สนาม

คำและความหมายของ “สนาม” (field) มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อย่างน่าสนใจพิจารณา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ถือกำเนิดและตั้งอยู่ที่ตำบลท่าพระจันทร์ อำเภอพระนคร ข้างสนามหลวง (เดิมเรียกว่าทุ่งพระเมรุ) ก่อนที่จะขยายมาอยู่ทุ่งรังสิต

ในทางพื้นที่ ความหมายของ “สนาม” หมายถึง พื้นที่สาธารณะโล่งกว้างกลางเมือง (สัพะ พะจะนะ พาสาไท, 2397) หรือหมายถึง ลาน, ลานหญ้า, ที่ว่าง, ที่เล่น, ที่รบ, ที่ประชุม (พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิต, 2493) ในทางมานุษยวิทยาและสังคมวิทยา การลง “ภาคสนาม” (fieldwork) ไม่ใช่เป็นแค่ประสบการณ์แปลกๆ ที่ได้พานพบ หากแต่เป็นทั้งวิธีทำงานและเป็นที่มาแห่งความรู้ กล่าวกันว่า การลงภาคสนามทำให้ได้ “เกิดใหม่เป็นครั้งที่สอง”

ในภาษาอังกฤษ “field” หมายถึง พื้นที่เปิด ที่โล่งกว้าง อาจใช้เป็นที่ปลูกพืชหรือทุ่งเลี้ยงสัตว์ หรือหมายถึงความสนใจเฉพาะในทางใดทางหนึ่ง

ในทางสังคมวิทยา มโนทัศน์เกี่ยวกับ field / champ (fr.) ของปิแอร์ บูร์ดิเยอ (Pierre Bourdieu, 1930-2002) หมายถึง สนาม, สนามประลองหรือ วงการ (ตามการบัญญัติคำของ รศ.นพพร ประชากุล) สื่อถึงโครงสร้าง / พื้นที่ทางสังคมที่มีการประชันขันแข่งกันด้วยความรู้ รสนิยม หรือวัฒนธรรมระหว่างคนกลุ่มต่างๆ ในสังคม โดยการแสดงออกผ่านการปฏิบัติในรูปแบบต่างๆ ตัวอย่างเช่นในวงการบันเทิง วงการไฮโซ วงการการเมือง หรือแม้แต่ในวงการวิชาการ ตามความหมายดังกล่าวนี้ “สังคม” ที่เรามีชีวิตอยู่ จึงเป็นพื้นที่ของการซ้อนทับกันของ “สนาม” ในแบบต่างๆ ที่รอให้นักมานุษยวิทยา นักสังคมวิทยา และผู้สนใจปรากฏการณ์ทางสังคมได้ศึกษาเรียนรู้ สยบยอม เปลี่ยนแปลงหรือพยายามทำความเข้าใจ

“สนาม” จึงเป็นพื้นที่สาธารณะอันเป็นที่มาแห่งความรู้ ที่ประสงค์จะเชื้อเชิญให้ผู้อ่านเข้ามามีส่วนร่วมสัมผัสในความหลากหลายของสังคม มองเห็นความซับซ้อนของอำนาจที่ไหลเวียนอยู่รายรอบ และขณะเดียวกันก็ซึมซับอากาศบริสุทธิ์ของความโล่งกว้างทางปัญญา และความหวังที่สาขาวิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาปรารถนาจะมอบไว้ให้กับโลก

สุดแดน วิสุทธิลักษณ์

สนาม คือจดหมายข่าวของคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่มุ่งหมายเป็นสื่อกลางข่าวสารระหว่างบุคลากรของคณะฯ กับศิษย์เก่า ศิษย์ปัจจุบัน และเครือข่ายในสาขาวิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาไทย

สนาม นอกจากจะแสดงตัวตนทางวิชาการของคณะฯ แล้ว ยังคาดหวังที่จะมีส่วนช่วยเผยแพร่องค์ความรู้ทางสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ให้เป็นที่รู้จักและเข้าใจเพิ่มมากขึ้นในวงกว้าง

สนาม จัดพิมพ์เผยแพร่ปีละ 2 ฉบับ ทั้งเป็นรูปเล่มแจกจ่ายให้กับเครือข่ายสังคมวิทยา-มานุษยวิทยา และเป็นจดหมายข่าวออนไลน์สำหรับผู้สนใจทั่วไป


สนาม ปีที่ 1 ฉบับที่ 1 (กุมภาพันธ์-กรกฎาคม 2555)

สนาม+ เป็นโครงการขยายพื้นที่ทางวิชาการ
ของคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา 
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ออกไปนอก สนาม — 
จดหมายข่าวฉบับพิมพ์ ของคณะ ฯ

สนาม+ เป็นพื้นที่แสดงตัวตนและความสนใจ
ทางวิชาการของนักศึกษา 
ทั้งระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และ ปริญญาเอก ผลงานบางส่วนที่ปรากฏในที่นี้แสดงให้เห็นถึง
ศักยภาพและทิศทางความสนใจทางวิชาการ
ที่กำลังเริ่มก่อตัวขึ้นของนักศึกษารุ่นปัจจุบัน

สนาม+ จะเป็นหนึ่งในเวทีแรกๆ ของพวกเขา/เธอ 
ต่อหน้าประชาคมวิชาการของไทย

อ่านผลงานในโครงการ สนาม+ ได้ ที่นี่



Creative Commons License

สนาม and สนาม+ by คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivs 3.0 Unported License.