โบราณคดี: อดีต มนุษย์และสังคม
โบราณคดี: อดีต มนุษย์และสังคม
ดร.พจนก กาญจนจันทร
จัดพิมพ์โดย สำนักพิมพ์เคล็ดไทย (2565)
หนังสือเล่มนี้ได้รับทุนสนับสนุนการบรรณาธิกรณ์ต้นฉบับ
เพื่อการตีพิมพ์เผยแพร่สู่สาธารณะ จากกองทุนวิจัยคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ประจำปีงบประมาณ 2565
คำนิยม
จากการที่ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. พจนก กาญจนจันทร ขอให้ผมช่วยอ่านต้นฉบับ โบราณคดี : อดีต มนุษย์ และสังคม ผมก็ยินดีและรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่ง ก่อนหน้านี้อาจารย์ก็ได้แปลหนังสือของนักโบราณคดีที่มีชื่อเสียง Brian Fagan เรื่อง A Little History of Archaeology ภายใต้ชื่อ โบราณคดี: ประวัติศาสตร์การขุดค้นอดีตกาลแห่งมวลมนุษย์ พิมพ์เผยแพร่โดยสำนักพิมพ์ bookscape เมื่อปี 2018 (พ.ศ. 2561) หนังสือเล่มนั้นกล่าวถึงประวัติงานโบราณคดีและการค้นพบสำคัญๆ ส่วนหนังสือเล่มนี้ โบราณคดี: อดีต มนุษย์และสังคม มีโครงสร้างประกอบด้วยเนื้อหาสำคัญของวิชาโบราณคดีสำหรับนักศึกษาและผู้สนใจในโบราณคดีทั่วไป มีทั้งบทนิยามและความหมายของโบราณคดีซึ่งถกเถียงกันในหมู่นักโบราณคดีไม่รู้จบ ประวัติความเป็นมาของโบราณคดีทั้งในไทยและต่างประเทศ กระบวนการศึกษาและวิจัย งานเทคนิคภาคสนามว่าด้วยการสำรวจ ขุดค้นรวมทั้งการวิเคราะหลักฐานที่นำไปสู่กระบวนการวิเคราะห์หลักฐานหลากหลายประเภท นำไปสังเคราะห์ตามประเด็นศึกษา ที่อาจารย์นำเสนออย่างหลากหลายซึ่งล้วนเป็นประเด็นที่สำคัญในปัจจุบัน
สิ่งหนึ่งที่ผมเห็นว่าเป็นจุดเด่นของหนังสือเล่มนี้ คือ สองบทที่ว่าด้วยประวัติโบราณคดี เพราะหนังสือหรือตำราที่กล่าวถึงประวัติวิชาโบราณคดีส่วนมากเน้นการค้นพบหลักฐานชิ้นสำคัญหรือแหล่งที่มีชื่อเสียงและรู้จักกันโดยทั่วไป หนังสือหรือตำราที่กล่าวถึงประวัติเชิงพัฒนาการหาได้ไม่ง่ายนักเมื่อเทียบกับหนังสือที่กล่าวถึงวิธีการทำงานเทคนิคภาคสนาม แนวคิด แนวทางการวิจัย หรือประเด็นเฉพาะเรื่อง การเรียบเรียงประวัติเชิงพัฒนาการเป็นเรื่องยาก ต้องค้นและอ่านหนังสือจำนานมหาศาลเพื่อเรียงตามลำดับเวลา เน้นช่วงเวลาที่มีการเปลี่ยนแปลงและต้องเข้าใจเพดานความรู้และแนวคิดในแต่ละช่วงเวลา ที่สำคัญคือรู้ชื่อหนังสือหรือบทความแต่หาอ่านไม่ได้ เพดานความคิดและเนื้อหาประวัติโบราณคดีที่อาจารย์พจนกนำเสนอย้อนกลับไกลไปกว่า ค.ศ. 1840 ซึ่งแต่เดิมถือว่าเป็นช่วงต้นของการกำเนิดโบราณคดี ผู้เขียนประวัติโบราณคดีน้อยคนจะกล่าวถึง “โบราณวิทยา” (Antiquarian) ซึ่งผมเห็นว่าเป็นต้นตอแห่งศาสตร์ทั้งหลายที่ศึกษาอดีตของมนุษย์ ไม่เฉพาะแต่วิชาโบราณคดี ย้อนเวลากลับไปนานกว่าที่เราเคยเข้าใจ ปัจจุบันประวัติโบราณคดีแนวประวัติศาสตร์นิพนธ์โบราณคดี (Historiography of Archaeology) ได้กลายเป็นสาขาวิชาไปแล้วอย่างน้อยตั้งแต่ช่วง ค.ศ. 2000 ที่มิใช่เป็นเพียงเนื้อหาเล็กๆ ส่วนหนึ่งของรายวิชาโบราณคดีเบื้องต้นอีกต่อไป และเห็นได้ว่าตั้งแต่ ค.ศ. 2000 เป็นต้นมา ได้มีการจัดสัมมนาทางวิชาการว่าด้วยหัวข้อนี้มากมายหลายครั้ง รวมทั้งการเสวนาออนไลน์อีกนับครั้งไม่ถ้วน
ตั้งแต่บทที่ 4 ถึงบทที่ 6 เป็นส่วนที่ว่าด้วยวิธีการศึกษาทางโบราณคดี ซึ่งอาจารย์เรียบเรียงได้รวบรัดครอบคลุมด้วยภาษาที่เข้าใจได้ง่าย ในหนังสือตำราโบราณคดีทั่วไปมักเน้นเนื้อหาในส่วนงานเทคนิคและวิธีการทำงานภาคสนามอย่างมาก ซึ่งผมเชื่อว่าเป็นเรื่องน่าเบื่อและปวดหัวเป็นอย่างมากสำหรับผู้ที่ไม่ใช่นักศึกษาโบราณคดี การอ่านตำราสอนว่ายน้ำไม่อาจทำให้เราว่ายน้ำเป็นฉันใด การอ่านเทคนิคภาคสนามอย่างเดียวก็ไม่อาจบรรลุถึงเป้าหมายทางโบราณคดีได้ฉันนั้น อีกทั้งเทคนิควิธีการมีมากมายและเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา ตามวิธีคิด และเครื่องมืออุปกรณ์ที่ทันสมัยมากขึ้นทุกวัน ตรงกันข้าม ผมกลับเห็นว่าความถนัดคุ้นชินในการทำงานสนามและการเลือกใช้เครื่องมือและเทคนิควิธีการให้เหมาะตามสถานการณ์เป็นไปตามกลวิธีวิจัย (research strategy) ต่างหากที่เป็นสิ่งสำคัญ และสิ่งที่ขาดไม่ได้คือการลงมือปฏิบัติและใช้เวลาฝึกฝนสร้างประสบการณ์อย่างต่อเนื่องของแต่ละคน สิ่งที่ยังขาดอย่างมากในงานโบราณคดีไทย คือ การสอนและอบรมเรื่องการวางแผนการวิจัยหรือระเบียบวิธีวิจัย (research methodology) และการวิเคราะห์หลักฐานที่เป็นวัตถุซึ่งได้จากงานสนาม เรายังขาดทั้งการสอน ผู้สอน เครื่องมือและห้องปฏิบัติการที่เหมาะสม ตราบใดที่งานโบราณคดีไทยยังถูกผูกขาดโดยรัฐ ผ่านทางหลักสูตร เนื้อหารายวิชา และโครงการวิจัย โดยมี ทุนศึกษาวิจัย ฝึกงาน และงบประมาณ เป็นเครื่องมือสำคัญในการควบคุม
ผมเชื่อมั่นว่าผู้อ่านหนังสือ โบราณคดี : อดีต มนุษย์ และสังคม จะได้รับประโยชน์คุ้มค่าสมกับการลงทุนลงแรงของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. พจนก กาญจนจันทร
ปฐมฤกษ์ เกตุทัต
กรุงเทพ, 2565.