จากเรื่องเล่าส่วนตนสู่สิทธิมนุษยชน

ยุกติ มุกดาวิจิตร

บันทึกจากการสัมมนา “Personal Narrative and Human Rights Campaigns” ส่วนหนึ่งของโครงการเวทีสาธารณะมนุษยศาสตร์ ครั้งที่ 6 โดยวิทยากร Professor Sidonie Smith เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ.2555 ณ ห้องสัมมนาโครงการปริญญาเอกมานุษยวิทยา คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์


เห็น “เครือข่ายญาติและผู้ประสบภัยจากมาตรา 112” เก็บและเล่าเรื่องราวผู้ประสบภัย ม.112 แล้วอดไม่ได้ที่จะต้องปันเวลามาเล่าถึงการสัมมนาเรื่อง “Personal Narrative and Human Rights Campaign” บรรยายโดยศาสตราจารย์ซิดโดนี สมิธ (Sidonie Smith นักวรรณคดีเปรียบเทียบจากสหรัฐอเมริกา) ที่คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ธรรมศาสตร์ เมื่อวาน (7 สิงหาคม 2555) จะขอเล่าเพียงสั้นๆ

อาจารย์สมิธตั้งโจทย์สำคัญว่า วรรณกรรมประเภทเรื่องเล่าส่วนตนของผู้คน (personal narrative) จะมีส่วนในการรณรงค์ด้านสิทธิมนุษยชนได้อย่างไร และในอีกด้านหนึ่ง เรื่องราวส่วนตนหลายกรณีก็อาจกลายเป็นอุตสหกรรมความเศร้า ที่ก่อผลด้านกลับแก่ขบวนการสิทธิมนุษยชน

อาจารย์เล่าถึงบทบาทของเรื่องเล่าส่วนตนในเวทีสิทธิมนุษยชนโลก ที่สามารถช่วยค้นหาความจริงของการข่มเหงทำร้ายผู้คน บอกเล่าความเจ็บปวด บ่งชี้ผู้ก่อการรุนแรง เรียกร้องการยอมรับผิด ระลึกถึงเหยื่อ เรียกร้องให้สังคมต่อสู้ และกระทั่งระดมทุนช่วยเหลือ

จุดหมายปลายทางของการเล่าเรื่องส่วนตนจึงไม่ได้อยู่เพียงแค่การระบายความเศร้าโศกส่วนตน แต่มันยังสามารถนำไปเป็นหลักฐานในการดำเนินคดี การรวบรวมเข้าจดหมายเหตุความรุนแรง และการเผยแพร่สู่สาธารณชนรูปต่างๆ ในสังคมได้ตระหนักถึงปัญหา

อาจารย์สมิธยกตัวอย่างงานเขียนและผลงานสื่อสร้างสรรค์จำนวนมาก ที่นำเอาเรื่องราวส่วนตนของผู้ประสบภัยความรุนแรงด้วยนำ้มือมนุษย์ ไปเป็นประเด็นเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชน ทั้งกรณีในแอฟริกาใต้ อาร์เจนตินา ออสเตรเลีย จีน เกาหลีใต้ หรือกระทั่งในสหรัฐอเมริกา (ที่อาจารย์สมิธบอกว่า ตัวเลขงบประมาณสร้างและดูแลคุกสูงกว่าตัวเลขงบประมาณการศึกษา และคนต้องขังส่วนใหญ่เป็นคนจนและคนผิวสี)

ที่น่าสนใจคืออาจารย์สมิธยกตัวอย่างกรณีที่ขัดกันสองกรณีคือ เรื่องเล่า Comfort Women หรือผู้หญิงที่ถูกนำไปบำเรอกามแก่ทหารญี่ปุ่นช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 กับกรณีการ “ฆ่าเพื่อรักษาศักดิ์ศรีของผู้ฆ่า” (honor killing)

กรณีแรกเริ่มเป็นที่รู้จักกันดีในโลกปัจจุบัน แต่กว่าที่จะถึงจุดนี้ ต้องผ่านกิจกรรมรณรงค์มากมาย

แต่ประเด็นที่ต้องคิดถึงคือ ในกระบวนการสร้างความรับรู้นี้ ได้ก่อให้เกิดความเจ็บปวดแก่ผู้เล่าเรื่อง ที่ทั้งไม่อยากเป็นเหยื่อ แต่ก็ต้องตอกย้ำและผลิตซ้ำอัตลักษณ์ความเป็นเหยื่อของตน ซ้ำแล้วซ้ำเล่า

ผู้หญิงเหล่านี้แปลงชีวิตส่วนตนให้กลายเป็นเรื่องราวสาธารณะ ในแง่หนึ่ง นี่เป็นการทำให้ประเด็นปัจเจกกลายเป็นประเด็นสาธารณะ แต่ในอีกแง่หนึ่ง ลำพังเราๆ ท่านๆ ที่มีชีวิตปกติ จะนำเรื่องราวส่วนตนออกมาตีแผ่ก็ยังยากลำบาก แต่ผู้คนที่ถูกทำร้าย ที่ถูกตีตราว่าทำสิ่งบัดสี จะต้องมาตีแผ่เรื่องราวเหล่านั้นต่อสาธารณะ ย่อมเจ็บปวดยิ่งกว่า

กระนั้น พวกเธอก็ได้ลุกขึ้นมาปกป้องศักดิ์ศรีของตนเอง จากการถูกตีตรา (ในกรณีหญิงเกาหลี) เป็นโสเภณี จงใจมาขายตัว (ถูกตีตราว่าเป็น “ซอมบี้” เป็น “ควาย” ในกรณีไทย) ว่าที่จริงแล้วพวกเธอ “ถูกข่มชืนอย่างเป็นระบบ” (ถูกฆ่ากลางกรุงอย่างเป็นระบบ กรณีไทยปี 2553)

ที่ร้ายกว่านั้นคือ ไม่ใช่ว่าใครก็จะสามารถเป็น เหยื่อที่จุดประเด็นความสนใจได้อย่างเท่าเทียมกัน เรื่องเล่าของหญิงเกาหลีจำนวนมากไม่เป็นประเด็นร้อนแรงเท่ากับเรื่องของหญิงดัชที่เติบโตในอินโดนีเซีย แล้วมาเปิดเผยทีหลังว่าเธอตกเป็นเหยื่อของกิจกามดังกล่าวด้วย

ชนชั้นของเหยื่อจึงเป็นประเด็นท้าทายอีกประเด็นหนึ่งของการจุดประกายเรื่องสิทธิมนุษยชน ไม่ใช่ว่าใครจะได้รับความเห็นใจจากสังคมอย่างเท่าเทียมกัน

ส่วนอีกด้านหนึ่งของการนำเรื่องราวผู้ถูกทำร้ายมาเล่า กลับกลายเป็นการผลิตอุตสาหกรรมคราม่า มากกว่าจะนำไปสู่การรณรงค์ด้านสิทธิมนุษยชน อาจารย์สมิธเล่าถึงเรื่องของหญิงคนหนึ่ง ที่เล่าว่าถูกเผาทั้งเป็น แต่รอดตายมา แล้วนักสังคมสงเคราะห์คนหนึ่งมาพบ และเล่าเรื่องนี้ให้กับนักเขียนอีกคนหนึ่ง

การณ์กลายเป็นว่า สำนักพิมพ์และนักเขียนคนนี้หากินกับเรื่องทำนองนี้มาแล้วทั่วโลก แม้ว่าเรื่องราวจะมีเค้าความจริง แต่ก็กลายเป็นอุตสาหกรรมความเจ็บปวด แถมยังตอกย้ำภาพเพ้อฝันของตะวันตกต่อตะวันออก ที่เสมือนกับว่ายังมีธรรมเนียมป่าเถื่อนเรื่องการฆ่าเพื่อปกป้องศักดิ์ศรีของผู้ฆ่าอยู่ทั่วไปหมด

อุตสาหกรรมนี้ใหญ่โต จนกระทั่งมีผลบั่นทอนการนำเอาเรื่องราวของผู้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนมาเผยแพร่ เพราะสังคมคราม่ากับเรื่องเหล่านี้ แต่ไม่ได้นำไปสู่การค้นหาความจริงและพยายามช่วยเหลือผู้ถูกละเมิดอย่างแท้จริง

ตอนท้าย มีคำถามและการแลกเปลี่ยนหลายประเด็น แต่ขอไม่เล่า

ผมคิดว่า เรื่องราวของผู้ประสบภัยจากการการทำรุนแรงโดยรัฐในกรณีต่างๆ ในประเทศไทย ยังไม่ถึงกับจะกลายเป็นอุตสาหกรรมความเจ็บปวดอย่างที่เป็นในประเทศอื่น เรื่องอากง เรื่องประชาชนที่ถูกฆ่ากลางกรุงฯ ปี 2553 เรื่องราวของพี่น้องมุสลิมที่เสียชีวิตเพราะการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐในภาคใต้ และผู้คนที่สูญหายในกรณีสงครามยาเสพติด จะยังคงไม่กลายเป็นอุตสาหกรรมดราม่าแบบ “วงเวียนชีวิต”

เพราะเรื่องราวเหล่านี้ท้าทายความชอบธรรมของเจ้าหน้าที่รัฐ ของการใช้อำนาจรัฐ ซึ่งยังคงยึดกุมอำนาจการเล่าเรื่อง และยังตราหน้าคนเหล่านี้ว่าเป็นพวกล้มเจ้า ผู้ก่อการร้าย โจรใต้ ผู้ค้ายา

ดังนั้น เราจึงยังต้องผลิตเรื่องเล่าส่วนตนของคนผู้ประสบภัยความรุนแรงโดยรัฐ เพื่อให้วันหนึ่งเรื่องเล่าเหล่านี้จะกลายเป็นประเด็นสิทธิมนุษยชนให้สาธารณชนตระหนัก ให้กลายมาเป็นหลักฐานผูกมัดคนผิด ให้รู้ตัวผู้ฆ่า ให้หยุดยั้งการฆ่าโดยรัฐในอนาคตต่อไป


ขอบคุณอาจารย์ชุติมา ประกาศวุฒิสาร แห่งอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ที่นำกิจกรรมวิชาการดีๆ นี้มาสู่ท่าพระจันทร์ และขอบคุณอาจารย์สุกฤตยา จักรปิงแห่งวิทยาลัยสหวิทยาการ มธ. ผู้ดำเนินการเสวนา