วิธีวิทยารื้อสร้างอัตลักษณ์


ปก: ภาพพจน์​ รัตนกุล


บทบรรณาธิการ
วิธีวิทยารื้อสร้างอัตลักษณ์:
ทัศนียภาพทางภูมิปัญญาของยุกติและสหาย

สุดแดน วิสุทธิลักษณ์

วิธีวิทยารื้อสร้างอัตลักษณ์:
บทสังเคราะห์การศึกษาทัศนภาพตัวแทน
“ล้านนา” และ “ชาวยอง”

ยุกติ มุกดาวิจิตร

การก่อร่าง (ภาพ) ความเป็นไทย ในศิลปะไทยสมัยใหม่
กษมาพร แสงสุระธรรม

“คนยอง” เมืองหละปูน
กับการประกอบสร้างอัตลักษณ์ “ความเป็นยอง”

อภินันท์ ธรรมเสนา

หนังสือในโครงการ

ตัวตนคนยองกับท้องถิ่นล้านนา:
สื่อกับการเมืองอัตลักษณ์ในยุคโลกาภิวัตน์

คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

โดยความสนับสนุนจาก โครงการทุนวิจัยมหาบัณฑิต สกว. ด้านมนุษยศาสตร์-สังคมศาสตร์
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)


บทบรรณาธิการ
วิธีวิทยารื้อสร้างอัตลักษณ์: ทัศนียภาพทางภูมิปัญญาของยุกติและสหาย
สุดแดน วิสุทธิลักษณ์

กล่าวได้ว่า หนังสือเล่มนี้เป็นผลผลิตของปฏิบัติการต่อเนื่องจากความสนใจในเรื่อง “การเขียนวัฒนธรรม” ของยุกติ มุกดาวิจิตร หลังจากข้อเสนอของเขาใน อ่าน “วัฒนธรรมชุมชน”: วาทศิลป์และการเมืองของชาติพันธุ์นิพนธ์แนววัฒนธรรมชุมชน (2548) นอกจากจะได้เสนอคำ “ชาติพันธุ์นิพนธ์” เข้าแทนที่ “ชาติพันธุ์วรรณา” (ethnography) อย่างที่นักมานุษยวิทยาไทยใช้กันมานานหลายทศวรรษ เพื่อชี้ให้เห็นว่า ในบรรดางานเขียนถึงกลุ่มผู้คนอื่นๆ ต่างวัฒนธรรมที่ดูเสมือนตรงไปตรงมานั้น แท้จริงแล้วแฝงฝังซึมซ่านไปด้วย “การเมือง” และโวหารแห่งวรรณศิลป์ ไม่แตกต่างไปจาก “ประวัติศาสตร์นิพนธ์” ที่นักประวัติศาสตร์ชั้นนำได้ชี้ให้เห็นในทำนองเดียวกันว่า การเขียนประวัติศาสตร์ ก็มี “การเมืองของการเขียน” และ “การชำระประวัติศาสตร์” ก็มักจะทำให้ประวัติศาสตร์ “สะอาด” ขึ้นตามความประสงค์ของผู้ชำระ ในหนังสือเล่มดังกล่าวนี้ ยังได้เสนอให้เห็นถึงความสัมพันธ์เชิงอำนาจของผู้เขียนและผู้ที่ถูกเขียนถึง ทั้งยังชี้ให้ชุมชนวิชาการไทยได้ตระหนัก “ข้อจำกัดของคติทางญาณวิทยาแบบ ‘ถือมั่นในภาพแทนความจริง’ (representationism) อันเป็นปรัชญาความรู้ที่ครอบงำการศึกษาทางชาติพันธุ์วิทยากระแสหลัก”

หลังจากที่ได้พยายาม “รื้อให้ร้าง” งานเขียนทางมานุษยวิทยาเพื่อให้ข้ามพ้นจากการค้นหา “ข้อเท็จจริงทางวัฒนธรรม” ปฏิบัติการต่อมาของยุกติก็คือการ “สร้างใหม่” ด้วยข้อเสนอ “วิธีวิทยารื้อสร้างอัตลักษณ์” จากการสังเคราะห์งานที่มาจากวิทยานิพนธ์สองเล่มของนักศึกษาในที่ปรึกษาจากคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ซึ่งปัจจุบัน ทัั้งสองคนมีสถานะเป็นอาจารย์จึงถือได้ว่าเป็นเพื่อนร่วมวงวิชาการด้วยในอีกทางหนึ่ง) คือ กษมาพร แสงสุระธรรม การสร้างและต่อรองความหมายของ “ความเป็นล้านนา” ในงานจิตรกรรมไทยร่วมสมัย (2553) และ อภินันท์ ธรรมเสนา การประกอบสร้างอัตลักษณ์ชาติพันธ์ุของกลุ่มคนยองในจังหวัดลำพูน (2553)

ข้อเสนอ “วิธีวิทยารื้อสร้างอัตลักษณ์” (methodology of identity deconstruction) ให้ความสนใจใน การศึกษา พิเคราะห์ กระบวนการของการสร้างภาพตัวแทนอัตลักษณ์ ซึ่งเชื่อว่า นอกจากจะช่วยให้เข้าใจ การก่อร่างสร้างภาพตัวแทนแล้ว ยังจะช่วยให่้เข้าใจกระบวนการทางสังคมหรือความสัมพันธ์อันสลับซับซ้อนระหว่างกลุ่มที่มีส่วนสร้าง/ต่อรองการนำเสนอภาพตัวแทนอัตลักษณ์ของตน

ข้อเสนอดังกล่าวนี้ อาจเป็นภูมิทัศน์แปลกตาในวงวิชาการไทย แต่ก็ต้องถือว่าเป็นทัศนียภาพทางภูมิปัญญาที่ท้าทายให้เพ่งพินิจ

การต่อสู้ดิ้นรนของภาพตัวแทน “ยอง” และ “ความเป็นไทย”

งาน “คนยอง” เมืองหละปูน: พัฒนาการของการประกอบสร้างอัตลักษณ์ “ความเป็นยอง” ของกลุ่มคนยองในจังหวัดลำพูน ของ อภินันท์ ธรรมเสนา และ การก่อร่าง(ภาพ) “ความเป็นไทย” ในศิลปะสมัยใหม่ ของ กษมาพร แสงสุระธรรม แสดงให้เห็นว่า ทั้ง “ความเป็นยอง” และ “ความเป็นไทย” ปรับเปลี่ยนความหมายผ่านบริบทของความสัมพันธ์ทางอำนาจของกลุ่มต่างๆ มาตลอดระยะเวลาของช่วงที่ทำการศึกษา

ในกรณีของกลุ่มคนยอง มีตัวการขับเคลื่อนสำคัญในการประกอบสร้าง นิยามความหมาย “ความเป็นยอง” คือกลุ่มวงวิชาการ, ชุมชนท้องถิ่น และภาครัฐ “ความเป็นยอง” ไม่อาจได้รับการผูกขาดความหมายจากคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งโดยสิ้นเชิง หากผันแปรไปตาม “กลุ่มผลประโยชน์” ที่เข้ามาช่วงชิง ให้ความหมาย “ความเป็นยอง” ในขณะที่วงวิชาการยึดโยง “ความเป็นยอง” เข้ากับความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ (ตำนานเมืองยอง) และข้ามพรมแดน (เมืองยองในสหภาพพม่า) ชุมชนยองแห่งลำพูน ซึ่งเดิมที เคยปกปิดซ่อนเร้น “ความเป็นยอง” เอาไว้ ได้พลิกกลับ หันมารื้อฟื้นยืนยันความเป็นอัตลักษณ์ของตนเองขึ้นมาใหม่ ผ่านงานประเพณีสลากย้อม เพื่อแสดงตนให้ประจักษ์ว่ามีความแตกต่างไปจากคนลื้อและคนเมืองของเชียงใหม่

ในทำนองเดียวกัน ภาครัฐ (หน่วยงานราชการจังหวัดลำพูน) ก็ฉวยใช้อัตลักษณ์เช่นว่านี้ (จัดประกวดธิดายอง,งานสืบสานตำนานยองลำพูน-ยองโลก) เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาเศรษฐกิจจากกระแสของการท่องเที่ยวที่เน้นสร้างความแตกต่างไปจากจังหวัดเชียงใหม่ซึ่งนับวันความสะดวกสบายของการคมนาคม แทบจะผนวกรวมลำพูนให้กลายเป็นจังหวัดเดียวกัน

ความน่าสนใจอีกประการหนึ่งก็คือ แม้ในกลุ่มชุมชนยองในท้องถิ่นเดียวกันเอง ภาพอัตลักษณ์ของ “ความเป็นยอง” ยังได้รับการนำเสนอแตกต่างกันไป ในขณะที่กลุ่ม “คนเฒ่า” ยืนยันความเป็นยองว่ามีความดั้งเดิมแตกต่างไปจากล้านนาแบบเชียงใหม่และพยายามอย่างยิ่งยวดที่จะแสดงความแตกต่างนั้นในกิจกรรมทางวัฒนธรรมของชุมชน แต่ในกลุ่มเยาวชนเองกลับรู้สึกว่า “ความเป็นยอง” กับ “ความเป็นท้องถิ่น” นั้นแทนที่กันได้ภายใต้ การเป็นส่วนหนึ่งของ “ความเป็นล้านนา” ความหมายและภาพอัตลักษณ์ของ “คนยอง” สำหรับเยาวชนจึงมีนิยามที่ยืดหยุ่นกว่า คนยองเป็นส่วนหนึ่งของท้องถิ่นล้านนา ของชาติไทยและของโลกสมัยใหม่

กรณีของภาพตัวแทน “ความเป็นไทย” ในศิลปะไทยสมัยใหม่ ก็ได้แสดงให้เห็นว่า “ความเป็นไทย” ในงานศิลปะร่วมสมัยมิได้มีเพียงหนึ่งเดียว หากมีความแตกต่างกันออกไป ตามแต่ความนิยมและนิยามของแต่ละยุค

“ความเป็นไทย” เริ่มมาจากการเอาอย่างศิลปะตะวันตก เพื่อจะได้เป็นไทยที่มีอารยะ (ศิวิไลซ์) , การผสานความเป็นตะวันตก ก็เพื่อที่จะได้เป็น “ศิลปะไทยสมัยใหม่”, การเน้นภาพลักษณ์ที่เป็นผลมาจากการท่องเที่ยว วิถีชีวิตชนบท (แนวตลาดน้ำ) และพุทธศิลป์นั้นก็เพื่อเป็น “ศิลปะแบบไทยประเพณี” จนมาถึงการผนวกรวมเอาอัตลักษณ์ของท้องถิ่นและการควานหา “ความเป็นไทยๆ-vernacular thai (ซึ่งไม่เคยถูกจัดรวมให้อยู่ในศิลปะของรัฐชาติ) มาเป็นส่วนสำคัญในการสร้างสรรค์ “ศิลปะไทย” ก่อนที่จะหันกลับไปเน้นย้ำเชิดชูชื่นชม ชาติ-ศาสนา-พระมหากษัตริย์และท้องถิ่น เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของ “ความเป็นไทย” ที่น่าภาคภูมิใจ

ภาพตัวแทนของ “ความเป็นยอง” และ “ความเป็นไทย” จึงมิได้มีหนึ่งเดียวนิรันดร หากพยายามดิ้นรนต่อสู้หรือบางคราวก็ย้อนแย้งไปตามสถานการณ์เพื่อสยบยอมหรือตอบโต้กับอำนาจของการสถาปนานิยามในช่วงเวลาหนึ่งๆ การใช้วิธีวิทยารื้อสร้างอัตลักษณ์จึงช่วยให้มองเห็นการเมืองของอัตลักษณ์ เผยแสดงผู้ครองอำนาจ ผู้ต้านอำนาจ รวมถึงกระบวนการฉวยใช้ ครอบงำ ผนวกรวม ขณะเดียวกันก็ได้ชี้ให้เห็นถึงหน่ออ่อนของกระบวนการขัดขืน ต่อต้าน ตอบโต้ หรือความพยายามเปลี่ยนแปลง

อย่างไรก็ตาม งานทั้งสองชิ้น แม้จะช่วยส่องสว่างให้เห็นกลไกอันสลับซับซ้อนของการสถาปนาอัตลักษณ์และกระบวนการเลื่อนไหลของภาพตัวแทนหนึ่งๆก็ตามที ขณะเดียวกันก็แสดงให้เห็นด้วยเช่นกันว่าบทบาทของความคิดเรื่องชาติ(ไทย) ศาสนา (พุทธ) และพระมหากษัตริย์ที่ซึมซ่านแฝงฝังอยู่ในภายในระบบการศึกษาและรัฐราชการไทยนั้นทรงอิทธิพลมากเพียงใด และด้วยเหตุนี้ เยาวชนชาวยองจึงไม่ได้รู้สึกขัดแย้ง แต่กลับรู้สึกภาคภูมิใจกับการที่ “ความเป็นยอง” จะเป็นส่วนหนึ่งของความเป็นท้องถิ่นของล้านนาและรัฐไทย ส่วนภาคราชการของจังหวัดลำพูน ก็ผนวกรวมเอา “ความเป็นยอง” ว่าเป็นส่วนหนึ่งของพลเมืองไทยภายใต้ระบบเศรษฐกิจพอเพียงได้อย่างน่าทึ่ง

ในด้านของ “ศิลปะไทยสมัยใหม่” ความเป็นกษัตริย์-เกษตรและชนบทอันพอเพียงก็หลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกันภายใต้ภาพ ”ความเป็นไทย” ได้อย่างน่าประหลาด งานทั้งสองชิ้นแสดงนัยให้เห็นถึงพลังความคิดและอำนาจบางอย่างที่ยังคงมีศักยภาพสูงพร้อมที่จะผนวกรวม ดูดกลืนกระแสของการต่อสู้ดิ้นรนที่หวังจะเป็นอิสระในการนิยามภาพลักษณ์อย่างใหม่ของตนเอง

การศึกษากระบวนการของการสร้างภาพตัวแทนอัตลักษณ์ ยังคงเป็นปรากฏการณ์ร่วมสมัยอันทรงเสน่ห์สำหรับการพินิจพิจารณา วิเคราะห์ วิจัย และวิจารณ์ การพยายามค้นหาภาพตัวแทนอัตลักษณ์มิใช่เป็นเรื่องพ้นสมัย หากตระหนักว่า ภาพตัวแทนของอัตลักษณ์นั้นมีอยู่จริงแต่ว่ามิได้มีอยู่หนึ่งเดียวหากเคลื่อนไหวแปรเปลี่ยนไปตามบริบทของการต่อสู้เชิงอำนาจ ส่วนวิธีวิทยารื้อสร้างอัตลักษณ์ก็เป็นเสมือนกรอบการมองหรือเครื่องมือสำหรับผู้สนใจนำเอาไปทดลองใช้

ทัศนียภาพภูมิปัญญาว่าด้วยวิธีวิทยารื้อสร้างอัตลักษณ์ จึงเป็นภูมิทัศน์ที่ทั้งน่าตื่นเต้นและน่ารื่นรมย์แก่การเฝ้ามอง เมื่อได้ลองหันไปสำรวจรอบๆตัวด้วยดวงตาที่เปิดกว้าง ผู้อ่านคงตระหนักได้ว่าภาระกิจและการงานของยุกติและสหายยังคงอยู่ไปอีกยาวนานและไม่มีวันยุติได้โดยง่าย


Download (PDF, 2.04MB)


Creative Commons License
วิธีวิทยารื้อสร้างอัตลักษณ์ by คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivs 3.0 Unported License.