หนูนิ้วโป้ง: วัฒนธรรมและเทคโนโลยีของมนุษย์มิลเลนเนียล
หนูนิ้วโป้ง:
วัฒนธรรมและเทคโนโลยีของมนุษย์มิลเลนเนียล
สายพิณ ศุพุทธมงคล (แปล)
รูปเล่ม: เด็ดเดี่ยว เหล่าสินชัย
ออกแบบปก: Wonderwhale
จัดพิมพ์โดย
สำนักพิมพ์พารากราฟ ร่วมกับ
คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ราคา 180 บาท
สั่งซื้อได้ที่เพจ paragraph publishing
แปลจาก
Petite Poucette (พากย์ฝรั่งเศส)
Thumbelina: The Culture and Technology of Millennials (พากย์อังกฤษ)
โดย Michel Serres
บรรณาธิการแปลภาษาฝรั่งเศส: รติพร ชัยปิยะพร
คุณเคยรู้ไหมว่า ฝรั่งเศสตีพิมพ์พจนานุกรมปรับปรุงใหม่ทุกๆ 20 ปี ในศตวรรษก่อน จำนวนคำระหว่างพจนานุกรมที่ยังไม่ได้ปรับปรุง กับฉบับที่ปรับปรุงต่อมาอยู่ที่ 4–5,000 คำ แต่ในคริสต์ศตวรรษที่ 21 นี้ จำนวนคำจะต่างกันมากกว่าเดิมถึง 7 เท่าหรือประมาณ 35,000 คำ?
คุณเคยรู้ไหมว่า คนเราเรียกยุคของประวัติศาสตร์ตามชื่อเครื่องมือ เช่น ‘ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม ยุคสัมฤทธิ์ และยุคเหล็ก ยุคหินตัด และยุคหินขัด’ ซึ่งหมายความว่า เราให้ความสนใจกับสิ่งที่แข็งและจับต้องได้ (อย่างเครื่องจักรกล) มากกว่าสิ่งที่อ่อนนุ่ม (อย่างสัญญะ) มากนัก?
คุณเคยรู้ไหมว่า วิชาความรู้แตกกระจายเป็นส่วนๆ เช่นเมื่อแม่น้ำกลายเป็นสิ่งที่ถูกศึกษา ก็ปรากฏตัวอยู่ในศาสตร์และศิลป์มากหลายสาขา (คุณลองนับดูเองจากบท ‘นักเรียนรุ่นสาม’ ว่าแตกเป็นกี่สาย 6? หรือ 10? หรือ 14?) เป็นไปได้หรือไม่ว่า เมื่อคนรุ่นใหม่เข้าถึงความรู้ได้ง่าย “การรวบรวมเอาเสี้ยวส่วนเหล่านี้มาผสานเป็นหนึ่งเดียว คืนแขนงที่แยกแตกกับกระแสน้ำ (จะ)ทำให้เราได้อยู่กับแม่น้ำทั้งสายในที่สุด”?
เรื่องเหล่านี้บางเรื่องผมก็ไม่รู้มาก่อน (เช่น จำนวนคำในพจนานุกรมฝรั่งเศสที่เปลี่ยนไปจากเดิมมาก) บางเรื่องก็รู้แต่คิดว่า ‘หนูนิ้วโป้ง’ ของ มิแช็ล แซรส์ อธิบายได้กระชับจับใจกว่า (เช่นผลของการเรียกยุคประวัติศาสตร์ตามชื่อเครื่องมือ)
ผมมีรายชื่อคนที่คิดว่า ควรต้องอ่าน หนูนิ้วโป้ง ในหัวอยู่เป็นทิวแถว เช่น ‘ลุงตู่ พี่แม้ว ป๋า ป. ปู่ ม. ท่าน ว. ครูบาอาจารย์ นักการศึกษา ผู้บริหารโรงเรียนและมหาวิทยาลัย ข้าราชการผู้วางแผนของชาติ คนที่กำลังจะลงเลือกตั้ง ตลอดจนศาสนาจารย์ศาสนาต่างๆ อีกทั่วประเทศ’
ทำไมหรือ?
ก็เพราะ หนูนิ้วโป้ง เขียนโดยนักปรัชญาอายุกว่าแปดสิบ แต่เขียนหนังสือเพื่อชูธงสนับสนุนคนหนุ่มคนสาวรุ่นใหม่ที่โตมากับโลกอีกชนิดหนึ่ง ว่ายเวียนอยู่ในสายน้ำประชาธิปไตยแห่งความรู้ที่แผ่ระลอกคลื่นซัดขยายรวดเร็วกว้างขวางอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน และที่สำคัญแตกต่างจากคนรุ่นผู้ใหญ่เสียเหลือเกิน
และดูเหมือนว่าผู้ใหญ่เหล่านี้ อย่างน้อยก็ในสังคมของเรากำลังถืออำนาจไปกำหนดกฎเกณฑ์อนาคตของพวกเขาว่าต้องเป็นเช่นนั้นเช่นนี้ โดยบ่อยครั้งไม่เคยเข้าใจเลยว่า
พวกเขาไม่ได้อยู่บนเส้นเวลาเดียวกับผู้ใหญ่
พวกเขาไม่ได้พูดภาษาเดียวกับเรา
ชัยวัฒน์ สถาอานันท์
บางส่วนจากคำนำ