สังคมวิทยา: ความรู้ฉบับพกพา
สังคมวิทยา: ความรู้ฉบับพกพา
Sociology: A Very Short Introduction
Steve Bruce เขียน || จันทนี เจริญศรี แปล
จัดพิมพ์โดย openworlds (2559)
การแพร่ขยายของนิกายโปรเตสแตนต์ส่งผลต่อการเติบโตของทุนนิยมอุตสาหกรรมสมัยใหม่อย่างไร?
การฆ่าตัวตายเป็นเพียงความปรารถนาส่วนตัวหรือมีพลังทางสังคมมาควบคุม?
การเลื่อนชั้นทางสังคมเป็นเรื่องของความพยายามส่วนบุคคลหรือถูกกำหนดโดยชนชั้นทางสังคม?
การดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณเท่ากันส่งผลต่อพฤติกรรมของผู้คนในแต่ละสังคมแตกต่างกันอย่างไร?
สังคมวิทยา: ความรู้ฉบับพกพา โดย สตีฟ บรูซ ศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยอาเบอร์ดีน จะช่วยตอบคำถามเหล่านี้ผ่านมุมมองเชิงสังคมวิทยา ซึ่งทำให้เราเข้าใจโลกสมัยใหม่ได้ดีขึ้นด้วยการมองโลกผ่านความเชื่อว่าความจริงเป็นสิ่งที่สังคมประกอบสร้างขึ้น (social construction) ค้นหาสาเหตุทางสังคม (social cause) อันเป็นแบบแผนที่อยู่เบื้องหลังพฤติกรรมมนุษย์ และสะท้อนให้เห็นความซับซ้อนของผลพวงอันเกิดจากอิทธิพลมากมาย รวมถึงนำพาเราไปรู้จักแนวคิดของนักสังคมวิทยาคนสำคัญ เช่น คาร์ล มาร์กซ์, มักซ์ เวเบอร์, เอมีล เดอร์ไคม์, เออร์วิง กอฟฟ์แมน และ โรเบิร์ต เมอร์ตัน
หนังสือเล่มนี้ให้อรรถาธิบายว่าสังคมวิทยา ศาสตร์ที่ได้ชื่อว่า “ราชินีแห่งศาสตร์” ซึ่งเชื่อมร้อยให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างสังคมศาสตร์ทั้งหลาย คืออะไรและมีลักษณะเฉพาะตัวอย่างไร รวมถึงถกเถียงกับคำถามสำคัญที่ว่า เราเป็นเพียงผลผลิตของเงื่อนไขทางสังคมหรือเป็นผู้กำหนดชะตาชีวิตของเราเอง
คำนำ
จันทนี เจริญศรี
คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
นอกจากมิตรสหาย นักศึกษา และเพื่อนร่วมงานทั้งหลายที่คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์แล้ว ผู้แปลขอขอบคุณสำนักพิมพ์ Openworlds ที่ให้โอกาสผู้แปลได้มีส่วนร่วมกับหนังสือชุดที่ประสบความสำเร็จที่สุดชุดหนึ่ง ณ ช่วงเวลานี้ แม้ในช่วงต้น ผู้แปลจะทำงานแปลด้วยอารมณ์อยากถกเถียงปะปนกับความฉงนฉงายอยู่บ้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับการเลือกเปิดตัวสังคมวิทยาด้วยการเน้นความเป็นวิทยาศาสตร์สังคมของผู้เขียน ความฉงนนี้มาจากประสบการณ์การเรียนรู้ศาสตร์สังคมวิทยาของผู้แปลเองที่มีครูคนแรกเป็นนักสังคมวิทยาสายการตีความ และยังถูกยํ้าต่อๆ มาในการเรียนสังคมวิทยาถึงการดำรงอยู่คู่กันของสังคมวิทยา 3 สาย (สายปฏิฐานนิยม ที่ในตัวเองก็มีหลายรูปแบบ สายการตีความ และสายวิพากษ์) กระนั้นก็ดี ประสบการณ์การแปลหนังสือเล่มนี้ก็มีค่ายิ่งที่ทำให้ผู้แปลตระหนักว่าความเป็นวิทยาศาสตร์ยังฝังรากลึกยิ่งในสังคมวิทยาเกินกว่าจะถูกถอดถอนไปได้โดยง่าย และที่เป็นเช่นนั้นส่วนหนึ่งก็เพราะพวกเราเองไม่ค่อยรู้ตัวกันว่ากำลังมี “จิตใจ” แบบปฏิฐานนิยมอยู่ แม้เมื่อกล่าวว่าตัวเองกำลังทำงานในประเพณีแบบอื่น
บทต่อๆ มาในหนังสือ ผู้เขียนได้พยายามแยกแยะสิ่งที่ผู้คนมักเข้าใจกันว่าคือสังคมวิทยาออกเพื่อให้ผู้อ่านพอเห็นเค้าโครงของความเป็นสังคมวิทยา ตลอดจนแนะนำความคิดรวบยอดสำคัญๆ ที่เป็นมุมมองอันเป็นเอกเทศของสังคมวิทยา อาทิเช่น การประกอบสร้างทางสังคม ผลพวงที่ไม่ได้มาจากเจตนา และได้อธิบายอย่างกระจ่างแจ้งโดยใช้ตัวอย่างจากสาขาที่เขารู้ดีที่สุดอย่างศาสนา พร้อมๆ กับการแนะนำแนวคิดหลักเหล่านั้นเขาก็พาเราไปรู้จักประวัติและพัฒนาการของสังคมวิทยาในบางแง่มุมพร้อมๆ กับแนะนำให้รู้จักบุคคลสำคัญอย่าง เอมิล เดอร์ไคม์ รอเบิร์ต เมอร์ตัน เออร์วิ่ง กอฟฟ์แมน ผู้เป็นเจ้าของแนวคิดอันมีส่วนประกอบสร้างความเป็นสังคมวิทยาขึ้นมา นับว่าเป็นการทำหน้าที่การเป็น “ความรู้ฉบับพกพา” ได้อย่างดียิ่ง
ในภาพรวม ไม่ว่าเราจะเห็นด้วยกับผู้เขียนหรือไม่ เขาก็เป็นผู้เขียนที่โปร่งใส กล้าหาญและเปิดเผยในการเขียนอย่างมีจุดยืนเสมอต้นเสมอปลาย ผู้แปลหวังว่าผู้ที่ได้อ่านหนังสือเล่มนี้ด้วยหวังจะทำความรู้จักกับสาขาวิชาสังคมวิทยาจะได้สนทนากับผู้เขียนเหมือนกับผู้แปล ซึ่งน่าจะทำให้ท่านสนใจจะรู้จักวิชานี้ให้มากยิ่งขึ้นไปอีก
ดูตัวอย่าง และอ่านบทที่ 1 ของหนังสือได้ ที่นี่