ศาสตร์ อศาสตร์: เข้ามาข้างนอก ออกไปข้างใน

chantanee ed 2559 cover 1

จัดพิมพ์เนื่องในโอกาสครบรอบ 50 ปี
การก่อตั้งคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
โดย
คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับ
Paragraph Publishing (2559)

    บทนำ

  • ศาสตร์-อศาสตร์
    เข้ามาข้างนอก ออกไปข้างใน

    จันทนี เจริญศรี
  • ปาฐกถา

  • “ศาสตร์” กับ “สหวิทยาการ”:
    กระบวนทัศน์และความท้าทายในโลกวิชาการสมัยใหม่

    เสมอชัย พูลสุวรรณ
  • ข้ามศาสตร์

  • ประวัติศาสตร์กับความหมาย เมื่อความตายกลายเป็นตาราง
    ศุภวิทย์ ถาวรบุตร
  • นายเถื่อน กับ นายคำ
    ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์
  • ศาสตร์-อศาสตร์

  • ศาสตร์-อศาสตร์: มานุษยวิทยา ณ จุดเปลี่ยนทางภววิทยา
    โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์
  • ความไม่(เคย)เป็นสมัยใหม่ของศาสตร์-อศาสตร์
    อวัตถุวิสัย อมนุษยนิยม และเครือข่าย-ผู้กระทำ
    ของ บรูโน ลาตูร์

    จักรกริช สังขมณี

ปก: สกลชนก เผื่อนพงษ์

บางส่วนจากบทบรรณาธิการ:
ศาสตร์-อศาสตร์ เข้ามาข้างนอก ออกไปข้างใน

จันทนี เจริญศรี
คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


หนังสือเล่มนี้เจตนาจะทบทวนข้อท้าทายร่วมสมัยที่มีต่อสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา รวมถึงพิจารณาแนวโน้มใหม่ๆ ในการทำงานทางสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา โดยเน้นไปที่ข้อท้าทายที่เกิดจากลักษณะหลัก 2 ประการของศาสตร์สาขานี้ คือ ความเป็นศาสตร์สมัยใหม่ (modern science) และความเป็นศาสตร์ที่ศึกษาภาวะสมัยใหม่ (science of modernity) บทความในเล่มสนใจสืบสาวผลพวงของภววิทยาแบบสมัยใหม่ที่แบ่งแยกโลกของธรรมชาติออกจากโลกของความหมายอันนำไปสู่การแบ่งแยกศาสตร์ (science) ออกจากอศาสตร์ (non-science) ซึ่งในที่นี้ ศาสตร์จะใช้หมายถึงวิทยาศาสตร์ ส่วนอศาสตร์หมายถึงทั้งหมดทั้งปวงที่อยู่นอกขอบเขตความเป็นวิทยาศาสตร์ เช่น ปรัชญา มนุษยศาสตร์ ตลอดจนความเชื่อทางศาสนา ขนบประเพณี และอุดมการณ์ต่างๆ

ศาสตร์สาขาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาแม้จะมีประเด็นศึกษาเน้นไปที่โลกของความหมายมากกว่าโลกธรรมชาติ แต่ในเชิงวิธีหาความรู้กลับตกอยู่ในการถกเถียงอย่างยาวนานระหว่างความเป็นศาสตร์หรืออศาสตร์ ซึ่งในทางปฏิบัติมักนำไปสู่การแยกขั้วทางความคิดและแยกค่ายทางการทำงาน การแบ่งแยกที่ว่านี้ถูกตอกย้ำให้แบ่งแยกกันมากยิ่งขึ้นผ่านกระบวนการจัดระเบียบทางสังคมในโลกของวงวิชาการที่เน้นความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน (academic professionalization) การจัดระเบียบทางสังคมเช่นนี้ แม้จะเอื้อต่อการสร้างความก้าวหน้าในสาขาวิชา แต่ก็ตีกรอบจำกัดในการรับรู้และศึกษาโลก ความตระหนักในข้อจำกัดดังกล่าวทำให้เมื่อไม่นานมานี้มีข้อเรียกร้องเรื่องสหวิทยาการ พหุวิทยาการ หรือข้ามพ้นวิทยาการ (interdisciplinary, multidisciplinary, or transdisciplinary) แต่ต่อมาบทเรียนเชิงปฏิบัติก็เริ่มชี้ให้เห็นว่า นี่มิใช่สิ่งที่ทำได้โดยง่าย เพราะทุกศาสตร์ล้วนแล้วแต่ตั้งอยู่บนฐานคติมากมายที่ล้วนเป็นอุปสรรคและบดบังการเข้าใจโลกจากฐานคิดแบบอื่น พัฒนาการเช่นที่ว่ามานี้เองที่นำไปสู่ข้อเรียกร้องที่ถอนรากถอนโคนยิ่งกว่าเดิม นั่นก็คือการเสนอให้มีการกลับมาทบทวนภววิทยาของยุคสมัยใหม่เสียใหม่ และภววิทยาพื้นฐานที่สุดของศาสตร์สมัยใหม่ก็คือ การแบ่งแยกโลกธรรมชาติออกจากโลกของความหมาย

เพื่อสำรวจการทบทวนในเชิงภววิทยาเช่นที่กล่าวไปนี้ ในบทนำจึงจะเริ่มด้วยการทดลองเสนอร่างปัญหา โดยให้ความสำคัญกับแนวคิดของอัลเฟรด นอร์ธ ไวท์เฮ้ด (Alfred North Whitehead) ที่เสนอว่าถึงที่สุดแล้วปัญหาทั้งปวงเกิดจากความรู้สมัยใหม่มีลักษณะที่เขาเรียกว่า “ผ่าธรรมชาติเป็นสอง” (the bifurcation of nature) (Whitehead 1964: 30-31) ซึ่งไวท์เฮ้ดหมายถึงการแบ่งแยกโลกธรรมชาติออกจากโลกของความหมายและวัฒนธรรม ซึ่งในมุมมองของเขาไม่ใช่สิ่งที่ควรจะถูกแบ่งแยกออกจากกัน เขายังมองว่าการแบ่งแยกนี้นำไปสู่แนวคิดแยกคู่ตรงข้ามมากมายที่กำกับความรู้สมัยใหม่อยู่ เช่น การมองธรรมชาติว่าเป็นสิ่งที่ตายแล้ว เฉื่อยชา รอที่จะถูกกระทำ ในขณะที่มนุษย์เป็นสัตว์สังคม มีวัฒนธรรม สามารถประทับความหมายให้กับสิ่งต่างๆ ได้อย่างกระตือรือร้น มีความเป็นองค์ประธาน ฯลฯ แต่ไวท์เฮ้ดมองปัญหาการแบ่งแยกนี้ไปไกลกว่านั้น คือ เขาเห็นว่าความรู้สมัยใหม่ยังมีแนวโน้มแบ่งแยกระหว่าง “วัตถุ” ที่คงอยู่อย่างหยุดนิ่งและมีอัตลักษณ์ชัดเจนตายตัวกับโลกของกระบวนการที่มีความต่อเนื่องเลื่อนไหล ไวท์เฮ้ดจึงมุ่งสร้างปรัชญาที่ “ข้ามพ้น” การแบ่งแยกที่กล่าวไป โดยไวท์เฮ้ดเรียกภววิทยาที่เขาสร้างขึ้นว่า ปรัชญาของสิ่งมีชีวิต (philosophy of organism) ในความหมายที่เขามองว่าโลกทั้งโลกเหมือนชีวิตชีวิตหนึ่งที่มีความต่อเนื่อง แต่ในขณะเดียวกัน เขาก็เห็นความจำเป็นที่จะต้องผนวกความเข้าใจต่อการคงอยู่ของความเป็นวัตถุ (materiality) เข้าไปในภววิทยาชุดเดียวกันนี้ด้วย ชื่อ philosophy of organism ไม่ปรากฏว่าเป็นที่นิยมในเวลาต่อมา ผู้ที่สนใจปรัชญาของไวท์เฮ้ดกลับเรียกปรัชญาของเขาว่า ปรัชญากระบวนการ (process philosophy) เสียเป็นส่วนมาก

ในศาสตร์สาขาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา อิทธิพลของปรัชญากระบวน-การปรากฏผ่าน Actor-Network Theory (หรือต่อไปจะกล่าวถึงว่า ANT) และผ่านปรัชญาของฌีลล์ เดอเลิซ (Gilles Deleuze) ที่ต้องการไปให้พ้นจากลักษณะสารัตถนิยม (nonessential philosophy) ในสังคมวิทยาเองรูปธรรมสำคัญของการนำปรัชญาแบบนี้มาใช้ปรากฏชัดในงานศึกษาเรื่องร่างกาย ที่ต้องการไปให้พ้นจากทวิภาคของการมองร่างกายในฐานะความเป็นภาพแทน หรือความเป็นสสารวัตถุอย่างใดอย่างหนึ่ง

ในส่วนต่อจากนี้ไปของบทนำ จะขยายความปัญหาการแบ่งแยกที่ว่านี้ในสังคมศาสตร์ จากนั้นจะเสนอแนวคิดหลักๆ ของปรัชญากระบวนการโดยย่นย่อ และจบด้วยการนำเสนอนัยของภววิทยาแบบไวท์เฮ้ดของการทำงานวิชาการด้านสังคมวิทยา และปิดท้ายบทนำด้วยการแนะนำบทความในเรื่องซึ่งแต่ละชิ้นจะเน้นการเข้าถึงแต่ละแง่มุมของปัญหาการแบ่งแยก ศาสตร์-อศาสตร์ ในสังคมศาสตร์แบบสมัยใหม่

….

กล่าวโดยสรุป การปรากฏของบทความใน ศาสตร์ อศาสตร์ เล่มนี้ เป็นการเล่นกับเปลือกโลกที่ซ้อนเหลื่อมกันของทั้งสาขาวิชา และเส้นแบ่ง ศาสตร์-อศาสตร์ ที่แยกโลกออกจากความรู้ โดยหวังว่าการก้าวข้ามเปลือกโลกจะสร้างความสั่นสะเทือนบางประการพร้อมๆ กับชี้ให้เห็นว่าโลกเคยเป็นผืนดินเดียวกันมาก่อน เส้นแบ่งต่างๆ ที่ปรากฏนี้หากจะพูดในภาษาแบบไวท์เฮ้ด ก็คงเป็นเพียง “อัตลักษณ์” ที่ปรากฏขึ้นในฐานะขณะหนึ่งและเป็นส่วนหนึ่งที่ไม่ได้แยกขาดจากกระบวนการเปลี่ยนแปลงที่ดำเนินไปอยู่ตลอด ข้าพเจ้าขอสรุปความนำนี้ด้วยถ้อยความของซิมเมล ผู้มีชีวิตอยู่โดยเหลื่อมเวลากับเดอร์ไคม์ ทาร์ด และไวท์เฮ้ด อันเป็นช่วงเวลาที่สังคมวิทยาในฐานะ ศาสตร์-อศาสตร์ สมัยใหม่ทะยานขึ้นสู่ความเป็นวิทยาการแขนงหนึ่ง

For us the essence of aesthetic observation and interpretation lies in the fact that the typical is to be found in what is unique, the law-like in what is fortuitous, the essence and significance of things in the superficial and transitory. …. To the adequately trained eye, the total beauty and total meaning of the world as a whole radiates from every single point. (Simmel 1968: 71-2)