บุญเลิศ วิเศษปรีชา กับการเดินทางสู่โลกของคนไร้บ้าน
โลกของคนไร้บ้าน (2552 [2550])
จัดพิมพ์โดย ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
ประจำปี พ.ศ. 2546
สาขาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา พ.ศ.2550
โดย วิรพา อังกูรทัศนียรัตน์
อ่านต้นฉบับพร้อมภาพประกอบได้จาก เว็บไซต์นิตยสารสารคดี
“กระดาษรองนั่งไหมครับ ๆ”
เมื่อ 6 ปีมาแล้ว บุญเลิศ วิเศษปรีชา ในสภาพแต่งตัวมอซอ ผมเผ้าหนาฟู เดินเร่ขายพลาสติกปูรองนั่งอยู่กลางท้องสนามหลวงที่กำลังมีงานเทศกาลหนังกลางแปลง
ในหมู่คนไร้บ้านน้อยคนจะเชื่อว่า “ไอ้หน้าขาว” ที่เคยเร่ขายพลาสติกรองนั่ง เคยเดินเก็บขวดน้ำ เคยไปรับแจกข้าวที่โรงเจ เคยนอนริมคลองกับพวกเขา ใช้ชีวิตบนท้องถนนประหนึ่งคนไม่มีบ้าน แท้จริงแล้วเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยชื่อดัง และวันนี้ยังเป็นอาจารย์สอนหนังสือ
ที่สำคัญงานของเขา–โลกของคนไร้บ้าน ซึ่งเป็นคล้ายปากเสียงของกลุ่มคนที่ถือว่ายากจนที่สุดในเมือง ยังได้รับเลือกให้ได้รับรางวัลชูเกียรติ อุทกะพันธ์ ประจำปี 2550 ในสาขาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
…..
ย้อนกลับไปสมัยยังเป็นนิสิตปี 1 คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บุญเลิศร่วมวงถกประเด็นปัญหาสังคมหนักๆ ระหว่างออกค่ายกับชมรมมหาวิทยาลัยชาวบ้าน และเข้าร่วมเหตุการณ์พฤษภา 35 ในปีต่อมา ปี 2536 ได้รับเลือกเป็นรองนายกองค์การนิสิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และดำรงตำแหน่งเลขาธิการสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) ในปี 2537
หากถามว่าอะไรทำให้นิสิตคณะประมงสนใจปัญหาสังคมการเมือง บุญเลิศเล่าว่า
“ความที่ผมเป็นคนอ่านหนังสือ ผมอ่าน ฉันจึงมาหาความหมาย ของวิทยากร เชียงกูล งานของศรีบูรพา อาจินต์ ปัญจพรรค์ จิตร ภูมิศักดิ์ แมกซิม กอร์กี้ ฯลฯ ตั้งแต่ยังเรียนมัธยม ความคิดทางสังคมก็ได้มาจากหนังสือพวกนี้ ที่เลือกเรียนคณะประมงเพราะเวลานั้นเบื่อกรุงเทพฯ มาก อยากเป็นนักวิชาการประมง ไปทำงานต่างจังหวัด
“แต่พอมาเรียนแล้วรู้สึกว่าเนื้อหาที่สอนไม่ตรงกับความสนใจของเราเท่าไร ยิ่งช่วงปี 2536 เป็นช่วงที่กุ้งกุลาดำกำลังบูม เพื่อนๆ นักกิจกรรมประท้วงกันอย่างครึกโครมว่านากุ้งทำลายสิ่งแวดล้อม เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เราตัดสินใจว่าเรียนจบไปคงไม่ทำงานในวิชาชีพประมงแน่เพราะรับไม่ได้ คือเรามีความสนใจสังคมมากกว่าห้องแล็บ เป็นคนละโลกกันเลย เราทำกิจกรรมเคลื่อนไหวแล้วกลับไปส่องกุ้งส่องปลา ฉีดฮอร์โมนผสมพันธุ์ปลามาก็หลายครั้ง เรารู้สึกว่าเป็นการสอนเฉพาะเรื่องเทคนิค แต่ไม่ได้สอนว่าปลามันสัมพันธ์กับชาวประมง อุตสาหกรรมประมง หรือสังคมอย่างไร
“ดังนั้นชีวิตที่ผมได้มาจากเกษตรฯ คือความเป็นลูกทุ่งแบบเกษตรฯ ความเป็นคนลุย เอาพรรคเอาพวก แต่เราไม่ชอบตัววิชาความรู้เท่าไร”
แม้จะได้เริ่มงานครั้งแรกที่ สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ทันทีที่เรียนจบ แต่บุญเลิศก็พบว่าตัวเขาอยากเป็นนักเคลื่อนไหวมากกว่าเป็นสื่อมวลชน และเป็นจังหวะที่ถูกดึงตัวให้มาช่วยงานกองเลขานุการ สมัชชาคนจน ในปี 2539 โดยสังกัดเป็นเจ้าหน้าที่มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย-องค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานกับชาวชุมชนแออัด ซึ่งทำให้ได้ประสบการณ์ที่ลึกขึ้น
“การได้เข้ามาช่วยงานในกองเลขาฯ สมัชชาคนจน ถือว่าเป็นการเปิดโลกการเรียนรู้ครั้งใหญ่ เพราะเราได้เรียนรู้การทำงานแบบเอาจริงเอาจังและซึมซับความรู้สึกอ่อนไหวกับความอยุติธรรม โดยเฉพาะจากพี่มด (วนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์)”
ถึงกระนั้น การทำงานเอกสาร เป็นหน่วยสนับสนุนขบวนชาวบ้านก็ดูจะยังไม่ถูกจริตเท่ากับได้มาลงสนามจริง ทำงานเกาะติดในพื้นที่ เขาจึงผันสถานะตัวเองมาลงชุมชนสลัมในฐานะนักพัฒนาอย่างเต็มตัว
“ลงชุมชนครั้งแรกที่ชุมชนสลัมใต้สะพานบางกอกน้อย จำได้ว่าวันแรกยังตื่นๆ กล้าๆ กลัวๆ พอเราเห็นชายหนุ่มวัยฉกรรจ์มีรอยสักเต็มตัวนั่งกันอยู่เป็นกลุ่มๆ ถึงกับต้องเดินหลบไปตั้งหลักก่อนถึงจะกล้าเข้าไปคุยกับเขา แต่สุดท้ายก็อยู่กับพวกเขาได้ คนเหล่านี้เป็นแรงงานรับจ้างตอกเสาเข็ม ความน่ากลัวเป็นเพียงสิ่งภายนอกเท่านั้น
“สำหรับเรา ประสบการณ์คือการเรียนรู้ เราได้เจอห้องเรียนที่ใหญ่ขึ้น อ่านจากหนังสือเล่มไหนไม่ได้ ต้องสัมผัสด้วยตัวเอง ทำให้เราได้ขบคิดและมองโลกอย่างที่มันเป็น ผมเดินอยู่ใต้สะพาน แบกรองเท้าเก่าของชาวบ้านไปขายตลาดนัดมาหลายปี ชีวิตแบบนี้ทำให้ผมเข้าใจพวกเขายิ่งกว่าที่ผ่านมา
“บางครั้งเคยเจอวัยรุ่นที่เพิ่งออกจากคุกและพร้อมจะก่อคดีได้ตลอดเวลา ซึ่งก็ทำให้เราไม่มองอะไรด้านเดียวหรือโรแมนติกจนเกินไป”
จนปี 2544 หลังจากบุญเลิศมีประสบการณ์กับชุมชนใต้สะพานกับชุมชนสลัมที่ถูกไล่รื้อ เขาเริ่มสนใจเกี่ยวกับกลุ่มคนที่จนที่สุดในเมือง นั่นคือ คนไร้บ้าน (homeless) แม้มูลนิธิฯ จะเปรยพูดกันถึงคนกลุ่มนี้ แต่ยังไม่เคยมีใครลงทำงานจริง บุญเลิศจึงเป็นผู้บุกเบิกงานสำรวจศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับคนไร้บ้าน
ในเวลานั้นระหว่างเรียนต่อปริญญาโทสาขามานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บุญเลิศก็เริ่มตระเวนไปตามสนามหลวง ริมคลองหลอด อนุสาวรีย์ทหารอาสา หัวลำโพง วงเวียน 22 กรกฎา ถนนพระรามที่ 4 จนพบว่า
“เรื่องนี้มีความท้าทายทางวิชาการเพราะเป็นประเด็นใหม่ที่ยังไม่เคยมีการศึกษา จึงเป็นงานบุกเบิกที่จะทำให้เราได้เข้าใจคนกลุ่มใหม่ที่สังคมไม่รู้จักมาก่อน อีกประการคือ เวลาเราอยากจะวิพากษ์ความเหลื่อมล้ำในสังคม คนกลุ่มนี้คือรูปธรรมชัดที่สุดที่บ่งชี้ว่าสังคมเหลื่อมล้ำถึงขนาดว่ามีคนที่รวยมาก ๆ กับคนที่ไม่มีแม้บ้านจะอยู่ ถ้างานศึกษาจะมีพลังพอจะขจัดอคติของคนส่วนใหญ่ที่มีต่อคนกลุ่มนี้ด้วยได้ก็น่าจะดี” นั่นคือที่มาของการทำวิทยานิพนธ์เรื่องนี้
และสิ่งที่บุญเลิศทำเป็นอันดับแรกซึ่งได้สร้างคุณูปการแก่กลุ่มคนไร้บ้านในเวลาต่อมาก็คือ การประดิษฐ์คำว่า “คนไร้บ้าน” ในสังคมไทย
“เดิมสังคมเรียกเขาว่าคนเร่ร่อน คนจรจัด เหตุที่เราต้องสร้างคำใหม่ขึ้นเพราะคำคำหนึ่งมันจะมีจินตภาพหรืออคติในคำนั้น ๆ ผูกติดมาพร้อมสรรพ เช่นเวลาพูดถึงคนเร่ร่อนเราก็นึกถึงคนที่เร่ร่อนไปไร้จุดหมาย หนักกว่านั้นคือคนบ้าคนเมา แต่ขณะเดียวกันคนที่นอนในที่สาธารณะจำนวนมากก็ไม่ได้บ้าไม่ได้เมา แล้วเราจะเข้าใจคนกลุ่มนี้ได้อย่างไร จึงสร้างคำใหม่เพื่อทำให้คนไม่ติดกับอคติหรือจินตนาการเก่า ๆ ที่ผูกกับคำว่าคนเร่ร่อน จรจัด
“แต่เราพยายามชี้ให้เห็นว่า คนไร้บ้านไม่ได้หมายความเพียงเพราะไร้ปัจจัยในทางกายภาพเท่านั้น นัยสำคัญคือความเป็นคนไร้ราก การที่พวกเขาถูกถอนรากออกมาจากชุมชน เครือญาติ แล้วทำให้อยู่ประจำที่ได้น้อย มีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกันน้อย ความไว้วางใจกันต่ำ และพร้อมจะจากไปเมื่อไรก็ได้”
ดังนั้นจึงเป็นการยากที่จะสร้างการรวมกลุ่มให้เกิดขึ้นในหมู่พวกเขา แต่บุญเลิศบอกว่าที่ยากยิ่งกว่าคือ การเข้าให้ถึงโลกของพวกเขา จึงเป็นที่มาของแนวทางการศึกษาที่เน้นการทำงานสนามอย่างเข้มข้น
“อาจารย์ฉวีวรรณ ประจวบเหมาะ บอกไว้ ท่านสอนผมว่าจุดแข็งของมานุษยวิทยาคือการลงฟิลด์ คำกล่าวนี้ช่วยจุดประกายและทำให้เรายิ่งมั่นใจว่าการลงฟิลด์ยังไม่ใช่เรื่องที่เชยในโลกวิชาการที่กำลังเห่อโพสต์โมเดิร์น แน่นอนเรารับเอามุมมองข้อวิพากษ์ของโพสต์โมเดิร์น แต่อย่าทิ้งแนวทางการศึกษาที่เป็นจุดแข็งของเรา นั่นคือการพาตัวเองเข้าไปอยู่ในโลกของกลุ่มคนที่เราศึกษา
“ก่อนอื่นต้องทำให้เขายอมรับว่าเราเป็นคนหนึ่งที่อยากจะเข้าใจเขา เริ่มต้นง่าย ๆ คือไปคุย จากนั้นก็ทำกิจกรรมร่วมกับเขา ไปรอรับแจกอาหาร ไปช่วยทำมาหากิน เดินขายกระดาษพลาสติกปูนั่ง ขายลูกโป่งตามเวทีคอนเสิร์ต เก็บกระป๋อง ขวดน้ำ ท้ายที่สุดคือนอนกับพวกเขา ตื่นเช้ามาก็ไปเดินเกร่ขอข้าววัดกิน
“ตอนนั้นเรารู้สึกว่าไปทั้งตัวทั้งใจ ปล่อยตัวเองไปตามวิถีชีวิตแบบนั้น ซึ่งตรงนี้ทำให้เรามองเห็นอะไรที่ต่างออกไป และไม่ใช่มองด้วยสายตาแบบนักท่องเที่ยวที่เข้าไปเพียงชั่วครั้งชั่วคราว แต่เรากินนอนอยู่กับพวกเขาจนเป็นวิถีชีวิต ถึงกับว่าช่วงหนึ่งไม่ได้กลับบ้านเลย กระนั้นก็ตามเราคงไม่สามารถอ้างได้ว่าตัวเราเป็นคนไร้บ้านเหมือนกับพวกเขา” ดังที่คนไร้บ้านคนหนึ่งบอกว่า “บุญเลิศ ไม่ต้องทำหรอก ทำยังไงก็ไม่เหมือน คนมันไม่ใช่ผี ทำยังไงก็ไม่ใช่ผี” (ผี-คำเรียกคนไร้บ้านประเภทหนึ่งที่ไม่มีอาชีพประจำ มีที่มาจากลักษณะการยังชีพที่ต้องคอยรับแจกทาน)
สองปีของการเดินข้ามพรมแดนสู่โลกของคนไร้บ้าน บุญเลิศพบว่า กว่าจะสร้างความไว้วางใจได้นั้นเป็นเรื่องยากไม่น้อย เพราะแรก ๆ ตัวเขาก็ถูกระแวงว่าเป็น “สก็อต” (ตำรวจนอกเครื่องแบบ) “นิ้ว” (คนที่เป็นสายให้ตำรวจ) หรือถูกเข้าใจว่าเป็น “สงเคราะห์” (เจ้าหน้าที่กรมประชาสงเคราะห์) ซึ่งคนไร้บ้านทั่วไปขยาดนักหนา ต่อเมื่อนานวันเข้า เมื่อเขาได้กลายตัวเองเป็น “ผี” ทำทุกอย่างที่คนไร้บ้านทำ มีโพยแจกข้าว พกพลาสติกสำหรับปูนั่งและนอนตามที่สาธารณะต่าง ๆ จนในที่สุดบางคนเชื่อสนิทว่าเขาเป็นพวกเดียวกัน ดังคำทักทายที่ว่า “คืนนี้จะไปนอนไหน นอนที่นี่เป็นเพื่อนกันก็ได้ พรุ่งนี้เช้าเราจะพานายไปขอข้าวที่วัดเบญจฯ”
“มีครั้งหนึ่งที่ผมอมยิ้มกับตัวเองในใจ คือระหว่างที่เดินอยู่แถวคลองหลอดก็มีผู้หญิงตะโกนเรียกจากอีกฝั่งว่า ‘น้องบุญเลิศ ๆ ๆ’ ปรากฏว่าเป็นพี่ที่เคยแนะนำเราเวลาลงฟิลด์ แกมีอาชีพขายบริการ ผมเข้าใจว่าคนรอบ ๆ คงนึกว่าเราเป็นนักเที่ยวขาประจำ หรือมีอีกครั้งตอนผมยืนรอรถเมล์ ลุงคนหาของเก่าเข็นรถผ่านมา ผมจำได้ก็ทักทายลุงตามปรกติ ลุงก็จับมือผมแล้วบอกว่า ขอบใจนะที่เจอกันยังทักทาย เพราะเห็นว่าผมไม่อายที่จะทักทายคนเก็บของเก่าต่อหน้าคนที่ป้ายรถเมล์จำนวนมาก”
นอกจากภาพด้านมืดอย่างการขายบริการทางเพศหรือลักเล็กขโมยน้อย น้อยคนจะรู้ว่าแท้จริงแล้วคนไร้บ้านส่วนใหญ่มีวิธีประทับชีพที่หลากหลาย เป็นต้นว่าเดินแจกใบปลิวตามสะพานลอย เร่ขายของตามงานวัด กระทั่งรับจ้างเป็นตัวประกอบในภาพยนตร์ อัดรายการเกมโชว์ และในหมู่คนไร้บ้านเองก็ไม่ยอมรับพวกลักขโมยหรือพวกเดินชนตังค์ (คนที่เดินไปขอเงินโดยสร้างเรื่องหลอกลวง) ด้วยซ้ำ
เดือนสิงหาคม ปี 2544 กทม. มีนโยบายห้ามใช้พื้นที่สนามหลวงหลังห้าทุ่ม บุญเลิศจึงไม่รีรอที่จะเข้าไปสร้างการรวมกลุ่มของคนไร้บ้าน ชักชวนพวกเขาสื่อสารกับสังคมว่าตนไม่ใช่อาชญากรอย่างที่ถูกตราบาปมาตลอด จนในที่สุด กทม. มีมติให้จัดเต็นท์รองรับคนไร้บ้าน และริเริ่มโครงการทดลองทำศูนย์ที่พักสำหรับพวกเขา
“เราเป็นคนแรกๆ ที่ทำให้คนไร้บ้านกล้าเปิดเผยตัวต่อสาธารณะ คือเราต้องสร้างความมั่นใจให้เขาว่าการที่เขาพูดกับสังคมมีผลดีกว่าที่ต้องหลบหนีไปตลอด เวลาลงฟิลด์ผมจะมีชาร์ตเขียนรูปไว้อธิบายง่ายๆ ว่าเขาจะเลือกหนีไปเรื่อยๆ หรือเลือกการรวมกลุ่มกันแล้วประกาศว่าพวกเขาต้องการอะไร ซึ่งตรงนี้ประสบการณ์ของคนสลัมคนใต้สะพานช่วยให้คนไร้บ้านมั่นใจขึ้น ก่อนหน้านี้เวลาพวกเขานั่งรวมกลุ่มกันแล้วมีทีวีมาถ่ายหรือมีนักข่าวมาถ่ายรูป พวกเขาจะกระเจิดกระเจิงเพราะกลัว ใครล่ะจะอยากให้หน้าตัวเองไปปรากฏในหนังสือพิมพ์ แต่ครั้งนั้นเป็นครั้งแรกที่คนไร้บ้านกล้าพูดว่าเขามีชีวิตอย่างนี้ แล้วอยากจะเสนออะไร พอสังคมเริ่มยอมรับว่าเขาไม่ใช่ผู้ร้าย หลายคนก็พร้อมจะเปิดเผยตัว จนทุกวันนี้มีรายการสารคดีนำเสนอชีวิตของพวกเขาอย่างเข้าใจมากขึ้น”
หากถามว่าอะไรคือข้อค้นพบของงานชิ้นนี้ บุญเลิศอธิบายว่า “ประการแรก เราไม่สามารถบอกได้ว่าเหตุผลข้อใดข้อหนึ่งทำให้มาเป็นคนไร้บ้าน พวกเขาไม่ได้นอนในที่สาธารณะเพื่อจ้องจะลักขโมย ชิงทรัพย์ ก่ออาชญากรรม แต่เพราะเขาถูกผลักจากหลายปัจจัยซ้อนทับ โดยแทบทุกคนต่างไม่มีญาติพี่น้องให้พึ่งพา และใช้เวลานานกว่าจะยอมรับการใช้ชีวิตเป็นคนไร้บ้าน สิ่งนี้ได้มาจากคำพูดของคนไร้บ้านเอง ถ้าไม่ได้ลงฟิลด์ลึกๆ ก็ยากจะตอบได้
“ประการที่ 2 เขาอยู่รอดได้อย่างไร เราพบว่าพวกเขายังชีพได้ด้วยวิธีการที่หลากหลาย ทั้งจาก ‘สวัสดิการสังคมนอกภาครัฐ’ คือช่องว่างเล็กๆ ในเมืองที่ทำให้เขาแทรกตัวเองอยู่ และจากทรัพยากรที่เหลือใช้ของคนเมือง ที่ผ่านมางบประมาณภาครัฐไม่เคยไปถึงเขา แต่ว่าวัด โรงเจ สภาสังคมสงเคราะห์ฯ ต่างหากที่คอยเอื้อเฟื้อแจกอาหาร กระทั่งคนเดินผ่านไปผ่านมาที่คอยให้ความช่วยเหลือ มันเห็นชัดว่ามีอีกโลกหนึ่งที่รัฐไม่ได้เข้ามายุ่งเกี่ยวอะไรกับชีวิตเขา การที่คนไร้บ้านอยู่ได้เพราะสังคมยังไม่แล้งน้ำใจเกินไป”
เขายังบอกอีกว่า ทุกวันนี้ก็ยังไม่แน่ใจว่าจะตอบคำถามนี้ได้ “คนไร้บ้านอยากมีบ้านหรือไม่?”
“ส่วนหนึ่งเราพยายามจะตอบว่าทำไมข้อจำกัดของการหลุดพ้นจากสถานะไร้บ้านจึงยากมาก ยิ่งเป็นคนไร้บ้านนานเท่าไร โอกาสที่จะกลับสู่วิถีชีวิตแบบมีบ้านก็น้อยลงเท่านั้น คือลึกๆ แล้วเขาคงอยากมีบ้าน แต่เขาตอบเราว่าไม่มีก็ได้ ซึ่งเป็นการตอบภายใต้เงื่อนไขว่ามันเป็นไปได้ยากมากที่จะมีบ้านแล้วจะบอกว่าอยากมีไปทำไม เป็นทุกข์เสียเปล่าๆ สิ่งสำคัญก็คือการมีชีวิตแบบนี้ทำให้เขามีความหวังในชีวิตน้อยลงเรื่อยๆ พออยู่นานวันเข้าแล้วไม่เห็นช่องทางว่าจะมีชีวิตที่ดีกว่านี้ได้ ความหวังที่จะเอาชนะอุปสรรคก็น้อยลง กลายเป็นมีชีวิตไปวันต่อวัน ปรับตัวตามวิถีแบบคนไร้บ้าน กระทั่งคุ้นเคยกับชีวิตข้างถนนแล้ว การจะกลับมาสู่การงานอาชีพประจำจึงเป็นไปได้ยาก”
แต่สิ่งสำคัญที่สุดที่งานชิ้นนี้พยายามจะบอกก็คือ “พวกเขาเป็นมนุษย์เหมือนกับพวกเรา…ทั้งหมดนี้คือความพยายามทลายเส้นแบ่งพรมแดนที่มองไม่เห็นระหว่าง “เรา” กับ “เขา”
ปัจจุบัน บุญเลิศเป็นอาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กระนั้นเราก็ยังพบเห็นเขาท่ามกลางการชุมนุมของชาวสลัมทุกคราวไป เขาย้ำว่าการเป็นอาจารย์คงไม่ได้หมายความว่าต้องสอนหนังสือเพียงอย่างเดียว แต่สิ่งสำคัญอยู่ตรงที่สถานภาพหรือบทบาทนี้จะช่วยเสริมความเข้มแข็งให้ขบวนการชาวบ้านได้อย่างไรต่างหาก
“ถ้าเป็นแล้วไม่ทำประโยชน์อะไรให้คนจนก็อย่าเป็นเสียดีกว่า” เขาทิ้งท้ายไว้เช่นนั้น