เฟ่ยเสี้ยวทง กับ สังคมวิทยาชนบทจีน







เป็นหนังสือที่น่าอ่านเพราะไม่ใช่หนังสือวิชาการประเภทที่เขียนให้นักวิชาด้วยกันอ่าน และไม่ใช่ตำราที่นักศึกษาอ่านแล้วไม่เข้าใจ แนวคิดทางวิชาการที่มีอยู่มากมายได้รับการอธิบายด้วยภาษาและสำนวนที่ง่ายๆ พร้อมตัวอย่างที่มีชีวิตชีวาหนังสือเล่มนี้จะกระตุ้นให้ผู้อ่านคิดคำนึงถึงสังคมไทยและการเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้น เพราะเปรียบเทียบสังคมชนบทของจีนกับสังคมตะวันตกอยู่ตลอดเวลาชี้ให้เห็นสาระสำคัญของความแตกต่าง

ม.ร.ว.อคิน รพีพัฒน์



ในวันพุธที่ 17 พฤศจิกายน 2553 คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับ โครงการจีนศึกษา สถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา สมาคมสังคมวิทยาชนบทแห่งเอเชีย และโครงการจัดพิมพ์คบไฟ จัดงานสัมมนาวิชาการ “เฟ่ยเสี้ยวทงกับชนบทจีนศึกษา” และเปิดตัวหนังสือแปล พื้นถิ่นแผ่นดินจีน: สังคมวิทยาชนบทจีน ซึ่งรองศาสตราจารย์พรชัย ตระกูลวรานนท์ แปลจากหนังสือของศาสตราจารย์เฟ่ยเสี้ยวทง นอกจากจะมีวัตถุประสงค์เพื่อแนะนำหนังสือแปล พื้นถิ่นแผ่นดินจีน: สังคมวิทยาชนบทจีน ซึ่งจัดพิมพ์โดยโครงการจัดพิมพ์คบไฟ เพื่อเผยแพร่ความเข้าใจเกี่ยวกับวิถีการดำเนินชีวิต วัฒนธรรมในแผ่นดินจีนแล้ว ยังเป็นการรำลึกถึงโอกาสครบรอบ 100 ปีชาตกาล ของศาสตราจารย์เฟ่ยเสี้ยวทง นักวิชาการด้านสังคมวิทยา-มานุษยวิทยาที่ยิ่งใหญ่ของจีนอีกด้วย

ศาสตราจารย์เฟ่ยเสี้ยวทง (Fei Xiaotong / Fei Hsiao-Tung / 费孝通) เกิดเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน ค.ศ.1910 เริ่มศึกษาเกี่ยวกับสังคมวิทยาตั้งแต่ระดับปริญญาตรี ก่อนจะเข้าศึกษาต่อระดับปริญญาโทสาขาสังคมวิทยาที่มหาวิทยาลัยซิงหัว ต่อมาได้เดินทางไปศึกษากับโบรนิสลาฟ มาลินอฟสกี้ (Bronislaw Malinowski) ที่ London School of Economics (LSE) ระหว่าง ค.ศ. 1936-38 อันเป็นช่วงเวลาที่สำนักคิดโครงสร้าง-การหน้าที่มีอิทธิพลอย่างสูงต่อสาขามานุษยวิทยาสังคมในอังกฤษ เมื่อจบการศึกษาระดับปริญญาเอก เขาได้ตีพิมพ์หนังสือ Peasant Life in China (1939 แปลเป็นภาษาจีนในค.ศ.1986) หนังสืออีกเล่มที่ทำให้ชื่อของศาสตราจารย์เฟ่ยเป็นที่รู้จักในแวดวงจีนศึกษาระดับนานาชาติคือ China’s Gentry (1953) ซึ่งรวบรวมจากบทสัมภาษณ์ในภาคสนามของศาสตราจารย์เฟ่ย และได้รับความสนับสนุนในการจัดทำจากโรเบิร์ต เรดฟีลด์ (Robert Redfield) นักมานุษยวิทยาจากมหาวิทยาลัยชิคาโก

ความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและโดยเฉพาะการสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีนในค.ศ.1949 ส่งผลต่อชีวิตของศาสตราจารย์เฟ่ยอย่างรุนแรง แม้ว่าศาสตราจารย์เฟ่ยจะได้รับตำแหน่งทางการเมืองในช่วงปีแรกๆ ของการสถาปนาประเทศ แต่เพียงไม่นานเขาต้องเผชิญกับการโจมตีของขบวนการต่อต้านอนุรักษ์นิยม เมื่อสังคมวิทยากลายเป็นวิชาต้องห้าม และถูกแทนที่ด้วยเศรษฐศาสตร์การเมือง เขาถูกประณามและคุกคามอย่างรุนแรงในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม ศาสตราจารย์เฟ่ยได้กลับมามีบทบาทฟื้นฟูและส่งเสริมสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาในสาธารณรัฐประชาชนจีนภายหลังจากการเสียชีวิตของเหมาเจ๋อตุง มีการตีพิมพ์ผลงานใหม่ๆ มากมายในช่วงทศวรรษ 1980-1990

ผลงานของศาสตราจารย์เฟ่ยเป็นที่ยอมรับทั้งในประเทศจีนและในระดับนานาชาติ มีงานศึกษาวิจัยที่น่าสนใจเกี่ยวกับกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศจีน เศรษฐกิจ ชนบท การพัฒนาทางสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งแนวคิดเกี่ยวกับการพัฒนาอุตสาหกรรมในชนบท (rural industrialisation) ซึ่งเชื่อกันว่ามีอิทธิพลต่อนโยบายพัฒนาชนบทในจีนช่วงทศวรรษ​ 1980 นอกจากนี้ ศาสตราจารย์เฟ่ยยังได้รับรางวัลสำคัญระดับนานาชาติ ซึ่งรวมถึง Bronislaw Malinowski Award ของ The Society for Applied Anthropology ในค.ศ.1980, Huxley Memorial Medal and Lecture ของสถาบันมานุษยวิทยาในพระบรมราชูปถัมภ์แห่งสหราชอาณาจักรและไอร์แลนด์ (RAI) ประจำปี 1981, Fukuoka Asian Culture Prizes ในปี 1993, และรางวัลแมกไซไซ สาขาผู้นำชุมชนในปี 1994

ในช่วงบั้นปลายของชีวิต ศาสตราจารย์เฟ่ยเสี้ยวทงดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ทางสังคมวิทยาประจำมหาวิทยาลัยปักกิ่ง ท่านเสียชีวิตเมื่อวันที่ 24 เมษายน ค.ศ.2005

ในวันที่ 5 ธันวาคมที่จะถึงนี้ LSE (สถาบันที่ศาสตราจารย์เฟ่ยจบการศึกษาระดับปริญญาเอกทางมานุษยวิทยา) จะจัดงานสัมมนาระดับนานาชาติหัวข้อ “Understanding China and Engaging with Chinese People” เพื่อรำลึกวาระครบรอบหนึ่งร้อยปีชาตกาลของศาสตราจารย์เฟ่ยเสี้ยวทง ผู้สนใจสามารถติดตามรับฟังรับชม podcast ทางเว็บไซต์ของ LSE ได้หลังจากวันงาน

หนังสือ พื้นถิ่นแผ่นดินจีน: สังคมวิทยาชนบทจีน เป็นภาคภาษาไทยของ 乡土中国 (Rural China) ซึ่งตีพิมพ์ครั้งแรกเป็นภาษาจีนในค.ศ.1948 ก่อนจะได้รับการแปลเป็นภาษาอังกฤษ และตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์แห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียภายใต้ชื่อ From the Soil: The Foundations of Chinese Society (1982) กล่าวถึงกรอบคิดของการแบ่ง “ขั้วความแตกต่าง” ระหว่างเมืองกับชนบท ความแตกต่างระหว่างตะวันออกกับตะวันตก ตลอดจนการใช้มาตรฐานความเป็นประชาธิปไตยและไม่เป็นประชาธิปไตยมาพิจารณาสังคมจีน การให้ความสำคัญเกี่ยวกับ “ดิน” ซึ่งช่วยให้ภาพของชีวิตและการจัดระเบียบทางสังคมชนบทจีนมีความชัดเจน สะท้อนวิธีคิดแบบชาวนา และความคิดแบบ “แบ่งขั้วเป็นสองขั้ว” ตลอดจนวิถีชีวิตที่เคยบ่มเพาะอยู่ในสังคมชนบทถูกเปลี่ยนแปรไป ผู้คนสมัยใหม่ปฏิเสธทุกอย่างที่เป็นชนบท หนังสือเล่มนี้จึงไม่เพียงแต่ทำให้เข้าใจเกี่ยวกับสังคมชนบทจีน แต่การเข้าใจผู้อื่นจะช่วยให้เกิดความเข้าใจในพื้นแผ่นดินจีนมากขึ้น




ศาสตราจารย์เฟ่ยเสี้ยวทงกับ Maurice Bloch ที่แผนกมานุษยวิทยา LSE ภาพเมื่อปี 1986


ข้อมูลจาก

http://en.wikipedia.org/wiki/Fei_Xiaotong
http://www.guardian.co.uk/news/2005/may/05/guardianobituaries.obituaries1
http://www.oknation.net/blog/kobfai/2010/11/03/entry-2