร เกษตรอินทรีย์ และ เกษตรทฤษฎีใหม่ มีรูปแบบเกษตรทางเลือกสองรูปแบบที่โต้เถียงกันมาก ได้แก่ หนึ่ง เกษตรอินทรีย์ เพราะเป็นการเกษตรแบบเชิงเดี่ยว ไม่หลากหลาย และ สอง เกษตรทฤษฎีใหม่ เพราะเน้นการใช้พื้นที่ แต่ยังมีการใช้สารเคมีการเกษตรได้
แต่เมื่อเวลาผ่านไป เกษตรทฤษฎีใหม่กลับเติบโตขึ้นเพราะหน่วยงานรัฐสนับสนุนและขยายออกผ่านสื่อสาธารณะมาก ซึ่งอาจมองได้ว่าเป็นการแผ่ขยายแนวคิดครอบงำของกลุ่มอำนาจนำในสังคม หรือ royal hegemony ผ่านวาทกรรมปรัชญาพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่ ส่วนการเติบโตของเกษตรอินทรีย์ก็เกิดขึ้นผ่านทางการเติบโตของความต้องการของตลาดหรือผู้บริโภค สิ่งเหล่านี้จึงไม่ใช่เพียงการแชร์คุณค่าที่มีร่วมกันระหว่างรัฐกับ NGOs ต่อเกษตรอินทรีย์ดังที่ผู้บรรยายเสนอมา
A – กรณีทฤษฎีใหม่ ไม่คิดว่าเป็นการช่วงชิงวาทกรรม เพราะเอาเข้าจริงรัฐก็ได้เรียนรู้จากการทำงานร่วมกันกับ NGOs มันไม่ใช่ hegemony เพราะอำนาจนำนี้ไม่ได้ทำงานได้อย่างผลสมบูรณ์แบบนัก ซึ่งสะท้อนออกมาจากการทำงานของเกษตรกรในพื้นที่ที่ไปสัมผัสมาที่อำเภอสทิงพระ แต่เห็นด้วยว่าเกษตรอินทรีย์ถูกช่วงชิงโดยภาคธุรกิจด้วย
รายงานสรุปเนื้อหาการบรรยายพิเศษ
ชีวิตทางสังคมของเกษตรอินทรีย์และการเมืองเรื่องอาหารในประเทศไทย
วันพุธที่ 22 มกราคม 2557 เวลา 13.30-16.30 น.
ห้องบรรยายโครงการปริญญาเอก คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
ชั้น 4 อาคารคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
จัดโดย ศูนย์ศึกษาสังคมวัฒนธรรมร่วมสมัย
คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
วิทยากร Associate Professor Peter Vandergeest
แปลและสรุปความเป็นภาษาไทย โดย อาจารย์ ดร.อัจฉรา รักยุติธรรม
บันทึกเรียบเรียงโดย นิรมล ยุวนบุณย์
Associate Professor Peter Vandergeest นำเสนอการศึกษาเรื่อง The Social Lives of Organic and the Politics of Food ว่า แนวคิดที่ใช้ในงานชิ้นนี้ คือ แนวคิดว่าด้วย “ชีวิตทางสังคมของสิ่งของ” (the social life of things) ของ Arjun Appadurai (1988) โดยเน้นการดูกลไกทางสังคมที่ให้คุณค่ากับเกษตรอินทรีย์ ซึ่งทำให้เกิดคนเกิดความความปรารถนาในเกษตรอินทรีย์
เมื่อถามว่า “เกษตรอินทรีย์” คืออะไร ? คนส่วนมากมักตอบว่า “การปลอดจากสารเคมี” “เป็นมิตรต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม” ซึ่งเป็นคำตอบที่มีมุมมองของคนชั้นกลาง อย่างไรก็ดี หากดูจากคำนิยาม “เกษตรอินทรีย์” ของ IFOAM (International Federation of Organic Agriculture Movements) ซึ่งเป็นองค์กรกำหนดมาตรฐานสินค้าเกษตรอินทรีย์ระดับสากล จะเห็นว่านิยามไม่ได้เน้นการ “การปลอดจากสารเคมี” แต่เน้นเรื่องกระบวนการผลิตมากกว่า
ทั้งนี้ เกษตรอินทรีย์ เป็นรูปแบบหนึ่งของเกษตรกรรมทางเลือก (Alternative Agriculture) เมื่อราว 30 ปีที่แล้วที่เริ่มมีการพูดถึงเกษตรกรรมทางเลือกในประเทศไทย รูปแบบการเกษตรทางเลือกที่มีความสำคัญมากในเวลานั้นก็คือ เกษตรผสมผสาน ซึ่งใช้เพื่อต่อสู้กับการปลูกพืชเงินสด (cash crops) ขณะที่เกษตรอินทรีย์เพิ่งถูกยกขึ้นมาเป็นแนวทางหลักเมื่อไม่นานมานี้
เกษตรกรรมทางเลือกในประเทศไทยเกิดขึ้นปลายทศวรรษ 1980 หลังจากเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองที่เกิดขึ้นในตลอดช่วงทศวรรษ 1970 จางลง ในช่วงนั้นปัญญาชน นักพัฒนา ไม่ต้องการการพึ่งพาจากรัฐ และอยากพึ่งตนเอง จึงออกไปทำงานพัฒนาชนบท นอกจากนั้น การที่ช่วงนั้นมีแหล่งทุนที่สนใจสนับสนุนการพัฒนาในประเทศที่ 3 บนฐานความคิดที่ว่า ชาวบ้านยังจนอยู่และความยากจนก็อาจจะทำให้พวกเขาไปเข้ากับคอมมิวนิสต์ได้ จึงเป็นบริบทของการเกิดเกษตรกรรมทางเลือกในไทย
องค์กรที่ทำงานด้านเกษตรกรรมทางเลือกมีหลายองค์กร เช่น เครือข่ายเกษตรทางเลือก (AAN: Alternative Agriculture Network) ไบโอไทยหรือมูลนิธิชีววิถี (ทำงานรณรงค์ทางนโยบาย) GREEN NET ที่ทำเรื่องมาตรฐานและการส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ และองค์กรอื่นๆ รวมทั้งในภาคใต้
เกษตรทางเลือกได้รับความสนใจมากขึ้นเรื่อยๆ เกษตรทางเลือกวิพากษ์วิจารณ์ปฏิวัติเขียว (Green Revolution) ว่าส่งผลทำให้เกิดการขาดแคลนอาหาร ต้องใช้พันธุ์พืชใหม่ ใช้สารเคมีการเกษตร เกิดเป็นหนี้และสร้างปัญหาสิ่งแวดล้อม เกษตรกรรมทางเลือกได้เสนอเทคนิคในการแก้ไขปัญหาในรูปของเกษตรผสมผสาน วนเกษตร เกษตรธรรมชาติ เกษตรอินทรีย์ SRI (the System of Rice Intensification) และ IPM (Integrated Pest Management) เพื่อต่อสู้กับพืชเงินสด โดยการส่งเสริมและขยายผลจากการสร้าง “เกษตรกรต้นแบบ” หรือ “กลุ่มเกษตรกรต้นแบบ”
การพัฒนาเกษตรทางเลือกยังอยู่ในกรอบวิธีคิดแบบ trusteeship ซึ่งแปลเป็นไทยได้ว่า “คุณพ่อรู้ดี” ที่นักพัฒนามักจะเข้าใจว่าผู้ถูกพัฒนาไม่เข้าใจตัวเอง ไม่รู้วิธีว่าจะแก้ปัญหาของตนเองอย่างไร มองผู้ถูกพัฒนาว่าเป็นเด็กที่ยังไม่มีวุฒิภาวะ ตัดสินใจเองไม่ได้ ทั้งนี้ นักพัฒนาจะช่วยมาบอกให้เองว่าควรจะทำอย่างไรชีวิตถึงจะดีขึ้น
“เกษตรทางเลือก” เป็นทางเลือกจากอะไร ? นักพัฒนาบอกว่ามันคือการเลือกออกจากการปลูกพืชเงินสดหรือพืชเชิงเดี่ยวที่พึ่งพิงตลาด (แต่ความจริงเกษตรกรก็ยังไม่อยากออกจากตลาด) อีกทางก็คือทางเลือกจากการถูกกำหนดการผลิตโดยรัฐ (เกษตรต้องพึ่งพาตนเองเพราะพึ่งพารัฐไม่ได้) แต่ในความเป็นจริงการส่งเสริมเกษตรทางเลือกไม่ได้ทำทั้งสองแบบที่ว่ามา การพัฒนาเกษตรทางเลือกซึ่งมักอยู่บนฐานคิดแบบวัฒนธรรมชุมชนและมีการจัดตั้งกลุ่มที่ไม่ใช่รัฐในหมู่บ้าน แต่ที่จริงแล้วรัฐก็มีแนวทางการทำงานไม่ต่างจากที่ NGOs ทำ ทั้งนี้ NGOs สนใจจะทำงานด้วยกันกับรัฐมานานแล้ว ดังจะเห็นจากบทบาทของ นพ.ประเวศ วะสี นายไพบูลย์ วัฒนศิริธรรม มีหลายโครงการของรัฐที่ส่งเสริมให้ NGOs ทำงาน โดยเฉพาะยุคที่เกิดภาวะเศรษฐกิจฟองสบู่ และยุคที่แหล่งทุนต่างประเทศถอนทุนไปสนับสนุนประเทศอื่นๆ แทนประเทศไทย ซึ่งก็มีหน่วยงานต่างๆ ของรัฐให้ทุน NGOs ไทยทำงานพัฒนาชนบทแทน
จากวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 (1997) ได้เสนอแนวทางการแก้ปัญหาด้วยปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ที่เน้นการพัฒนามนุษย์ ซึ่งเข้าล็อคกันดีกับการพัฒนาเกษตรทางเลือก จะเห็นได้ว่าเกษตรกรรมทางเลือกไปกันได้กับแนวทางการส่งเสริมของรัฐ ขณะเดียวกัน ในทางปฏิบัติก็เริ่มมีการส่งเสริมเกษตรกรรมยั่งยืนแบบที่มีรูปแบบที่แข็งและตายตัว เช่น การตั้งศูนย์ฝึกอบรมเกษตรทางเลือก โดยรัฐสนับสนุนงบประมาณรายละ 1 ล้านบาท ขณะที่กองทุนหมู่บ้านของรัฐบาลทักษิณก็มีการให้ทุนทำเกษตรอินทรีย์ การทำปุ๋ยอินทรีย์ เป็นต้น
แนวทางการพัฒนาของ NGOs ในบทบาทคุณพ่อรู้ดีนี้ ทำให้เส้นแบ่งที่บอกว่าอะไรเป็นหรือไม่เป็นทางเลือกการพัฒนาหายไป กลายเป็นว่ารัฐกับ NGOs ทำงานด้วยกันได้ และเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยผลิตและขยายแนวคิดและผลิตซ้ำแนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของเครือข่ายกษัตริย์
การที่ NGOs บอกว่าเกษตรทางเลือกคือการเลิกพึ่งพาและเป็นอิสระจากระบบตลาดเพื่อให้เกษตรกรพึ่งตนเองได้ แต่ที่จริงแล้วเส้นแบ่งของเกษตรทางเลือกกับตลาดไม่มีอยู่จริง เช่น เกษตรอินทรีย์ก็เน้นการผลิตเพื่อการส่งออกและเน้นการผลิตเพื่อให้ได้มาตรฐานและราคาที่ดีขึ้น โดยมีระบบมาตรฐานเกษตรอินทรีย์มารองรับ ซึ่งมีกฎเกณฑ์มาตรฐานหลายอย่างที่ควบคุมการผลิต นี่คือการวางระเบียบวินัยตามแนวคิดของ Michel Foucault ว่าด้วย discipline
ในส่วนของการเมืองเรื่องอาหาร พบว่าที่ผ่านมา NGOs ได้ทำงานร่วมกับ สสส. เพื่อส่งเสริมเรื่องการกินและความตระหนักในเรื่องสุขภาพและการผลิต ขณะเดียวกันเกษตรอินทรีย์ก็เป็นประเด็นที่มีคนสนใจมากขึ้นเรื่อยๆ
ปัจจัยที่ทำให้เกษตรอินทรีย์เป็นที่สนใจมากขึ้นก็คือจำนวนชนชั้นกลางเพิ่มขึ้น พร้อมกับการที่เกษตรกรมีจำนวนลดลง ราคาสินค้าเกษตรอินทรีย์ สินค้าผักปอดสารเคมี ผักอนามัย ที่สำรวจพบ พบว่ามีราคาสูงกว่าผักปกติ ซึ่งราคาที่แพงกว่านี้สะท้อนว่าผู้บริโภคกล้าจ่ายเพราะกลัวการปนเปื้อนที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพตนเอง อนึ่ง คนชั้นกลางเหล่านี้เป็นชนชั้นกลางระดับสูงที่ไปเดินในตลาด high end เช่น ตลาดริมปิง จ.เชียงใหม่ ความกลัวของผู้บริโภคที่ยอมจ่ายแพงกว่ามากนั้น ได้สะท้อนถึงความไม่เชื่อใจต่อผู้ผลิตหรือเกษตรกร ที่มาพร้อมกับวาทกรรม เช่น เกษตรกรติดสารเคมี เกษตรกรเป็นผู้ไม่มีกฎเกณฑ์ ไม่มีความรู้ ขาดจิตสำนึก เป็นต้น ทัศนะเหล่านี้ของผู้บริโภคพ้องกับแนวคิดของ ธงชัย วินิจจะกูล ที่เสนอเรื่อง “Red Germ: เชื้อโรคสีแดง” เมื่อครั้งที่เสื้อแดงบุกโรงพยาบาลจุฬาฯ เมื่อปี 2553
จากตลาดเกษตรอินทรีย์ที่เติบโตเราสามารถนำแนวคิดว่าด้วย discipline มามอง เพราะมีการเน้นการควบคุมการผลิตให้ผลิตได้ตามความต้องการของผู้บริโภคหรือมาตรฐานเกษตรอินทรีย์
จากการสำรวจที่ อ.สทิงพระ จ.สงขลา เมื่อถามชาวบ้านว่ารู้จักเกษตรอินทรีย์ไหม ชาวบ้านหลายคนรู้จักเกษตรอินทรีย์ หลายคนทำเกษตรอินทรีย์ และทำด้วยสาเหตุต่างๆ กันไป เช่น ต้องการทำเพื่อเป็นอาหารในครัวเรือน หรือเพราะได้ทุนสนับสนุนจาก อบต. หรือเป็นรายที่เปลี่ยนจากการทำนากุ้งมาทำเกษตรอินทรีย์ทำให้พอมีรายได้อย่างต่อเนื่อง (ไม่ต้องเสี่ยงมากอย่างการทำนากุ้ง) ตลาดที่พวกเขาเอาสินค้าเกษตรอินทรีย์ไปขายก็เป็นตลาดในระดับท้องถิ่น ซึ่งผู้บริโภคที่มาซื้อก็อาศัยความ “เชื่อใจกัน” มากกว่าการใช้มาตรฐานเกษตรอินทรีย์แบบสากลมาเป็นเกณฑ์ในการตัดสินใจเลือกซื้อ
ประเด็นทิ้งท้ายก็คือ สินค้าเกษตรอินทรีย์ปัจจุบันมีเพียงมาตรฐานสากลซึ่งเป็นมาตรฐานเดียวกันที่เข้มงวดและนำไปสู่การควบคุม (discipline) เกษตรกร เราจะสามารถมีมาตรฐานเกษตรอินทรีย์หลายๆ แบบได้ไหม มีมาตรฐานที่เกิดจากการพูดคุยตกลงกันระหว่างเกษตรกรกับผู้บริโภคอย่างเท่าเทียมได้ไหม?