ทฤษฎีสังคมวิทยายุคคลาสสิก

jirapa 2556 cover spread

สารบัญ


  • บทที่ 1 ความสำคัญของบริบททางสังคม
  • บทที่ 2ความเข้าใจเบื้องต้นเกี่ยวกับ “ทฤษฎี” สังคมวิทยา
  • บทที่ 3เอมีล เดอร์ไคฮ์ม (Émile Durkheim):
    ผู้ใช้งานเขียนสร้างตันตนให้กับวิชาสังคมวิทยา
  • บทที่ 4คาร์ล มาร์กซ์ (Karl Marx):
    สังคมคือที่แสดงออกซึ่งความเป็นมนุษย์
  • บทที่ 5แมกซ์ เวเบอร์ (Max Weber):
    เหตุผลของการกระทำอธิบายพัฒนาการของสังคม
  • บทที่ 6จอร์จ ซิมเมล (Georg Simmel):
    ความเป็นอัจฉริยะของนักวิชาการนอกสังเวียน
  • บทที่ 7บทส่งท้าย

คำนำ


จากประสบการณ์ในการสอนวิชาทฤษฎีสังคมวิทยาอยู่หลายปี ทำให้ผู้เขียนได้ข้อคิดเกี่ยวกับการสอนวิชานี้อยู่หลายประการที่นำมาสู่การเขียนตำราเล่มนี้ ประการแรก เนื้อหาสาระของทฤษฎีสังคมวิทยาได้ทวีขึ้นตามเวลาที่ผ่านไป มีผลทำให้เวลาในการสอนเกี่ยวกับแนวคิดของนักทฤษฎีแต่ละคนหรือสาระสำคัญของแต่ละสำนักคิดมีจำกัดมากขึ้นเรื่อย ๆ และในอีกกรณีหนึ่งคือ ทฤษฎีสังคมวิทยาที่เกิดขึ้นมาก่อน มีแนวโน้มจะถูกตัดทิ้งไปเพื่อเปิดพื้นที่และเวลาให้กับทฤษฎีที่ใหม่กว่าและกำลังเป็นที่นิยมมากกว่าในช่วงเวลานั้น ๆ ประเด็นเหล่านี้ชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นในการมีตำราภาษาไทยอ่านประกอบนอกเวลาเรียนเพื่อให้ผู้เรียนมีทางเลือกในการศึกษาทฤษฎีที่ตนเองต้องการจะศึกษาอย่างจริงจัง ประการที่สอง ผู้เขียนมีจุดมุ่งหมายที่จะทำให้ตำราเล่มนี้อ่านได้ง่ายที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อให้นักศึกษาที่ไม่มีพื้นฐานที่เข้มแข็งในวิชาสังคมวิทยามาก่อนสามารถอ่านแล้วเข้าใจได้ง่าย ประการที่สาม ผู้เขียนและนักวิชาการคนอื่นก็คงจะมีความคิดคล้ายกันที่ว่าการลงมือเขียนด้วยตนเองจะทำให้ความรู้ของผู้เขียนมีความแตกฉานมากขึ้นซึ่งเป็นการดีต่อการเรียนการสอนโดยตรง ประการที่สี่ ผู้เขียนเลือกที่จะเขียนแนวคิดของนักทฤษฎียุคคลาสสิก เพราะแนวคิดเหล่านี้เป็นรากฐานที่สำคัญของทฤษฎีทางสังคมวิทยาต่าง ๆ ในสมัยต่อ ๆ มา ความหมายประการหนึ่งของคำว่า “ทฤษฎีคลาสสิก” คือความสามารถในการกระตุ้นความคิดและจินตนาการให้กับผู้อ่านได้ดี ซึ่งเป็นเสน่ห์ของทฤษฎีของยุคนั้น ทั้งนี้อาจจะเป็นเพราะนักคิดในยุคดังกล่าวยังไม่ได้ถูกตีกรอบด้วยขอบเขตของสาขาวิชาที่มีความเฉพาะเจาะจงมากขึ้นเรื่อย ๆ ตามความซับซ้อนของสังคม นักคิดในยุคคลาสสิกสามารถศึกษาแขนงวิชาต่าง ๆ ได้อย่างเป็นอิสระมากกว่าทำให้สามารถมองโลกได้รอบด้านและมีความคิดริเริ่มที่ไม่ซ้ำแบบใคร ประการสุดท้าย ผู้เขียนเลือกที่จะเขียนเกี่ยวกับนักทฤษฎีสี่ท่านคือ เอมีล เดอร์ไคฮ์ม, คาร์ล มาร์กซ์, แม็กซ์ เวเบอร์ และจอร์จ ซิมเมล ด้วยเหตุผลธรรมดาคือ นักคิดเหล่านี้ยังคงได้รับความนิยมมากในปัจจุบัน

จิราภา วรเสียงสุข
คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์