รักสมัยใหม่ : สังคมวิทยาความรัก | Modern Love : Sociology of Love




รักสมัยใหม่ : สังคมวิทยาความรัก
Modern Love : Sociology of Love
วิลาสินี พนานครทรัพย์
จัดพิมพ์โดย โครงการจัดพิมพ์คบไฟ (2567)

ความรักของนักสังคมวิทยา

ส่วนหนึ่งจาก รักสมัยใหม่: สังคมวิทยาความรัก
โดย วิลาสินี พนานครทรัพย์


หากมองย้อนกลับไปในช่วงก่อนคริสต์ศักราช 1970 การศึกษาประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความรักในทางสังคมวิทยามีอยู่น้อยมาก ส่วนหนึ่งเนื่องมาจากการศึกษาของสังคมวิทยาในยุคแรกเริ่ม เป็นความพยายามทำให้เห็นความเป็นศาสตร์เฉพาะทางของตน โดยเฉพาะการแยกสังคมวิทยาจากจิตวิทยาอย่างชัดเจนโดยการใช้ระดับของการวิเคราะห์ที่แตกต่างกัน เพราะความรักของผู้คนในสังคมมักถูกมองในฐานะอารมณ์ความรู้สึกของปัจเจกบุคคล ดังนั้นจึงมักถูกอธิบายภายใต้มุมมองทางจิตวิทยาผ่านกลไกการทำงานของจิต หรือกระบวนการทางอารมณ์ที่ปัจเจกบุคคลต้องเผชิญเมื่ออยู่ในห้วงอารมณ์แห่งความรัก อาทิ ความใกล้ชิดผูกพันระหว่างบุคคลที่นำไปสู่ความรู้สึกรัก ความรู้สึกตื้นเต้น อิ่มเอม เมื่ออยู่ในห้วงของความรัก หรือแม้แต่การตกอยู่ในภาวะโศกเศร้าเมื่อต้องสูญเสียความรักหรือคนรัก กล่าวคือ มักมุ่งวิเคราะห์สถานการณ์ทางอารมณ์ที่เกิดขึ้นในระดับปัจเจกบุคคล เนื่องจากมองว่าความรักเป็นเรื่องของอารมณ์และประสบการณ์ส่วนบุคคล ที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ ไม่เกี่ยวข้องกับสังคมหรือมีกฎเกณฑ์ที่แน่นอนตายตัวชัดเจน

ด้วยเหตุนี้ งานของนักสังคมวิทยายุคคลาสสิกจึงแทบจะไม่มีงานใดที่ให้ความสำคัญกับประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความรักอย่างชัดเจน มีเพียงการอธิบายความรักที่แทรกตัวอยู่ในการศึกษาบางชิ้น อาทิ ใน Suicide (1897) เดอไคฮ์มชี้ให้เห็นความแตกต่างระหว่าง “ความรักของคนในครอบครัว” (family love) กับ “ความรักแบบพิศวาส” (passionate love) ว่าเป็นคู่ตรงข้ามของหน้าที่กับความหลงใหล ในทัศนะของเดอไคฮ์ม ความรักของคนครอบครัวสะท้อนศีลธรรมทางสังคมและยังจำเป็นต่อการดำรงอยู่ของครอบครัว ในทางตรงกันข้าม เขานิยามความรักแบบพิศวาสว่าเป็นความรู้สึกส่วนบุคคลที่เป็นอิสระ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับหน้าที่และศีลธรรมของสังคมแต่อย่างใด ดังนั้น

จึงอาจกล่าวได้ว่า สำหรับเดอไคฮ์ม ความรัก หากไม่ถูกมองว่าเป็นเรื่องส่วนตัวที่ไม่มีกฎเกณฑ์ใด ๆ ก็จะกลายเป็นการยกย่องให้สูงส่ง สะท้อนถึงศีลธรรมสำคัญของสังคม อย่างไรก็ดี ความตรงข้ามที่สุดโต่งของความรักสองรูปแบบนี้ก็ยังคงอยู่บนฐานคิดที่ว่า ความรักเป็นเรื่องของปัจเจกบุคคล ต่างกันเพียงแค่ว่าขั้วหนึ่งเป็นสภาวะที่น่ารังเกียจและอาจสั่นคลอนความมั่นคงของสังคม ในขณะที่อีกขั้วหนึ่ง น่ายกย่องเชิดชูและสร้างความเข้มแข็งให้สังคม

หรือแม็กซ์ เวบอร์ ใน The Theory of Social and Economic Organization (1948) ก็ไม่ได้ให้ความสนใจกับความรักโดยตรง แต่ผูกโยงความรักเข้ากับสังคมในฐานะของผลผลิต (product) และปฏิกิริยาตอบโต้ของผู้คนที่มีต่อสภาวะการบริหารจัดการอย่างเป็นเหตุเป็นผล (rationalization) ของระบบบริหารแบบราชการ เวเบอร์มองว่าความรักเป็นหนึ่งในวิธีการที่ปัจเจกบุคคลใช้ค้นหาทางรอด และ/หรือทางออกจากกรงเหล็กของสังคมสมัยใหม่ ซึ่งนั้นอาจหมายความว่า ความรัก คือการยืนยันสภาวะการปฏิบัติที่ไม่มีเหตุผลของปัจเจกบุคคล ที่อยู่ในฐานะคู่ตรงข้ามของความมีเหตุมีผลของระบบบริหารแบบราชการ

การศึกษาความรักเริ่มปรากฏให้เห็นมากขึ้นในงานของนักสังคมวิทยาสมัยใหม่ในยุคแรกเริ่ม แง่มุมที่ได้รับความสนใจเป็นการศึกษาความรักเพื่อทำความเข้าใจสถาบันครอบครัวและการแต่งงาน อาทิ The American Family: Its Relations to Personality and to the Social Structure (1955) ของทัลคอตต์ พาร์สันส ที่กล่าวถึงการเกิดขึ้นของครอบครัวเดี่ยวในสังคมสมัยใหม่ เขามองครอบครัวในฐานะหน่วยทางสังคมที่สอดคล้องและยืดหยุ่นไปกับระบบการผลิตในสังคมอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นผลให้ระบบครอบครัวต้องแยกออกมาจากเครือข่ายของความเป็นเครือญาติ (kinship network) โครงสร้างของสังคมสมัยใหม่จึงจำเป็นต้องสร้างกลไกขึ้นมาควบคุมระบบครอบครัวเดี่ยว (nuclear family) โดยใช้อุดมการณ์ของความรักเพื่อการคงอยู่ของความสัมพันธ์ของสามีภรรยาในครอบครัวเดี่ยวแทนการควบคุมโดยระบบเครือญาติ งานของพาร์สันสจึงเป็นการอธิบายความรักของหญิงชายบนฐานของการธำรงครอบครัว มีบทบาทและเป็นกลไกควบคุมสามีภรรยาให้มีรักเดียวใจเดียว ซื่อสัตย์ และมั่นคงต่อกันเพื่อให้ระบบของครอบครัวเดี่ยวดำรงอยู่ได้ในสังคมสมัยใหม่

ดังนั้น จึงอาจกล่าวได้ว่า ความพยายามในการแยกความแตกต่างระหว่างสังคมวิทยาและจิตวิทยาโดยใช้ระดับของการวิเคราะห์ที่แตกต่างกัน ทำให้ความรักโดยตัวมันเอง แทบจะไม่ได้ถูกมองว่าเป็นประเด็นสำคัญในการศึกษาของสังคมวิทยาในยุคแรก หากมีการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับความรัก ส่วนใหญ่ก็จะมุ่งอธิบายความรักในฐานะองค์ประกอบหนึ่งของสถาบันครอบครัวและการแต่งงาน และมองความรักในเชิงจิตวิทยาที่มุ่งไปที่ความพึงพอใจส่วนบุคคล เป็นจุดเริ่มต้นที่นำไปสู่การแต่งงานและการสร้างครอบครัวของคู่รักชายหญิงเท่านั้น

แต่หลังคริสต์ทศวรรษ 1970 เป็นต้นมา เมื่อเส้นแบ่งศาสตร์ต่าง ๆ เริ่มซีดจางลง การแยกขั้วตรงข้ามของศาสตร์ระหว่างสังคมวิทยาและจิตวิทยาเริ่มถูกท้าทาย (ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี, 2554) รวมถึงการตั้งคำถามของนักสตรีนิยมที่เรื่องเส้นแบ่งระหว่าง “เหตุผล” และ “อารมณ์” และเสนอว่าความเป็นมนุษย์นั้นมีความซับซ้อน ประกอบไปด้วยทั้งการใช้เหตุผลและอารมณ์ความรู้สึก ที่ยากจะแยกออกจากกันอย่างเด็ดขาดชัดเจน นักสตรีนิยมยังเสนอให้เชื่อมโยงประสบการณ์ส่วนบุคคลเข้ากับโครงสร้างทางอำนาจและการเมือง ภายใต้สโลแกนการเคลื่อนไหวที่ว่า “เรื่องส่วนตัวคือเรื่องการเมือง” (the personal is political) ส่งผลให้นักสังคมวิทยาบางคนเริ่มหันมาสนใจศึกษาอารมณ์ความรู้สึกของผู้คนในสังคมมากขึ้น พยายามสะท้อนให้เห็นมุมมองใหม่ในการอธิบายอารมณ์ความรู้สึกของผู้คนที่ไม่ใช่เป็นเพียงเรื่องของปัจเจกเท่านั้น แต่ยังสะท้อนให้เห็นความเป็นไปและการเปลี่ยนแปลงของสังคม (ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์, 2550) นักสังคมวิทยายังเสนอด้วยว่าการทำความเข้าใจอารมณ์ความรู้สึกของผู้คนไม่สามารถแยกออกจากความสัมพันธ์ทางสังคมที่แทรกซึมอยู่ในชีวิตประจำวันของผู้คนได้ เพราะวิธีคิด ความปรารถนา หรือแม้กระทั่งความขัดแย้งในตัวตนของผู้คนเองก็ได้รับอิทธิพลจากสถาบันและกลุ่มทางสังคมอยู่ตลอดเวลา


podcast: HND! โดยนิ้วกลม ตอน “รักสมัยใหม่’ ทุนนิยม เทคโนโลยี เปลี่ยนวิธีรักของเรา?